4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.-สสจ.น่าน ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัย พัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่ห่างไกลอย่างมีส่วนร่วม สู่การใช้ประโยชน์ได้จริง-ยั่งยืน

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมหารือการพัฒนางานวิจัยในพื้นที่ และการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน (สสจ.น่าน) ภายใต้บันทึกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายประชาคมสุขภาพจังหวัดน่าน ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนเมืองน่านได้มีสุขภาพที่ดี โดยดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ระดับพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาความรู้ให้เกิดการใช้ประโยชน์ และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย นายธีรธัช กันตามระ ผู้จัดการสำนักนโยบายและแผน ร่วมหารือเพื่อทบทวนและวางแผนทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในปี 2564 รวมทั้งได้ร่วมเวทีคืนข้อมูลการวิจัยและรับฟังข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนและขยายผลสุขศาลาพระราชทานจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย. 2563 ณ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สวรส. กล่าวว่า สวรส.มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ความรู้ หรือข้อเท็จจริงในพื้นที่ไปนำเสนอให้กับภาคนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักคิดสำคัญคือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ควรวางอยู่บนฐานความรู้และข้อเท็จจริง ซึ่งจังหวัดน่านเป็นพื้นที่ที่มีประชากรน้อย แต่หลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นจึงอาจต้องหารูปแบบการจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบความต้องการหรือเกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และมากไปกว่านั้นคือ การสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่อื่นๆ ที่มีสภาพพื้นที่หรือปัญหาที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่นงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องสุขศาลาพระราชทาน อาจนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่อยู่ห่างไกล เช่น แม่ฮ่องสอน สุราษฎร์ธานี ฯลฯ เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ซึ่ง สวรส.จะเป็นตัวกลางในการนำข้อเสนอจากงานวิจัย ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันให้เกิดการขยายต่อและใช้ประโยชน์ ซึ่งหลังจากทบทวนความร่วมมือและวางแผนร่วมกัน นอกจาก สวรส. จะสนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่แล้ว ยังมีแผนการสนับสนุนทางวิชาการด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การจัดประชุมวิชาการ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ การพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในหลากหลายมิติ และคาดหวังที่จะเห็นผลจากความร่วมมือกันที่สามารถเกิดประโยชน์ได้จริงในอนาคต

          ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส. และ สสจ.น่าน มีการทำงานร่วมกันมาตลอด ทั้งการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เช่น การอบรมหลักสูตร Narrative Research การสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ความปลอดภัยทางถนน สุขศาลาพระราชทาน ซึ่งถือเป็นการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัยหน้าใหม่ รวมทั้งเครือข่ายนักวิจัย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และมีการพัฒนานักวิจัยไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ในอนาคตความร่วมมือดังกล่าว คงไม่ใช่เพียงแค่สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเท่านั้น แต่จะมีการประเมินผลลัพธ์ของงานวิจัยด้วยว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมทั้งการขยายให้เห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน ซึ่งการประเมินผลและการนำไปใช้ประโยชน์จะเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการสนับสนุนทุนวิจัยระยะต่อไป โดย สวรส. จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนองานวิจัยให้คมชัดมากยิ่งขึ้น ภายใต้การหารูปแบบใหม่ๆ ในการวิจัย เช่น การพัฒนาการเก็บข้อมูล โดยชุมชนสามารถช่วยเก็บข้อมูลได้ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเก็บข้อมูล หรือการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ เพื่อให้การทำวิจัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนับเป็นความท้าทายใหม่ที่ สวรส. และ สสจ.น่านต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยและการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

          ทั้งนี้งานวิจัยเรื่องการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน แบบมีส่วนร่วมบนฐานของชุมชน ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ จ.น่าน เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ สวรส. สนับสนุนให้นักวิจัยในพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาสุขศาลาพระราชทานฯ ทั้งด้านแนวคิดการพัฒนา การบริหารจัดการ กระบวนการพัฒนา และผลลัพธ์ของการพัฒนา รวมทั้งศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ซึ่งเก็บข้อมูลสุขศาลาพระราชทาน ทั้งหมด 3 แห่ง 1) สุขศาลาฯ บ้านห้วยปูด 2) สุขศาลาฯ บ้านสะไล 3) สุขศาลาฯ บ้านป่าก๋ำ โดยบทบาทของสุขศาลาฯ ในพื้นที่ห่างไกลมี 3 ด้านหลักๆ คือ 1.ด้านการรักษาพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการส่งต่อผู้ป่วย 2.ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค 3.ด้านการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการจัดการสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน  ซึ่งในเวทีคืนข้อมูลการวิจัยและรับฟังข้อเสนอแนะฯ เพื่อการขับเคลื่อนและขยายผลสุขศาลาพระราชทานฯ มีการสะท้อนข้อมูลจากงานวิจัย โดยพบว่า กระบวนการพัฒนาสุขศาลาฯ ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ บริบทพื้นที่ แนวคิดกรอบการทำงานสุขศาลา ความรู้ด้านการบริการสาธารณสุขและมิติอื่นๆ งบประมาณ เทคโนโลยี คณะทำงาน แล้วจึงเชื่อมสู่กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาสุขศาลาฯ เกิดเป็นผลผลิตที่ส่งผลสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น มีบุคลากรประจำ ให้บริการด้านสุขภาพ 24 ชั่วโมง เกิดกลไกสนับสนุนการดำเนินงานสุขศาลาฯ และการบูรณาการความร่วมมือ มีกองทุนและการระดมทุน มีข้อมูลด้านสุขภาพของชุมชน รวมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆ เกิดเป็นระบบบริการสุขภาพชุมชนที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน ซึ่งในเวทีได้มีการระดมความคิดเห็นต่อการพัฒนาสุขศาลาฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพ โดยแบ่งเป็นประเด็น 1.อาหารการกิน 2.น้ำกินน้ำใช้ 3.การเจ็บไข้ได้ป่วย (ระบบการส่งต่อ) 4.บ้านสะอาดปลอดภัย 5.บริการสุขศาลา และมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที อาทิ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐอื่น ภาคเอกชน ฯลฯ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปข้อมูลและจัดทำเป็นข้อเสนอจากงานวิจัยต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้