ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” ครั้งที่ 11 โดย พญ. วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า สสพ. ซึ่งเป็นสถาบันความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงละครแห่งชาติ จะเป็นการเปิดเวทีให้คนพิการได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถด้านดนตรีออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังได้สร้างการเรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการในการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม ทั้งในสังคมไทยและสังคมเอเชีย-แปซิฟิกอีกด้วย
“กิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมตัวสู่การเป็นสังคมโลกแห่งการอยู่ร่วมกัน (Inclusive world) ที่เริ่มต้นและขับเคลื่อนโดยคนพิการซึ่ง สสพ. สสส. และ สวรส. มีความภูมิใจที่จะได้นำเสนอผลงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการในงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ เพื่อสร้างความสุขควบคู่ไปกับการเรียนรู้ถึงคุณค่าของทั้งดนตรีและคุณค่ามนุษย์ทุกคน” ผู้อำนวยการ สสพ. กล่าว
ด้าน ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวถึงความเป็นมาของเครือข่ายวาตาโบชิว่า ก่อตั้งขึ้นโดย คุณฮาริมะ ยาสุโอะ อดีตนักข่าวที่ต้องการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนพิการในประเทศญี่ปุ่นที่มีเป็นจำนวนมาก ได้เปรียบคนพิการเหมือนปุยเกสรของดอก Dandelion (หรือ “ทันโปโป” ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งเรียกว่า “วาตาโบชิ” เมื่อปลิวไปตกที่ใดก็จะเติบโต งอกงาม สร้างความงดงามแก่ผืนแผ่นดินได้ ต่อมาในปี 2534 สิงคโปร์ได้จัดงานมหกรรมดนตรีวาตาโบชิเอเชีย (Asia Wataboshi Music Festival) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเมืองต่างๆ ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทุก ๆ 2 ปี และขยายกว้างออกไปจนเกิดเป็น "มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก"
“ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนคนพิการเข้าร่วมตั้งแต่ครั้งแรกโดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) และเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งที่ 4 ในปี 2540 จนกระทั่งได้สนับสนุนให้เกิด "เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ" ขึ้นในปี 2549 เพื่อเป็นตัวแทนขับเคลื่อนและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่คนพิการที่รักในงานศิลปะและดนตรีในประเทศไทย ในปีนี้มีเมืองสมาชิกวาตาโบชิต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมงานกว่า 10 เมือง ได้แก่ บริสเบน, โฮ จิ มินห์, ฮ่องกง, จาการ์ตา, โจโฮ บาห์รู, เกาเซียง, มะนิลา, นารา, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์, ซูวอนและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังมีแขกรับเชิญพิเศษจากสหรัฐอเมริกาด้วย” ดร.ชัยณรงค์กล่าว
รศ. จารุณี หงส์จารุ ผู้อำนวยการด้านดนตรี (Music Director) ของมหกรรมดนตรีฯ กล่าวว่า งานวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าร่วมงานจะอิ่มเอมกับการถ่ายทอดบทเพลงที่คนพิการประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศแต่งขึ้น ไฮไลท์ของงานเป็นการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” หรือ “Smile” โดยคนพิการจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิกและคนพิการไทย เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ นอกจากนี้ยังมีการแสดงพิเศษที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินที่พิการและไม่พิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก เช่น การประชันแซ็กโซโฟนระหว่างคนพิการไทยและสหรัฐอเมริกา การเล่นพิณแก้ว การแสดงดนตรีอีสานจากคนพิการ จ. ขอนแก่น การแสดงของศิลปินรับเชิญพิเศษโดยคุณกุ้ง สุทธิราชและแคต รัตตกาล ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ของงานครั้งนี้ และที่สำคัญ การแสดงของคุณพรภควา กำเนิดคำ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนพิการไทยของเราที่จะร่วมแสดงและถ่ายทอดบทเพลงร่วมกับประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ด้วย
ด้าน คุณแหม่ม พัชริดา วัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดบทเพลงของคนพิการ กล่าวถึงการคัดเลือกตัวแทนคนพิการไทยที่เข้าร่วมมหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ว่า เกณฑ์การตัดสินในครั้งนี้มีความท้าทายเพราะจะต้องแต่งเพลงให้เข้ากับหัวข้อการจัดงานคือ “ยิ้มสู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” ที่สำคัญต้องไม่ตอกย้ำความพิการว่าเป็นความโชคร้าย ตนเองรู้สึกประทับใจเพลง “สัมพันธภาพแห่งรอยยิ้ม” ของคุณพรภควา กำเนิดคำ จาก จ. ชัยภูมิ ที่ชนะเลิศการประกวดตั้งแต่ฟังครั้งแรก อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแตกแยกทางความคิดและไม่พยายามที่จะหันหน้าเข้าหากัน เพลงนี้ได้พูดถึงรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ของคนไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะช่วยเชื่อมประสานความแตกร้าวทางความคิดจิตใจต่างๆ เป็นด่านแรกที่จะเชื้อเชิญทุกคนให้มาอยู่ร่วมกัน รับฟังและเข้าใจกัน บวกกับสำเนียงแบบไทยๆ ทำให้คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า เพลงนี้นอกจากจะมีความสละสลวยในด้านภาษาและมีเนื้อหาตรงกับโจทย์แล้ว ยังนำเสนอความเป็นไทยต่อแขกบ้านแขกเมืองได้เป็นอย่างดี
ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมชม “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11” ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงละครแห่งชาติ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท ได้ที่เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ/มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 546 ลาดพร้าว 47 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือสอบถามโทร. 08-5337-9660, 02-539-9958 (ต่อ 25) และเว็บไซต์: www.nmad2006.org “หนึ่งแรงใจของท่านมีค่าที่จะสร้างโอกาสให้คนพิการได้เติบโตบนถนนสายดนตรีต่อไป”
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้