4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. ผนึกภาคีสุขภาพจัดงานมหกรรมสุขภาพชุมชน ประกาศทิศทาง ปี 58 มุ่งเป้า 4,000 ตำบลชุมชนท้องถิ่นสุขภาวะทั่วประเทศ

องค์การอนามัยโลก จับมือ 5 ส. ภาคีสุขภาพ  เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน   เป้า 4,000 ตำบลครอบคลุมทั่วประเทศในปี 58  ประเดิม 100 ตำบลในปีแรก  พร้อมขยายเพิ่ม 1,000 ตำบลทุกปี  เปิดประตูสู่การพัฒนาด้วยงานมหกรรมสุขภาพชุมชน  พร้อมสร้างชุมชนท้องถิ่นสุขภาวะ ขยายประโยชน์ไทยเชื่อมโยงสู่ระดับภูมิภาค

          จากสถานการณ์การพัฒนาด้านสุขภาพที่ผ่านมา  พบว่า  ในหลายพื้นที่ให้ความสำคัญและมีการดำเนินงานบนฐานการมองเรื่องระบบสุขภาพเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนในภาพรวม  โดยการพัฒนาเริ่มต้นจากการมองและเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยตลอดจนบริบทที่เกี่ยวข้องในชุมชน  ซึ่งหลายพื้นที่ประสบความความสำเร็จในการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างดี  โครงการที่น่าสนใจ เช่น  โครงการรถเมล์สายสุขภาพขุนหาญ รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ  ที่ทำหน้าที่รับส่งผู้ป่วยถึงในชุมชนพร้อมเจ้าหน้าที่วิชาชีพประจำรถนำส่งข้อมูลล่วงหน้าก่อนเดินทางทำให้พร้อมตรวจได้ทันทีเมื่อถึงสถานพยาบาล  ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยเกิดความพึงพอใจและพร้อมสมทบทุนร่วมสนับสนุนโครงการ  หรือแม้แต่กรณี  CUP ลำสนธิ จ.ลพบุรี  ซึ่งมีระบบส่งต่อโดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น  การโทรศัพท์ปรึกษา  การใช้ internet หรือใช้ Skype  และการส่งต่อผ่านระบบช่องทางด่วน (Green channel) ที่มีประสิทธิภาพ  ฯลฯ  และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ  ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องและขาดโอกาสในการพัฒนา  จึงนำมาสู่ “แผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน”  ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาล   องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ  ได้เเก่  กระทรวงสาธารณสุข   สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ  สวรส.  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ตลอดจนสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สถาบันสุขภาพอาเซียน  เป็นแกนกลางดำเนินงาน

          ทั้งนี้ นพ.ไพจิตร์  วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะผู้แทนองค์กรเครือข่ายภายใต้แผนงานฯ กล่าวว่า  “แผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” ดังกล่าว มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในระบบสุขภาพชุมชน  ซึ่งมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 4,000  ตำบลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ  สู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นสุขภาวะ โดยสร้างระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2558  โดยเริ่มจาก 100 ตำบลในปีแรก ที่จะทำการคัดเลือกพื้นที่ตำบลต้นแบบที่มีเกณฑ์พิจารณาพื้นที่จาก 2 ลักษณะ คือ  1) เป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ที่ทับซ้อนกันของ 2-3 องค์กรภาคี  รวมจำนวน  40 แห่ง  และ 2) พื้นที่ที่องค์กรภาคีตัดสินใจเชิญเข้าร่วมเป็นพื้นที่ต้นแบบ ภาคีละ 15 แห่ง  รวมจำนวน 60 แห่ง  โดยเชื่อมั่นว่าแผนงานดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพของประเทศได้ ใน 3 ระดับ คือ  ระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ  ทำให้ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ 5 อันดับแรกถูกนำไปสู่การแก้ไข   ปัญหาสุขภาพของชุมชน 5 อันดับแรกลดลง   มีแผนงานพัฒนาสุขภาพที่เกิดจากการใช้ข้อมูลชุมชนและการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา   รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาด้านสุขภาพจะเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่  เป็นต้น   โดยจุดแข็งของแผนงานนี้  อยู่ที่การร่วมประสานความเชี่ยวชาญและทรัพยากร  บนฐานการทำงานในเป้าหมายเดียวกันขององค์กรภาคีด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ   ซึ่งพร้อมให้การสนับสนุนผ่านแผนงานดังกล่าว  โดยยุทธศาสตร์การทำงานสำคัญ คือ  “การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” โดยการต่อยอดกระบวนการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนที่องค์กรภาคีดำเนินการอยู่แล้วในระดับตำบล   “การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้” โดยเน้นความรู้จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ และนำความรู้ไปใช้ในการขยายผล   “การพัฒนานโยบาย” โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่การพัฒนาบทบาทหน้าที่  การปรับแนวคิดและกระบวนการทำงานใหม่ขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจน “การสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนทางสังคม”

          นพ.ไพจิตร์  วราชิต  กล่าวเพิ่มเติม  “งานมหกรรมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 2” ภายใต้แนวคิด “จากความรู้สู่ระบบการจัดการใหม่ จินตนาการเป็นจริงได้ไม่รู้จบ” นี้เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน”  ”ซึ่งจะเป็นประตูเริ่มต้น  เปิดประเดิมไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง  สู่ 4,000  ตำบลเป้าหมายภายในปี 2558  ดังกล่าว  และจากการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ของทุกท่านใน 3 วันนี้ จะนำไปสู่การสร้างความรู้และต่อยอดเป็นระบบการจัดการใหม่ ๆ  ที่จะนำกลับไปใช้เกิดเป็นความรู้และจินตนาการใหม่ๆ ได้อีกอย่างไม่รู้จบ  ตามแนวคิดและเป้าหมายประสงค์ของงานมหกรรมสุขภาพชุมชนในครั้งนี้  ที่ขอให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ร่วมกันอย่างเต็มที่”

          Dr.Maureen E. Birmingham   ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย  ในฐานะผู้แทนองค์กรเครือข่ายภายใต้แผนงานฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า  “แผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” นอกจากจะทำให้ประเทศไทยเกิดระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว  ยังเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภูมิภาค  รวมทั้งการทำงานในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดมุมมองและพัฒนาการทำงานขององค์กรภาคีในอันที่จะลดความทับซ้อน  เกิดการเสริมหนุนโดยมองเป้าหมายเดียวกัน  และบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ”

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนองค์กรเครือข่ายภายใต้แผนงานฯ กล่าวว่า “จากแนวคิดภายใต้แผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน  ที่ให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพบนฐานการพัฒนาชุมชนในภาพรวม  โดยเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของ อปท. ภาคประชาชน และองค์กรชุมชนและการเรียนรู้ใหม่ขององค์กรต่างๆ นั้น   นำมาสู่การพัฒนาและถ่ายทอดมาเป็นกิจกรรม  ภายใต้ชื่องานมหกรรมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 2 “จากความรู้สู่ระบบการจัดการใหม่ จินตนาการเป็นจริงได้ไม่รู้จบ”  โดยส่วนหนึ่งเราเชื่อว่า  การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆในงานนี้ จะนำไปสู่การจัดการและจินตนาการที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญนำสู่เป้าหมายของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน   ซึ่งตลอดเส้นทางของการพัฒนาก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ พร้อมนำกลับมาเรียนรู้ต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดย “มหกรรมสุขภาพชุมชนครั้งที่ 2” นี้  มิใช่เพียงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ ของผู้คนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เท่านั้น  แต่ยังเป็นการมาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเป็นจริงตามที่ได้ตั้งใจ   และการประชุมครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 18-20 มกราคม 2555  มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 4,000 คน  ซึ่งการประชุมประกอบด้วยเวทีวิชาการที่นำเสนอแนวคิด เครื่องมือ และกรณีศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับ “การบริหารจัดการ” พร้อมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบาย ลานกิจกรรมที่แสดงนวัตกรรมของพื้นที่กว่า 200 แห่ง รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และปลุกเร้าอุดมการณ์ของผู้ปฏิบัติงานในชุมชน  ทั้งนี้ทางองค์กรเครือข่ายร่วมจัดมีความตั้งใจและต้องการให้งานมหกรรมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 2 นี้เกิดประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม ตลอดจนการเรียนรู้ร่วมกันขององค์กรเครือข่ายภาคีต่างๆ  ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านมีส่วนร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยน และนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาในพื้นที่หรือกลุ่ม องค์กรของท่านต่อไป”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้