ข่าว/ความเคลื่อนไหว
การพัฒนาและวางแผนสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นประชากรที่มีศักยภาพนั้น มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลสำคัญที่หลากหลาย เช่น ข้อมูลสถานะสุขภาพของประชากร ขนาดของปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และปัจจัยเสี่ยง ที่มีอิทธิพลต่อการเกิดปัญหาเหล่านั้น มีการแจกแจงข้อมูลปัญหาตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เช่น เขตสาธารณสุขตามภาค หรือตามเขตปกครองท้องถิ่น รวมทั้งตามลักษณะทางชีวภาพของประชากรที่สัมพันธ์กับสถานะสุขภาพ คือ เพศ และอายุ ตลอดจนสภาวะทางสังคมเศรษฐกิจ ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงแต่การนำมาวางนโยบายทางสุขภาพ แต่ยังสามารถนำมาใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ และนำไปสู่กิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในประชาชน โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรค เช่น โครงการรณรงค์ให้รับประทานผักและผลไม้ โครงการคนไทยไร้พุงเพื่อลดภาวะน้ำหนักเกินโดยเฉพาะการอ้วนลงพุงที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเบาหวาน และการวัดความดันเลือดเพื่อควบคุมโรคความดันเลือดสูง เป็นต้น เป็นต้น
|
งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนา-แก้ปัญหาระบบสุขภาพ
การสำรวจสุขภาพประชาชนครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 เป็นแผนงานวิจัยที่ดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วัตถุประสงค์หลักของการสำรวจ คือ แสดงความชุกของโรคและปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ การกระจายตามเพศ และกลุ่มอายุ ในระดับประเทศ ภาคและเขตปกครอง ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่ม (multi-stage random sampling) ในกลุ่มประชากรไทยอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ที่อาศัยใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพฯ แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 15-59 ปี จำนวน 12,240 คน และ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9,720 คน รวม 21,960 คน โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยของภาคต่างๆ ในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล มีผู้เข้าร่วมการให้ข้อมูลจำนวน 20,450 คน คิดเป็นอัตราตอบกลับร้อยละ 93
ผลการสำรวจในกลุ่มสุขภาพผู้ใหญ่วัยแรงงานและสูงอายุ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ความชุกของการสูบบุหรี่ ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่เป็นประจำร้อยละ 19.9 โดยเพศชายสูบบุหรี่เป็นประจำร้อยละ 38.7 ส่วนในเพศหญิงสูบร้อยละ 2.1 การสูบตามกลุ่มอายุในเพศชายความชุกเริ่มตั้งแต่ร้อยละ 34.2 ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี และเพิ่มขึ้นตามอายุสูงสุด ในกลุ่มอายุ 45-49 ปี ร้อยละ 42.6 จากนั้นความชุกลดลงเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่ามากกว่าหนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุชายยังคงสูบบุหรี่อยู่ ส่วนในเพศหญิงความชุกของการสูบบุหรี่สูงขึ้นตามอายุ โดยสูงสุดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป(ร้อยละ 5.8)
ความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายมีสัดส่วนของคนที่ดื่มปริมาณแอลกอฮอล์ระดับเสี่ยงปานกลางขึ้นไป (ชาย ≥ 41 กรัม /วัน) ร้อยละ 13.2 ส่วนในเพศหญิง (≥ 21 กรัม/วัน) ร้อยละ 1.6 ผู้ชายที่อาศัยในเขตเทศบาลดื่มในระดับเสี่ยงปานกลางขึ้นไป (ร้อยละ 13.9) สูงกว่านอกเขตเล็กน้อย (ร้อยละ 13.0) สำหรับผู้หญิงในเขตเทศบาลมีความชุกการดื่มมากกว่านอกเขต (ร้อยละ 2.2 และ 1.4)
ความชุกของการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอมีร้อยละ 18.5 (ชายร้อยละ 16.8 และหญิงร้อยละ 20.2) นอกจากนี้ ความชุกของภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 kg/m2) ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 28.4 ในผู้ชาย และ 40.7 ในผู้หญิง ความชุกในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล (ในชายร้อยละ 36.1 และ 25.1 ในหญิงร้อยละ 44.9 และ 38.8 ตามลำดับ) โดยในภาคกลางและกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคอื่น
โดยสรุปของการสำรวจฯ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 นี้ กับการสำรวจครั้ง 3 ในปี 2547 พบว่าความชุกของบางปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะอ้วน และภาวะไขมันในเลือดสูง การกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ และภาวะโลหิตจาง บางปัจจัยอยู่ในสถานการณ์คงเดิม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และบางปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในบางกลุ่มเช่น การสูบบุหรี่ลดลงในกลุ่มผู้ชายแต่ในผู้หญิงยังไม่ลดลง การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นต้น ดังนั้นจึงยังมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องร่วมกันกำหนดมาตรการ ดำเนินการควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยง และสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และต้องมีการสำรวจติดตามสถานะสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องเป็นระยะๆ ต่อไป
การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย |
งานวิจัย : การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552
นักวิจัยหลัก : นพ.วิชัย เอกพลากร
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้