4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

อ้วนลงพุง ภัยเงียบคุกคามคนเมือง กับ 5 พฤติกรรมกินที่คุ้นชิน เหตุเสี่ยงอ้วน

          จะว่าไปแล้วพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต  ก็เปรียบเสมือนเข็มทิศสุขภาพที่ชี้ทิศชี้ทางได้อย่างชัดเจน  ถ้ากินดี กินในปริมาณที่เหมาะสม  กินหลากหลาย  อารมณ์ดี  สิ่งแวดล้อมดี  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  สุขภาพที่ดีจะไปไหนเสีย

          แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ขุดหลุมพรางนำทางไปสู่การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ  การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย  ขาดการออกกำลังกาย  มีความเครียด  สูบบุหรี่และดื่มสุรา  ต่างล้วนแล้วแต่เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้เราเปิดประตูรับโรคภัยต่างๆ เข้ามาโดยไม่รู้ตัว  โดยเฉพาะ “โรคอ้วนลงพุง” โรคที่พร้อมต่อยอดเป็นโรคอื่นๆ ได้อีกไม่ยาก  ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ตีบ และอุดตัน  โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด  โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ฯลฯ  และหากโรคเหล่านี้มาเยือนถึงตัว คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นภาระของครอบครัวทั้งด้านการเงินและการดูแล  รวมทั้งสูญเสียงบประมาณของประเทศในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากอีกด้วย

          ตามข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 ปี 2552  ซึ่งเป็นการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยทุกๆ 5 ปี  โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป  มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบในประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนเมืองมากกว่านอกเขตชุมชนเมือง    นอกจากนี้ รายงานการศึกษายังระบุด้วยว่า “โรคอ้วนลงพุง” เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือดมาเป็นอันดับต้นๆ  โดยมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยวันละ 236 คน หรือชั่วโมงละ 10 คน ที่สำคัญโรคดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมากเมื่อเทียบกับโรคอื่น ดังนั้น จึงควรมีมาตรการควบคุม ป้องกันโรคอ้วนลงพุง ภาวะแทรกซ้อน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาช

► แนวทางการออกกำลังกายสำหรับผู้มีปัญหาโรคอ้วนลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  จับหลักง่ายๆ 3 ข้อ 1. เหนื่อย ให้พอดี  2. เหนื่อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์  และ 3. เหนื่อยต่อเนื่อง 30 นาที  โดยอาจหากิจกรรมที่เหมาะสมซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงกระแทกน้อย เช่น การเดิน  ว่ายน้ำ หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกาย อย่างเช่น จักรยาน ก็ได้

งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนา-แก้ปัญหาระบบสุขภาพ
          จากวิถีคนเมืองที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อปัญหาสุภาพอย่างชัดเจน  กรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของการศึกษาวิจัย โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล  พร้อมการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  จึงได้ศึกษารูปแบบการจัดการปัญหาภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร  เพื่อมองภาพใหญ่ตั้งแต่ด้านนโยบาย ไปถึงระบบการจัดการและรูปแบบกิจกรรมที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ  ได้แก่  สร้างเสริมสุขภาพ  ป้องกันควบคุมโรค  ตรวจรักษา  และฟื้นฟูสมรรถภาพ  โดยให้ความสำคัญกับการรณรงค์และป้องกันโรคอ้วนลงพุงเชิงบูรณาการที่เหมาะสม  เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างถาวรในที่สุด

          โครงการวิจัยได้มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 399 คน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพทั่วไป พฤติกรรมการกิน การดำเนินชีวิต และการออกกำลังกาย  โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใน กทม.มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง  คิดเป็นร้อยละ 44.1 รองลงมามีภาวะโรคอ้วน ร้อยละ 33.7  และอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 24.1  ซึ่งภาวะเสี่ยงดังกล่าวเป็นเหตุมาจาก  การกินอาหารที่ให้น้ำตาลสูง  อาหารประเภทบุฟเฟ่ต์  อาหารที่มีไขมันสูง  อาหารจานด่วน  ขนมกรุบกรอบ  ขนมหวาน  การกินอาหารไม่เป็นเวลา  การไม่กินอาหารมื้อเช้าแต่ไปเน้นกินมื้อเย็น  มีพฤติกรรมการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ่อย  การกินอาหารทั้งที่ไม่รู้สึกหิวเพราะอาหารมีสีสันและอยากกิน  ไม่ออกกำลังกาย  สมดุลของพลังงานรับเข้ามากกว่าพลังงานที่ใช้ไป ฯลฯ

          นอกจากนี้ ผลวิจัยยังจำแนกพฤติกรรมการบริโภคออกเป็น 5 กลุ่ม  1) กลุ่มกินจุกจิก  กินปริมาณมากจนอิ่มเกินเพราะความเสียดายอาหาร และขาดการออกกำลังกาย  2) กลุ่มเน้นเข้าสังคมและดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต ชาเขียว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  3) กลุ่มกินอาหารบุฟเฟ่ต์  กินอาหารปริมาณมากและมักเลือกกินอาหารที่มีไขมันสูง  4) กลุ่มกินในปริมาณมากตามโฆษณา กินตามสะดวก และปรุงอาหารรสจัด และ 5) กลุ่มที่กินขนมบรรเทาความหิวหรือเป็นอาหารว่างหลังอาหารมื้อหลัก และมักมีนิสัยการกินที่เพลิดเพลินร่วมกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์  ตลอดจนข้อค้นพบที่สำคัญของกลุ่มสำรวจคือ ส่วนใหญ่ไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้มีรูปร่างท้วม และเกิดภาวะอ้วนลงพุง

          สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนลงพุง เช่น สำนักอนามัย กทม. ควรมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ เน้นการออกกำลังกาย  สำนักการแพทย์ กทม. ควรมีนโยบายการตรวจสุขภาพ คัดกรองภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนในทุกกลุ่มอายุ สนับสนุนให้สถานพยาบาลในสังกัด กทม. จัดทำแนวทางการให้ความรู้และความเข้าใจในภาวะโรคอ้วนลงพุง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ ในอนาคต ส่วนในด้านการติดตามผลการควบคุมภาวะโรคอ้วน ควรมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัยที่ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการการควบคุมภาวะอ้วนลงพุงในพื้นที่ระดับชุมชน โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อลดภาวะอ้วนลงพุงในประชากร กทม. เป็นต้น

การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย
          ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้  สามารถส่งต่อแนวทางการกำหนดนโยบาย ระบบการจัดการและรูปแบบกิจกรรมโรคอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อน ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย  สำนักวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและกีฬา  โรงพยาบาลในเครือสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข ฯลฯ  เพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ  พร้อมกับแนวทางการปรับปรุงภาวะโภชนาการ  การออกกำลังกายที่เป็นต้นแบบและสามารถสื่อสารความรู้ไปยังกลุ่มต่างๆ ได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มประชาชนในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ควรปลูกฝังพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานในการเติบโตและขยายผลต่อไป

งานวิจัย : โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร
นักวิจัยหลัก : ศ.นพ.สุรัตน์  โคมินทร์  มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้