4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รูปแบบระบบบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย : บริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวเหมือนหรือต่างกับคนไทย ?

ความเป็นมา
          จากข้อมูลการใช้บริการสาธารณสุขของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2562 พบว่า อัตราการใช้บริการของคนต่างด้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งจึงมีนโยบายในการแยกคลินิกที่มีจำนวนคนต่างด้าวมาใช้บริการมาก เช่น คลินิกฝากครรภ์และคลอด งานวางแผนครอบครัว งานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) คลินิกเด็กดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนต่างด้าว โดยเพิ่มการจัดหาล่ามแปลภาษาและสื่อสารภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ สะดวกต่อการบริหารจัดการในโรงพยาบาล รวมทั้งการมีหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

          นอกจากการให้บริการเชิงตั้งรับในสถานพยาบาลแล้ว คนต่างด้าวในชุมชนยังได้รับบริการสุขภาพเชิงรุก ผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ 1) การอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำ พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว และอาสาสมัครต่างด้าว ให้ร่วมออกหน่วยคัดกรองและประเมินพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน จัดหน่วยเคลื่อนที่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและป้องกันส่งเสริมสุขภาพในชุมชนต่างด้าว 2) กิจกรรมประชาสัมพันธ์ เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ หรือแผ่นพับเพื่อให้ความรู้กับคนต่างด้าวในภาษาต่างๆ

          ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการให้บริการที่เป็นมิตร คือ การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างดี ดังนั้นการบริหารจัดการในประเด็นการจัดหาล่ามแปลภาษา วิธีการจัดจ้าง รวมถึงแหล่งของงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ป้ายประชาสัมพันธ์ หรือแผ่นพับ เป็นภาษาต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ คือ ภาษาพม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น โรงพยาบาลจะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเนื้อหาในการสื่อสารกับคนต่างด้าว โดยใช้งบประมาณจากหลากหลายแหล่งที่มา เช่น งบประมาณส่งเสริมสุขภาพแรงงานต่างด้าวจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด งบประมาณจากศูนย์ ASEAN และงบเงินบำรุงของโรงพยาบาล เป็นต้น

          โดยสรุป การให้บริการผู้ป่วยนอกแบบแยกหรือรวมกับคนไทยไม่ใช่ปัญหาในการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว แต่การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และคนต่างด้าว คือปัจจัยสำคัญในการให้บริการที่เป็นมิตรและการเข้าถึงบริการ ดังนั้นการพัฒนาสื่อความรู้ และขั้นตอนการรับบริการ/การดูแลสุขภาพ (ภาษาถิ่น) และการพัฒนาศักยภาพพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว ทั้งทางด้านสิทธิและความเข้าใจหลักประกันสุขภาพและการใช้บริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาต่อไป

การจัดบริการที่เป็นมิตรในโรงพยาบาลและการเข้าถึงบริการสุขภาพ 4 มิติ คือ
     1) การบริหารจัดการของโรงพยาบาล ที่มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดบริการสำหรับคนต่างด้าว
     2) การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการสร้างความต้องการในการใช้บริการ มีบริการทางสุขภาพที่ครอบคลุมคนต่างด้าว มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บริการและข้อมูลข่าวสาร การเสริมสร้างความร่วมมือ การสนับสนุนจากชุมชนและเครือข่าย
     3) บริการที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย มีบริการส่งเสริมป้องกัน รักษาและฟื้นฟูทั้งทางร่างกาย จิตใจ การเคารพและปกป้องสิทธิของผู้รับบริการ
     4) ระบบบริการที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อคนต่างด้าว มีระบบบริการที่ต่อเนื่องและยั่งยืนสำหรับคนต่างด้าว มีศูนย์บริการสุขภาพสำหรับต่างด้าวในชุมชน

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
     1) จัดตั้งเครือข่ายบริการด้านสาธารณสุขเพื่อขยายการครอบคลุมไปยังกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารแสดงตน (undocumented migrants) ที่อยู่ในชุมชน
     2) เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน และเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บริการและข้อมูลข่าวสาร
     3) พัฒนาสื่อและข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาถิ่น และเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว เพื่อส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรคของคนต่างด้าว

ผู้เขียน : จิราลักษณ์ นนทารักษ์ และคณะวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้