4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยเชิงระบบ คำตอบของมาตรการที่เป็นระบบ สู่พฤติกรรมหยุดโควิดที่ยั่งยืน

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พร้อมแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อบริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด–19 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาด ครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งการปิดสถานที่เสี่ยง การควบคุมออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด หรือการเว้นระยะห่าง ฯลฯ ซึ่งนับเป็นความสำคัญของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาดโดยเร็ว ในขณะที่ความร่วมมือของประชาชนยังคงมีความสำคัญ

          ทั้งนี้ การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไปกับการเดินต่อล็อคดาวน์หรือปลดล็อคดาวน์ประเทศ  ตลอดจนการวางแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาระยะยาวนั้น จำเป็นต้องพิจารณาใช้ข้อมูลทางวิชาการที่มีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆกับประชาชนมากยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงทำการศึกษาวิจัย “พัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย” ซึ่งแนวคิดงานวิจัยมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง 

 

 

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า   ประเทศไทยต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับการพยากรณ์สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลลัพธ์จากการดำเนินการควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม ซึ่งธรรมชาติของโรคอุบัติใหม่ซึ่งความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีไม่มาก ทำให้อาจมีข้อจำกัดในการควบคุมโรคหรือการจัดการปัญหาที่อาจไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่ เพราะมีผลข้างเคียงของนโยบายที่ไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า เช่น การตัดสินใจดำเนินนโยบายด้านการควบคุมโรคบางอย่างอาจไม่คุ้มค่าในระยะยาวเนื่องจากเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่มากเกินไปสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งการวิจัยนี้ สวรส. ได้ให้ความสำคัญงานวิจัยที่มาประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา COVID-19 และลดข้อจำกัดของการคิดแบบแยกส่วน โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบในมุมมองต่างๆ ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

          ด้าน ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแบบจำลองที่ใช้ในการวิจัยนั้น ทำให้เห็นว่า นโยบายที่เกิดขึ้นไม่สามารถมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งมาตรการระยะสั้นของรัฐบาลในการปิดเมืองปิดประเทศ การปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล การลดความความหนาแน่นของชุมชน ต้องการการมีส่วนร่วมจากหน่วยต่างๆ ในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการจัดการเชิงโครงสร้างซึ่งทำได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนให้คนมาปรับพฤติกรรม เช่น การขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าที่มีผู้คนหนาแน่นเบียดเสียดเป็นปกติ การให้ยืนห่างกัน 1-2 เมตรจึงเป็นเรื่องยาก จึงต้องอาศัยการจัดการเดินรถให้ถี่ขึ้นโดยภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะกับบริบทสังคมชนบท ที่ผู้สูงอายุอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีโจทย์ต้องมาช่วยกันคิดว่าการเว้นระยะห่างกับผู้สูงวัยของสังคมไทยจะมีหน้าตาแบบไหน ซึ่งนักสังคมวิทยา นักพฤฒาวิทยา แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือสถาปนิก สามารถเข้ามาช่วยออกแบบช่องว่างของมาตรการนี้ได้ หรือแม้แต่กรณีที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาอยู่  คือ การแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อและต้องกักโรค  หรือการให้อยู่บ้านจะอยู่บ้านได้นานแค่ไหน  ยิ่งคนในระดับล่างที่มีบ้านคับแคบก็ยังเสี่ยงแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน ซึ่งลักษณะนี้จะทำอย่างไร

          ทั้งนี้ การวิจัยเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของระบบที่ซับซ้อนซึ่งเป็นที่มาพฤติกรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับบุคคลและองค์กร สู่การพัฒนาข้อเสนอรอบด้านที่ผ่านการทดสอบนโยบายในแบบจำลองสถานการณ์ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถเลือกดำเนินนโยบายที่มีโอกาสสร้างผลลัพธ์ในการควบคุมโรคมากที่สุด และมีผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด จากการตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการและมีการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากผลการตัดสินใจเหล่านั้น โดยแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นแบบจำลองทางระบาดที่เรียกว่า SEIR Model จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและนวัตกรกลุ่มต่างๆ เห็นภาพรวมของปัญหา และสามารถใช้ทดสอบผลลัพธ์ของแต่ละนโยบายที่มองผลลัพธ์และผลกระทบอย่างครบถ้วน สามารถพิจารณาหาแนวทางการจัดการหรือทางออกเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวที่ได้ผลดีที่สุด ตัวอย่างเช่น หากโควิดยังอยู่นานถึง 2 ปี ซึ่งถ้าปิดเมืองไปเรื่อยๆ ประชาชนคงทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว แต่ถ้าเราต้องเปิดประเทศบางส่วน  หรือให้คนบางกลุ่มออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบบจำลองสถานการณ์จะช่วยแสดงให้เห็นว่าเปิดกลุ่มใดจะมีโอกาสการเกิดระบาดใหม่น้อยที่สุด รวมทั้งเปิดภาคส่วนไหนจะลดผลกระทบด้านลบในทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากที่สุด ฯลฯ ทั้งหมดนี้ คือการคาดการณ์เพื่อการออกแบบนโยบาย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแบบจำลองนี้ไม่เพียงแค่ทำงานเชิงระบาดเท่านั้น แต่ได้เชื่อมกับเศรษฐศาสตร์ สังคม รวมทั้งช่วยการสื่อสารเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหาให้สาธารณะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำงานได้ด้วย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้