4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ผู้แทนสาธารณสุขนานาประเทศ ชื่นชมหลักประกันสุขภาพต.เหมืองใหม่ - เดลินิวส์

          ในเวทีการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012 ระหว่างวันที่ 24-28 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ รร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้นำด้านสาธารณสุขจาก 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อสำคัญที่นำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น "ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งพัฒนาระบบเงินสุขภาพ" จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ม.มหิดล องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า เป็นต้น ในโอกาสนี้ตัวแทนแต่ละประเทศได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน กองทุนสุขภาพตำบลเหมืองใหม่ ณ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.)เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

          นายวิบูลย์ สุพุทธิธาดา ผู้อำนวยการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 5 ราชบุรี ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพรวมของ 8 จังหวัดในภาคตะวันตกอาทิ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เป็นต้น กล่าวว่า รพ.สต.เหมืองใหม่ มีตัวอย่างนวัตกรรมของการดูแลสุขภาพที่น่ายกย่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมการดูแลสุขภาพของประชาชนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเสริมสุขภาพป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ด้วยการจัดเวทีประชาคม เช่น การลดความอ้วน มีการให้ข้อมูลการเลือกกินอาหารทำให้บุคคลที่มีน้ำหนักในชุมชน 100 กก.สามารถลดน้ำหนักลงได้ 70-80 กก. ภายใน 5 เดือน

          ณภัทร จาตุรัส เลขาศูนย์ประสานงานเลขานุการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลเหมืองใหม่ เล่าว่าในปี 2551 ตัวแทนของชุมชนได้ไปอบรมแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ จนได้ความรู้ว่าการจัดการสุขภาพชุมชนไม่ใช่เฉพาะหน้าที่อสม.เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งอบต.เทศบาล ล้วนทำงานด้านดูแลหลักประกันสุขภาพร่วมกันได้ ซึ่งมีเงินงบประมาณสปสช.จัดสรรงบประมาณหัวละ 40 บาทมาร่วมสมทบกับงบประมาณของท้องถิ่นอีกที รูปแบบการสร้างกิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพนั้น มีกรรมการของสปสช. เขตอบต. เขตเทศบาลแต่ละชุดมานั่งประชุมร่วมกับชาวบ้าน ในเวทีสัญจรซึ่งจัดหมุนเวียนแต่ละหมู่บ้านทุกเดือนนำปัญหาสุขภาพในชุมชนมานั่งพูดคุย โดยกิจกรรมครั้งแรกเรื่องวิธีป้องกันไข้เลือดออกเริ่มตั้งแต่ปี 2552

          "มีข้อเสนอเรื่องฉีดพ่นยุง แต่ชาวบ้านแย้งว่าต้องใช้สารเคมี จนได้ข้อสรุปว่าต้องรักษาแม่น้ำลำคลอง ไม่ให้ยุงวางไข่ ปกติอบต.ต้องใช้งบประมาณปีละเป็นแสนเพื่อสาวผักตบขึ้นแต่ชาวบ้านเสนอว่าโครงการลงแขกลงคลองเดือนละครั้ง ใช้แรงงานชุมชน โดยเฉพาะผู้นำต้องมาร่วมมาสาวผักตบสาวสาหร่ายขึ้น นอกจากนี้ในเวทีสัญจร ผู้เฒ่าผู้แก่ให้ความรู้ภูมิปัญญาว่า ต้องเอาผ้าขาวบางจุ่มน้ำปิดปากตุ่มป้องกันยุงวางไข่ เมื่อผ้าขาวบางแห้งจะช่วยยึดกับปากตุ่มแน่นไม่ปลิวไปกับลม"
      
          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเรื่องการออกกำลังกาย เดินวิ่งซิ่งจักรยาน จัด ทุกวันเสาร์ตั้งแต่ 06.00-07.00 น. เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยรวมทั้งคนสูงอายุที่ขอเดิน คนหนุ่มสาวที่กำลังพอวิ่งไหว ส่วนกลุ่มเด็กขอปั่นจักรยาน เพราะสภาพถนนที่เต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาพันธุ์จึงเหมาะที่จะทำกิจกรรมนี้ แต่ละครั้งมีสมาชิกเข้าร่วมอย่างต่ำ 70 คน

          ขณะเดียวกันที่นี่ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำระบบการดูแลสุขภาพมาเชื่อมโยงกัน ส่งเสริมปลูกผักกินเองแซมในพื้นที่สวนผลไม้ กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานจากคนภายนอก แต่กำหนดว่าในแต่ละเดือนรับผู้ดูงาน 2 คณะและต้องรับประทานอาหารกลางวันที่ใช้ผักปลอดสารจากชุมชน อสม.แต่ละหมู่มาเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนมาปรุงอาหารเก็บค่าอาหารหัวละ 100 บาทหัก 30 บาทมาเป็นค่ากองกลางสำหรับบริหารจัดการชุมชน 70 บาทต้องซื้อผักปลอดสารพิษในชุมชน

          สำหรับกิจกรรมดูแลสุขภาพมีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสุขภาพเช่นเรื่องการดูแลสุขภาพฟัน ตา อาการปวดหัวเข่า เป็นต้น โดยมีหมอมาร่วมให้ความรู้ สำหรับโครงการที่เน้นหนักในปีนี้ของตำบลคือเรื่องเยาวชน ปัญหาเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง แม้ชุมชนไม่มีปัญหาแต่ชุมชนรอบข้างมี จึงเกิด โครงการเด็กเอ๋ยเด็กดีพี่สอนน้อง ให้รุ่นพี่ในต.เหมืองใหม่ที่เรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทมาเล่าประสบการณ์ น้อง ๆ จะมีไอดอล เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน


          อย่างไรก็ตามนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในแบบฉบับของตำบลเหมืองใหม่เรื่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งนำไปเป็นต้นแบบของที่อื่นได้ วงเดือน รอดสะอาด อสม.ของตำบล เล่าว่าที่นี่ใช้การจูงใจด้วยการแจกเตาประหยัดพลังงาน สำหรับคนที่มาตรวจโดยใช้เงินกองทุนสุขภาพตำบลจัดซื้อมา ซึ่งได้ผลชาวบ้านบอกต่อกัน จากเดิมที่ไม่มีใครกล้าตรวจเพราะอายหมอ

          ด้าน ดร.โรเบิร์ต บาซาซา นักวางแผนสุขภาพจากประเทศยูกันดา กล่าวภายหลังการศึกษาดูงานว่ามีโอกาสมาดูระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 พบว่าระบบบัตรทองของประเทศประสบความสำเร็จอย่างสูงมีระบบการจัดการแบบผสมผสานไว้วางใจชุมชนการดูแลตัวเอง แตกต่างจากของยูกันดาที่ระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ในการดูแลของภาครัฐเพียงอย่างเดียว

          ด้าน มิส อัน แอปเปิลมันส์ ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์เขตร้อนจากประเทศเบลเยียม กล่าวว่า ประทับใจกับระบบการดำเนินงานบัตรทองของสปสช. โดยเฉพาะมีความพยายามที่จะป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน จากชุมชนเอง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย เพราะโรคนี้ต้องเสียค่ารักษาที่แพงมากและหลายประเทศประสบปัญหาเช่นเดียวกัน สำหรับระบบประกันสุขภาพของเบลเยียมนั้นรัฐบาลใช้วิธีเก็บภาษี 45 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อหัวประชากร ในจำนวนนี้ 13 เปอร์เซ็นต์เป็นระบบประกันสุขภาพ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องการศึกษาและสวัสดิการอื่น ๆ ถือว่าเป็นการจ่ายภาษีที่แพงมาก

          การดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของต.เหมืองใหม่ทำให้ได้รับรางวัลตำบลดีเด่นในการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมของสถาบันพระปกเกล้า และสอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ The Ottawa Charter for Health Promotion ในปี ค.ศ.1986 ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของมิติทางสังคมเกี่ยวกับสุขภาพ บทบาทของชุมชนในฐานะเป็นแกนกลางของกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 47 ความว่า "เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่"

ที่มา : หนังสือพิมพืเดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2555 หน้า 8

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้