4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

3กองทุน"ยาราคาเดียว นำร่อง 7 กลุ่มยาแพง-หวังลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มสูงถึง 111% - กรุงเทพธุรกิจ

          

อธิบดีกรมบัญชีกลางยันสิทธิข้าราชการไม่ลดลงแค่จัดราคายาให้เหมาะสม

          3 กองทุนสุขภาพผนึกกำหนดราคากลาง ยา-เครื่องมือแพทย นำร่องรายการยา 7 กลุ่มรักษาโรคเฉพาะ หวังลดงบค่ายาหลังพุ่งสูง 111% ตั้ง คกก.ร่วม 3 กองทุนเพื่อต่อรองบริษัทลดราคา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยันสิทธิข้าราชการยังเหมือนเดิม แค่จัดทำราคายาในระดับที่เหมาะสม เตรียมนำข้อมูลราคากลางขึ้นเว็บไซต์ชี้ รพ.เบิกเกินส่ง สตง.ตรวจสอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพโดยร่วมกันกำหนดราคากลาง ยา-เครื่องมือแพทย์ ให้เป็นราคาเดียวเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

          นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) ได้ลงนามความร่วมมือจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม 3 กองทุน
          นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและภาครัฐใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสมโดยการกำหนดราคากลางดังกล่าวได้จัดตั้งคณะดำเนินการร่วม 3 กองทุนในการจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม


          นพ.วินัย กล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแทนประชาชน โดยระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการข้าราชการ รัฐบาลจ่ายให้ 100% ขณะที่ระบบประกันสังคม รัฐบาลจ่ายเพียง 1 ใน 3 เมื่อรวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมดจะอยู่ที่ 13-14% ของงบประมาณ หรือคิดเป็น 4.3-4.4% ของจีดีพี
          อย่างไรก็ตามนักวิชาการประเมินว่า หากกองทุนทั้ง 3 ระบบไม่มีการพัฒนาร่วมกันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย อีก 10 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประเทศจะพุ่งไปอยู่ที่ 5.5-5.6% ของจีดีพี นั่นหมายถึงเงินจำนวนมากที่รัฐบาลต้องเพิ่มอีก สิ่งที่น่าสนใจขณะนี้คือ อัตราการเติบโตของรายจ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีประเทศอยู่มาก

          เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2546 และปี 2553 จีดีพีประเทศโตประมาณ 5.8% แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพพุ่งสูงไปอยู่ที่ 9.8% ทั้งนี้เฉพาะค่ายาเพิ่มสูงถึง 111% จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องหาทางควบคุมเพื่อไม่ให้เป็นปัญหางบประมาณของประเทศในอนาคต


ใช้ราคายากลางคุมค่ายา
          นพ.วินัย กล่าวต่อว่า จากปัญหาข้างต้น ทำให้ทั้ง 3 กองทุนต้องหันมาดูว่า จะมีกลไกจัดการอย่างไร เพื่อร่วมกันควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งการจัดทำราคากลางของยาและเครื่องมือแพทย์ถือเป็นหนทางหนึ่ง โดยกำหนดการจ่ายเงินที่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ วิธีการของแต่ละหน่วยงาน โดยจะมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนของทั้ง 4 หน่วยงานข้างต้น ร่วมถึงผู้แทนของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาพส่วนร่วมกันพิจารณา
          เบื้องต้นจะเริ่มต้นในกลุ่มยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มยาราคาแพง หรือที่เรียกว่า บัญชี ยา จ (2) มีอยู่ประมาณ 7 รายการ และจะขยายต่อไปยังเครื่องมือแพทย์ อย่างเช่น ข้อเข่าเทียม และสเต็นท์อุปกรณ์สายสวนหัวใจ ซึ่งหาก 3 กองทุนร่วมกันเจรจาต่อรอง มั่นใจว่าจะทำให้ค่ายาและค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์มีราคาที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าในปัจจุบัน และจะส่งผลดีต่องบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในอนาคต

ยืนยันสิทธิข้าราชการไม่ลดลง

          นายรังสรรค์ กล่าวว่า การจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ไม่ได้เป็นการลดสิทธิข้าราชการ ซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นการทำเพื่อลดราคาให้เหมาะสมมากกว่า โดยดูข้อเท็จจริงว่า ค่าใช้จ่ายอะไรที่ระบบสวัสดิการข้าราชการต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง อย่างกรณีของสายสวนหัวใจ สปสช.จัดซื้อเพียงแค่ 10,000 บาทเท่านั้น แต่ระบบสวัสดิการข้าราชการมีการเบิกจ่ายสูงถึง 40,000 บาท ซึ่งสูงกว่าหลายเท่า รวมทั้งยา Immunoglobulin G (IVIG) ที่อยู่ในบัญชียา จ (2) ในการรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซากิ โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิดชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน (เป็นโรคทางพันธุกรรม) ซึ่ง สปสช.จัดซื้อได้ในราคา 4,000 บาท แต่มีการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางในราคา 12,000 บาท

          นอกจากนี้ยังมีอวัยวะเทียมอื่นๆ อย่างข้อเข่า ประสาทหูเทียม เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีราคากลางเพื่อใช้ในการเบิกจ่ายที่เหมาะสม โดยราคากลางนี้จะประกาศในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ในกรณีที่ต้องการใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ที่เกินจากราคากลางกำหนดคงต้องจ่ายเพิ่ม ยืนยันไม่ได้เป็นการตัดสิทธิข้าราชการและประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลยังคงเท่าเดิม
         

ประกาศราคากลางบนเว็บไซต์
          นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า หลัง 3 กองทุนเห็นชอบราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ร่วมกันแล้ว จะมีการประกาศข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งต่อไปหากโรงพยาบาลใดจะซื้อยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องไม่เกินราคากลางที่กำหนดนี้ อย่างไรก็ตามการกำหนดราคากลางนี้จะต้องหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เช่น ทางราชวิทยาลัยต่างๆ และสมาคมยา โดยราคากลางที่กำหนดอาจสูงกว่าที่ทาง สปสช.จัดซื้ออยู่ในขณะนี้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้เป็นราคากลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ที่สำคัญยาและเครื่องมือแพทย์จะต้องมีคุณภาพ
          ทั้งนี้หลังประกาศราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์รายการใดแล้ว หากโรงพยาบาลใดยังจัดซื้อในราคาแพงเกินกว่านั้น จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการต่อไป หลายโรงพยาบาลที่ซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ในราคาแพงอยู่ เนื่องจากมีเซลส์ขายยาคอยวิ่งไปหาหมอ มีค่าใช้จ่ายทั้งคอมมิชชั่น ค่าส่งเสริมการขาย แต่ถ้ามีการประกาศราคากลางออกไปทางเซลส์ก็ไม่ต้องวิ่งไปหาหมอ ตรงนี้เป็นความฝันที่อยากให้เกิดขึ้น อย่างสเต็นท์ราคาก็ลดลงอย่างมาก แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการข้าราชการคงลดลง

          นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเมื่อให้ข้าราชการใช้ยาในราคาเดียวกับสิทธิอื่นๆ ก็อาจจะไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านอื่นให้เช่น ค่าห้อง ส่วนราคาที่ สปสช.จัดซื้ออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
          เขาบอกอีกว่า ปีที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขสุ่มตรวจเวชระเบียนโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 40 แห่ง พบว่า สามารถเรียกเงินคืนได้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกรณีผู้ป่วยนอก เช่น แพทย์มีการจ่ายยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้

คุม 7 กลุ่มยาโรคราคาแพง
          ส่วนข้อมูลยาในบัญชี จ (2) ที่จะใช้เป็นยาราคากลาง ได้แก่ 1.ยา Letrozole ยารักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย 2.ยา Immunoglobulin G (IVIG) ใช้ในการรักษาโรคยากๆ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซากิ โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน (เป็นโรคทางพันธุกรรม) 3.Docetaxel ใช้รักษามะเร็งปอดระยะลุกลาม ชนิด non small cell และมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย 4.Botulinum toxin type A รักษาโรคคอบิด โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก 5.Leuprorelin ใช้รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก 6.Liposomal amphothericin B รักษาอาการติดเชื้อราอย่างรุนแรง และ 7.Verteporfin ยารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้