4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ทาง2แพร่ง'เมดิคัลฮับ' เม็ดเงินมหาศาล-สุขภาพชุมชนถดถอย - โพสต์ทูเดย์

"สุขภาพและความเจ็บป่วย ต้องไม่ใช่สินค้าเพื่อแสวงหากำไร หลักการนี้เป็นหลักสากล แต่กำลังเลอะเลือนเพราะระบบทุนนิยมสามานย์" ภาพความจริงจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ชมรมแพทย์ชนบท ต่อความเป็นไปในวงการสาธารณสุขระยะใกล้นี้

          เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเดินหน้าโครงการการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัล ฮับ

          หลักการและเหตุผล ชัดเจนยิ่งเมื่อเทียบเคียงจากการไหลของเม็ดเงินมหาศาลกว่า 6.6 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นรายได้ที่ประเทศไทยได้รับจากการให้บริการรักษาพยาบาลปี 2552 และปี 2551 มีชาวต่างชาติเข้ารับบริการ 1.36 ล้านคน จำนวนนี้เป็นชาวยุโรปถึง 20% นั่นสะท้อนว่าไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเรื่องบริการทางการแพทย์

          แนวคิดโครงการ เมดิคัล ฮับ จึงปรากฏ ... และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกเมื่อปี2545 ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยหลักคิดดึงเงินจากต่างชาติเข้าประเทศผ่านการขายบริการรักษาพยาบาล
          ปัจจุบันการดำเนินโครงการอยู่ในเฟส 2 (2553-2557) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะเจ้าภาพทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้จัดทำร่างเฟส 2 เสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยมีเป้าดึงผู้รับบริการต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน เม็ดเงินเข้าประเทศ 5 ปี กว่า 4 แสนล้านบาท
          ในปี 2555 นี้ การลงทุนเพื่อรองรับนโยบายเมดิคัลฮับ เกิดขึ้นและขยายออกเป็นวงกว้าง ธุรกิจโรงพยาบาลต่างพากันปรับตัวให้พร้อมสำหรับกอบโกย-ฉวยชิ้นปลามัน

          นำร่องที่ภาคกลาง ศิริราชพยาบาล เปิดตัวโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นเมดิคัลฮับแห่งแรง ด้วยงบลงทุนร่วม 7,000 ล้านบาท ในขณะที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์รมช.สาธารณสุข (สธ.) เตรียมของบประมาณจาก ครม.ประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งโรงพยาบาลเมดิคัลฮับ ที่ภาคอีสาน

          นอกจากนี้ ยังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบผลักดันเมดิคัลฮับอีก 2 ภาคคือ ภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งสิ้น 4 ภาคทั่วไทย
          เกิดเป็นคำถาม ... "เมดิคัล ฮับ" มีแต่ด้านบวก และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนชาวไทยจริงหรือ
          อีกคำถามที่ซ้อนทับ การปรับตัวของโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีภารกิจสร้างแพทย์ให้แผ่นดิน ด้วยการเปิดโรงพยาบาลเอกชนคือสิ่งที่ถูกต้องจริงหรือ ?
          "การที่ ครม.อนุมัติให้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยแพทย์เชียงใหม่เป็นเมดิคัลฮับ และเตรียมให้การสนับสนุนขอนแก่นและอีกทุกภาค ซึ่งต้องจ่ายเงินอีกเป็นหมื่นล้านเพียงเพื่อหวังให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการคุณภาพดี ราคาถูกในประเทศไทย เพิ่มรายได้ให้ประเทศเป็นสิ่งที่ดี
          "แต่จริงๆ แล้วต่างชาติเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยปีละกว่า 2 ล้านคนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แต่ต่อไปนี้ต่างชาติเหล่านั้นจะมาใช้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่เป็นเมดิคัลฮับเพิ่มขึ้นด้วย แพทย์เราไม่พออยู่แล้ว คงขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ใครจะรับผิดชอบชีวิตคนจนในชนบท" คือคำถามจาก นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข

          นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า เมดิคัล ฮับ มีผลกระทบชัดเจนต่อชุมชนและชนบท เพราะแพทย์และพยาบาลจากท้องถิ่นจะถูกดึงไปให้บริการคนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร เกิดภาวะสมองไหล
          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคนบอกว่าเมดิคัลฮับ ใช้เฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. จึงไม่กระทบแพทย์ตามชนบทหรือโรงพยาบาลชุมชนซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ นั่นเป็นการมองปัญหาแบบตัดตอน ยืนยันว่าเมดิคัล ฮับจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นระหว่างเมืองกับชนบท ถ่างช่องว่างให้เกิดขึ้นระหว่างส่วนกลางกับชุมชน ซึ่งหากมีการส่งเสริมการลงทุนด้านบริการทางการแพทย์จริง ยิ่งทำให้กระทบต่อระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

          ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า เมดิคัลฮับสร้างปัญหาการดึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์สู่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นเรื่อยโดยปี 2545-2547 มีอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งลาออกรวมกันถึง350 ราย และในช่วงปี 2548-2552 มีอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ 5 แห่งลาออกรวมกันถึง 181 ราย ส่วนใหญ่ลาออกไปอยู่กับภาคเอกชน ขณะที่การสร้างอาจารย์แพทย์แต่ละคนจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
          กรรณิการ์ เห็นว่า มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐควรนำไปใช้คือเก็บภาษีจากชาวต่างชาติซึ่งเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยสอดคล้องกับที่ นพ.ประเวศ วะสีราษฎรอาวุโส เคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทุกฝ่ายต้องกลับมาดูเรื่องความเป็นธรรมให้กับคนจน โดยหากประเทศไทยเป็นเมดิคัล ฮับ จริงอาจให้มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการในโครงการเมดิคัล ฮับและชาวต่างชาติที่มารับการรักษา เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาจัดทำเป็นงบประมาน สำหรับสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
          สำหรับการปรับตัวของโรงเรียนแพทย์ กรรณิการ์ มองว่า ต้องอธิบายต่อสังคมให้ชัดเจนว่าพันธกิจของมหาวิทยาลัยต่อแผ่นดิน โดยเฉพาะการผลิตแพทย์เพื่อชนบทจะด้อยคุณภาพลงหรือไม่ และโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นจะเป็นตัวสร้างปัญหาเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆอีกหรือไม่

          นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มองกรณีโรงเรียนแพทย์เปิดเมดิคัล ฮับว่า หากมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยรวมถือเป็นเรื่องที่ดีแต่หากทิศทางเป็นไปเพื่อหารายได้ คงไม่ถูกทิศถูกทางนัก เพราะจะกลายเป็นการเน้นสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว
          "ปัญหามันจะเกิดเป็นลูกโซ่ คือโรงเรียนแพทย์ดึงบุคลากรจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ดึงจากโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไล่ลงมาถึงชุมชน ท้ายที่สุดชนบทก็ขาดแคลนแพทย์ ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้" นพ.อำพล ระบุ
          อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าข้อมูลจากคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นนโยบายศูนย์กลางสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่ามีชาวต่างชาติเพียง 27% หรือ 1 ใน 3 ของชาวต่างชาติทั้งหมดที่ตั้งใจเดินทางมาใช้บริการสาธารณสุขในไทย ส่วนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอยู่แล้ว

          คำถามคือ เมดิคัลฮับ สร้างรายได้และนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลได้จริงหรือ?
          ที่สำคัญมันคุ้มค่าแล้วใช่หรือไม่ กับการแลกมาซึ่งคุณภาพชีวิตของชนบทซึ่งอยู่บนความเสี่ยง
         
สมัชชาสุขภาพจี้ศึกษาผลกระทบ
          เมื่อปี 2553 เมดิคัลฮับ เป็นประเด็นร้อนในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยขณะนั้นที่ประชุมมีมติที่น่าสนใจและสามารถจับต้องเป็นรูปธรรมได้ ทว่าภาครัฐกลับให้ความสำคัญน้อยเต็มที
          สำหรับมติสมัชชาสุขภาพที่สำคัญ อาทิ
          1.ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลเพื่อศึกษาในประเด็นทั้งด้านบวกและด้านลบของเมดิคัลฮับ และความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านลบ

          2.ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาดำเนินการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ข้อ 51 โดยไม่พึงให้การสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ

          3.ให้โรงพยาบาลรัฐ รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ ตระหนักถึงพันธกิจหลักในการศึกษา การวิจัย การบริการสุขภาพเพื่อประชาชนไทยโดยให้ส่งเสริมการเป็นเมดิคัลฮับด้านวิชาการเท่านั้น โดยโรงพยาบาลภาครัฐ และโรงเรียนแพทย์ต้องจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับระบบสาธารณสุขไทย สร้างหลักประกันการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพของประชาชนไทย

          4.ให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่มีศักยภาพในการจัดการข้อมูลและให้ความรู้แก่ประชาชนไทย เกี่ยวกับคุณภาพการบริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข เพื่อป้องกันผลกระทบจากธุรกิจการแพทย์ และลดผลกระทบด้านลบ

          5.ให้คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหลัก จัดทำแผนการผลิตการจัดการและมาตรการธำรงรักษาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เหมาะสมเพื่อทดแทนการสูญเสียบุคลากรจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 หน้า 8

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้