4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยแนวทาง “ดูแลผู้ป่วย หลอดเลือดตีบส่วนปลาย: ลดตาย-ตัดขา ในผู้ป่วยเบาหวาน”

          “โรคหลอดเลือดส่วนปลาย” หรือ “หลอดเลือดตีบตันที่ขา” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงตีบได้ง่ายจากการอุดตันของไขมันและภาวะความดันโลหิตสูง ยิ่งเมื่อผู้ป่วยมีบาดแผล ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ มีรอยถลอก ในบริเวณขาหรือเท้า บาดแผลเหล่านั้นก็จะหายช้าหรืออาจไม่หายได้ เนื่องจากเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงได้ หากขาดการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยบางรายปล่อยให้บาดแผลเน่าจนต้องตัดขาทิ้งในที่สุด

          นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดส่วนปลาย” ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น หลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจ เพราะจากการศึกษาของทีมงานคณะวิจัยในอดีต พบว่า ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวานโอกาสเสียชีวิตใน 3 ปี โดยร้อยละ 56.5% ทั้งหมดเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด

► ข้อมูลจากการเล่าขานของผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มที่มีแผล มักจะมีเป็นความเชื่อผิดๆ จนทำให้ผู้ป่วยไม่อยากมาพบแพทย์ก็คือ การเข้าใจว่าเมื่อมาแล้วจะต้องถูกตัดนิ้ว ตัดขา หรือตัดข้อเข่า ความคิดเหล่านี้ยิ่งจะทำให้ปัญหาลุกลามมากยิ่งขึ้น เช่น บางรายนิ้วเท้าดำเมื่อไม่มาหาแพทย์ แผลก็จะลุกลามจนถึงเน่าในที่สุด ปลายทางก็ต้องถูกตัดขา แต่ถ้ามาพบแพทย์ เข้ารับการดูแลให้คำปรึกษา ก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนา-แก้ปัญหาระบบสุขภาพ
          ดังนั้นการศึกษาค้นหาโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้ได้รับการรักษาและป้องกันที่ดีที่สุด โครงการวิจัยเรื่องภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ภายใต้ชุดโครงการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แผนงานวิจัยมุ่งเป้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          นักวิจัยได้ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลคนไข้เบาหวานที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2557 จำนวน 2,247 คน จาก รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.ลำพูน และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อดูว่ามีโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันหรือเส้นประสาทเสื่อมในผู้ป่วยฯ พร้อมหาแนวทางที่เป็นเวชปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกตัดขาในผู้ป่วยและการเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดหัวใจ โดยพบความชุกของโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวานที่เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 286 คน คิดเป็น 12.7% โดยจำนวนผู้ป่วย 82.5% ยังไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดส่วนปลาย จากนั้นทำการติดตามประเมินการรักษา

          งานวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลาย จะมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ หลอดเลือดตีบ ที่ไปหล่อเลี้ยงผิวหนังได้น้อย กับเส้นประสาทเสื่อม จะเป็นเส้นประสาทที่เกี่ยวกับความรู้สึก จึงทำให้เกิดแผลและติดเชื้อได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ที่ป่วยก็จะไม่รู้สึกว่าเจ็บอะไรมากจากแผลที่เกิดขึ้น เพราะผิวหนังของเราสมานตัวได้ด้วยเลือดที่มาเลี้ยงที่เอาโปรตีนมากับออกซิเจน รวมถึงปัจจัยต่างๆ มาเพื่อสมานแผล เมื่อเลือดมาเลี้ยงไม่พอแผลก็จะไม่หาย หากเป็นเช่นนี้ปลายทางในการแก้ไขปัญหา คือ การตัดส่วนที่เน่าเสียออก ส่วนข้อสังเกตจากสัญญาณบ่งบอกที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ขา/เท้า ต้องพึงระวังให้มาก คือ อาการชาที่เท้า หรือมีอาการเจ็บเท้าในขณะที่อยู่เฉยๆ รวมไปถึงอาการปวดเมื่อยบริเวณน่องเมื่อเดินไปได้ในระยะสั้นๆ อีกทั้งอาการตาปลาหรือหนังเท้าหนา ถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งที่ร่างกายเริ่มสร้างเนื้อขึ้นมา เมื่อมีเท้าที่ผิดรูปทำให้เดินลำบาก เช่น กระดกเท้าไม่ข้ามบันได ส่วนคนไข้ที่เริ่มมีแผลที่เท้าจากรอยถลอก อุบัติเหตุ หรือเป็นตาปลา ฯลฯ ต้องรีบมาพบแพทย์ การไปซื้อยาที่ร้านขายยาทั่วไปจึงไม่แนะนำ เพราะคนที่เป็นเบาหวานจะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยทำงานได้ไม่ดีแล้ว

          อย่างไรก็ดี ในทางการแพทย์ โรคหลอดเลือดส่วนปลายสามารถที่จะรักษาให้ตรงกับสาเหตุได้ เช่น การใช้บอลลูนไปถ่างขยาย หรือว่าการผ่าตัดรัดหลอดเลือด ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ การบายพาสหรือผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง ทำให้โอกาสของการถูกตัดขาจะน้อยมาก

          ทั้งนี้ ในช่วงของการศึกษาวิจัยช่วง 1 ปี ทางคณะวิจัยได้นำหลักการง่ายๆ ที่เป็นบัญญัติ 10 ประการ ในการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ประกอบด้วย 1.ให้ล้างเท้าตนเองทุกวัน 2.ให้ตรวจเท้าตนเองทุกวัน 3.ให้ทาครีมหรือน้ามันมะกอกที่เท้าเป็นประจำ 4.แนะนำการดูแลผิวหนังและตัดเล็บให้ถูกต้อง 5.ให้ใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง 6.ให้ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้จะอยู่ในบ้าน 7.ให้ตรวจภายในรองเท้าก่อนสวม 8.แนะนำการใช้รองเท้าที่ถูกต้อง 9.หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำหรือสารที่จะมีปฏิกิริยากับผิวหนัง 10.ให้ออกกำลังที่เท้าเพื่อให้เท้าแข็งแรงสม่ำเสมอ โดยการฝึกใช้เท้าขยำหนังสือพิมพ์

          จากการเก็บข้อมูลคนไข้ของผู้ป่วย 286 คน มีการนำแนวดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พบว่า จำนวนการตัดขาของผู้ป่วยลดลงจากข้อมูลเดิมในอดีตที่มีสูงถึงปีละ 13.6% เหลือเพียง 4% นับเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและลดค่าใช้จ่ายสุขภาพลงได้

การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย

สำหรับผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้มีการนำไปบรรยายเชิงวิชาการในหัวข้อ Acute Problems in Diabetic Foot ในการประชุมประจำปี 2558 ของสมาคมโรคหลอดเลือดแห่งประเทศไทย ภายใต้ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือศัลยศาสตร์หลอดเลือดประยุกต์ เล่ม 2 Emergency Vascular Surgery และได้นำเสนอผลงานประจำปี 2558 ของคลัสเตอร์วิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม และกลุ่มเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการโรคเรื้อรังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

งานวิจัย : โครงการวิจัยเรื่องภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย
นักวิจัยหลัก : ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม ศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้