4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 63 : สวรส.เปิดเวทีโชว์วิจัยแก้วิกฤตโควิด กับการขับเคลื่อนสู่นโยบาย พร้อมมาตรการที่เหมาะสม ลดช่องว่างของสังคมไทย

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนงานวิจัยสำคัญที่ดำเนินการตอบสนองการแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งผลงานวิจัยและข้อเสนอต่างๆ ได้ถูกนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในช่วงที่ผ่านมา และข้อเสนอจากงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบมาตรการทางสังคม ตลอดจนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำไปใช้ในการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดของไวรัสโคโรนาในอนาคต ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

          โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของ สวรส. ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ไปกว่า 30 โครงการ ด้วยงบประมาณ 103 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดย ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้แบบจำลองสถานการณ์เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามผลกระทบของนโยบายอย่างต่อเนื่อง และลดข้อจำกัดของการคิดแบบแยกส่วน โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบในมุมมองต่างๆ ที่หลากหลาย การพัฒนาเกณฑ์ในการยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ภายใต้กลไกที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสังคม ชุมชน ตลอดจนพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายและทดสอบผลลัพธ์ของทางเลือกเพื่อเพิ่มสมรรถนะของระบบสุขภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในกรณีเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกสองในประเทศไทย รวมทั้งวางแผนรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่มีลักษณะคล้ายกันในอนาคต  งานวิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยเส้นทางชีวิตและกิจกรรมร่วมของครัวเรือนภายใต้สถานการณ์โควิด 19  โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาพฤติกรรมกลุ่มคนในเขตเมือง กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนในชนบท และกลุ่มคนในเขตชายแดน ซึ่งพบว่าคนแต่ละกลุ่ม มีความพยายามปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในที่สาธารณะไม่แตกต่างกัน แต่มีความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวในบ้านแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพ เศรษฐานะของแต่ละครอบครัว คนที่มีรายได้น้อยต้องยอมเสี่ยงต่อการติดโรค เนื่องจากมีความจำเป็นเรื่องการหารายได้ ดังนั้นมาตรการทางการคลังในการช่วยเหลือรายได้ของคนกลุ่มที่มีรายได้น้อย จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา และจากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่า หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับใด ควรล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่นั้นที่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ส่วนมาตรการต่างๆ ควรมีการสื่อสารให้ชัดเจนตั้งแต่แรกผ่านผู้มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น แม่ รวมถึงไม่สร้างความกังวลและความกลัว เพราะจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อถูกตีตราจากการรังเกียจของสังคม นอกจากนี้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มีค่อนข้างมาก เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มคลี่คลาย ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจในระดับฐานรากจะเข้ามามีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้น รวมถึงเรื่องอาหารสุขภาพและวัฒนธรรมชุมชน เนื่องจากคนส่วนหนึ่งจะต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นงานที่เหมาะสมและมีรายได้ที่เพียงพอจึงเป็นประเด็นพัฒนาที่สำคัญในระยะต่อไป  ส่วน ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงงานวิจัย การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย ซึ่งนักวิจัยได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุขควรมีศักยภาพในการตรวจ Lab ให้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีห้อง Lab จำนวน 216 แห่งกระจายทั่วประเทศ และเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ต้องหาให้ได้ว่า ใครเป็นผู้สัมผัส ใครเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ และมีระบบ Home quarantine สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้าน , Local quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัด ให้กักตัวอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด , State quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดพื้นที่กักตัวให้ และ Alternate state quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ยินยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง ให้กักตัวในสถานที่ทางเลือกต่างๆ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ควรให้สิทธิ์รักษาฟรีทั้งหมด และนอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยที่ช่วยในการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากวัคซีนป้องกันโรค เป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นวัคซีนทางสังคมจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการป้องกันโรคด้วยตนเอง เช่น การรักษาระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การใช้ช้อนส่วนตัว การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ และหากมีการเปิดประเทศ ควรจัดทำระบบติดตามในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้งานที่จังหวัดปัตตานี โดยความร่วมมือของบริษัท True ในชื่อว่า THAILAND-CARE ซึ่งพบว่า ระบบติดตามต้องทำงานควบคู่กับระบบปฏิบัติการที่มีการออกกฎ ข้อบังคับที่เข้มข้นและชัดเจน 

          นอกจากนี้ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. สรุปทิ้งท้ายในเวทีดังกล่าวว่า นโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การปฏิบัติ ต้องวางอยู่บนรากฐานองค์ความรู้และเหตุผลที่มาจากการสำรวจและศึกษาข้อมูลโดยการทำวิจัย ซึ่ง สวรส.เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ในระบบสุขภาพ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ดังกล่าว ถือเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปิดจุดอ่อนของระบบได้ เช่น เงื่อนไขการเปิดเมืองโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม การมีมาตรการรองรับเพื่อสกัดการระบาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจัดระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างมาตรทางสาธารณสุขกับมาตรการทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมิใช่เงื่อนไขของการตั้งเป้าผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ แต่ยอมให้มีผู้ติดเชื้อได้จำนวนหนึ่ง โดยมีระบบการติดตามตัวผู้ติดเชื้อที่ชัดเจน และมีการดำเนินการเปิดเมืองเป็นขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง หรือเข้มงวดในเงื่อนไขต่างๆ โดยไม่ให้มีข้อยกเว้น เป็นต้น

          ทั้งนี้นอกจากนั้น สวรส. ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเด่นในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ในโซนนิทรรศการ จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1) รองเท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน 2) แอปพลิเคชันภาพถ่ายผิวหนัง ตัวช่วยคัดกรองภาวะการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการรั่วของยาหรือสารน้ำ 3) เครื่องเป่าลมหายใจ ติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยเบาหวาน 4) โถปัสสาวะเคลื่อนที่เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ป่วยจิตเวชชาย 5) ชุดตรวจภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 6) ชุดตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงระบบอีก 2 ผลงาน ได้แก่ 1) การวิจัยแบบจำลองนโยบายเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย 2) การประเมินผลโครงการรับยาที่ร้านยา รวมทั้งเวทีสร้างสีสันในประเด็นการพัฒนาระบบยาและการจัดซื้อยารวม ตลอดจนการเปิดตัวหนังสือ “ระบบยาของประเทศไทย 2563” ที่จัดทำขึ้นเพื่อการพัฒนาระบบยาของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้