ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และเครือข่ายภาคี ร่วมจัดการประชุมย่อยวิชาการคู่ขนานในงานประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 หัวข้อ “สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงยาจำเป็นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” โดยมีการเปิดตัว “รายงานระบบยาของประเทศไทย 2563” ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญของการรายงานสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบยาในประเทศไทยที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาระบบยาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทย
หมายเหตุ : รายงานระบบยาของประเทศไทย 2563 โดยการพัฒนาร่วมกันของคณะกรรมการจัดทำรายงานระบบยาของประเทศไทย ซึ่งกรอบแนวคิดดัดแปลงมาจาก Pharmaceutical Systems Strengthening framework ของ Systems for Improved Access to Pharmaceuticals and Services (SIAPS) และแบบจำลองระบบยาของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสาระสำคัญเพื่อรายงานข้อมูลระบบยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ มีเป้าหมายผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีของคนไทย โดย “ยา” ครอบคลุมถึง ยาสำเร็จรูปประเภทยาเคมี วัคซีน ชีววัตถุ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติด ยาแผนโบราณ และยาสมุนไพร
ข้อมูลสถานการณ์และความท้าทายด้านยาของประเทศไทย
ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ว่าเป็นระบบที่ดีติดอันดับโลกด้านการจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาจำเป็น เพื่อได้รับการรักษาอย่างถ้วนหน้า เท่าเทียม ไม่เกิดภาวะล้มละลายจากรายจ่ายสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถานการณ์จากรายงานระบบยาของประเทศไทย 2563 พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ปี 2557 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) มีมูลค่า 409,313 ล้านบาท ขณะที่การบริโภคยาที่ประมาณจากมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาประจำปี 2558 มีมูลค่ายารวม 162,914 ล้านบาท
โดยสถานการณ์ปัญหาสำคัญของระบบยาที่มีความสอดคล้องกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในการประชุมครั้งนี้ เช่น
ทั้งนี้ หลังจากนี้ไป หากประเทศไม่มีการจัดการระบบยาที่ดีพอ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายและความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนสุขภาพของคนไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ดังนั้น เราจำเป็นต้องจัดการระบบยาให้เกิดประสิทธิภาพ โดยใช้ความรู้จากงานวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในสถานการณ์ขณะนี้ ที่เราต้องดำเนินประเทศไปอย่างระมัดระวังบนข้อจำกัดของทรัพยากรหรือปัจจัยแวดล้อมทางสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ความท้าทายในการจัดการระบบยาให้เกิดประสิทธิภาพในขณะนี้ คือ
1. การเตรียมงบประมาณสำหรับยาหลัก/ยาจำเป็น โดยประเทศต้องมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับยาหลัก/ยาจำเป็น
2. การทำให้ยาหลัก/ยาจำเป็นสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยาว์เหมาะสม ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ
3. การรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยของยา ตัวอย่างเช่น ยาที่มีปัญหาด้านคุณภาพความปลอดภัย ยาในท้องตลาดในบางประเทศของเอเชียหรือทางแอฟริกา พบว่ามียาปลอมจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของยา
4. การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล แม้ว่ายาจะมีประสิทธิผลดีเพียงใดแต่หากมีการใช้ผิด/ใช้เกินจำเป็น/ไม่สมเหตุผล ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายตามมา
5. การพัฒนายาหลัก/ยาจำเป็นที่ยังขาดหายไป ที่ปัจจุบันโรคบางโรคยังไม่มียาบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จึงต้องมีการศึกษา ประเมิน ในการจัดหายาหลักหรือยาจำเป็นเพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย
ทั้งนี้ “รายงานระบบยาของประเทศไทย 2563” ระบุถึงองค์ประกอบหลักของระบบยา 3 ส่วน ที่มีความสำคัญและต้องพูดถึง รวมทั้งต้องมีองค์ความรู้ในการเข้าไปจัดการในทุกๆ องค์ประกอบ คือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต/ผลลัพธ์ ได้แก่
1. ปัจจัยนำเข้า เช่น องค์ความรู้ กำลังคน โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เทคโนโลยี ระบบสนับสนุนต่างๆ ข้อมูลสารสนเทศ และงบประมาณ เป็นต้น
2. กระบวนการ พิจารณาตามห่วงโซ่อุปทานของยา เริ่มตั้งแต่การวิจัยพัฒนา และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จากนั้นจึงกระจายยาไปยังภาคบริการผ่านสถานพยาบาลและชุมชน ตามขั้นตอนกระบวนการคัดเลือก การจัดหา การกระจาย และการใช้ยา
3. ผลผลิตและผลลัพธ์ คือ การมียาอย่างเพียงพอ การเข้าถึงยาคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ (คุณภาพยาครอบคลุมทั้งด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา) การใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีความเท่าเทียม และประเทศมีความมั่นคงยั่งยืนทางยา
รวมทั้งองค์ประกอบสนับสนุน 2 ส่วน คือ ระบบอภิบาลและการเงินการคลัง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบยา และเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายทั้งในระดับชาติ องค์กร และบุคคล จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน รวมทั้งภาคประชาสังคม
“ยารักษามะเร็ง” ที่คนไทยต้องได้เข้าถึง อีกหนึ่งประเด็นศึกษาในรายงานระบบยาของประเทศไทย 2563
ตัวอย่างจากรายงานระบบยาฯ หัวข้อที่นำมาเสนอในการประชุม อาทิเช่น “เพิ่มการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)” ซึ่งจากรายงานได้ประมาณการมูลค่าการตลาดของยามะเร็งในระดับโลก โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.12 พันล้านบาท ในปี 2561 เป็น 6.68 พันล้านบาท ในปี 2567 โดยมีผลการศึกษาในไต้หวัน ระหว่างปี 2009–2012 ระบุว่ามูลค่าการจำหน่ายยารักษาโรคมะเร็ง ในยาเคมีบำบัดมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่ายารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) เพิ่มขึ้นจาก 6.24% ในปี 2552 เป็น 12.29% ในปี 2556 โดยกลุ่มยาเทคโนโลยีโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ที่ถูกพัฒนามาเป็นยารักษาโรค เพิ่มขึ้นจาก 2.75% เป็น 5.79% ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มลดลง ขณะที่กลุ่มยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและเทคโนโลยีที่มีราคาสูง มีแนวโน้มการใช้และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามอุบัติการณ์โรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง
ในรายงาน ยังระบุถึงสิทธิประโยชน์ด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย มีรายการยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ในปี 2562 เพียง 7 รายการ จาก 28 รายการ เช่น ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Dasatinib tablet), Imatinib tablet, Nilotinib capsule, Rituximab, Trastuzumab inj. เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าในการจัดหา 743 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 50.12% ของมูลค่าการจัดซื้อยาบัญชี จ(2) [ยาบัญชี จ(2) คือกลุ่มยาที่หายากหรือราคาแพงและมีการจัดการให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถเข้าถึงยาได้อย่างเสมอภาค] ทั้งนี้ ยังมีมูลค่าของการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งและมูลค่าการตรวจความจำเพาะต่อยา 67 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 4.54% ของมูลค่าการจัดซื้อจัดหายาบัญชี จ(2) ทั้งหมด ประเด็นท้าทายของเรื่องนี้ คือ เราจะพัฒนาสิทธิประโยชน์ยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น มีประสิทธิผล คุ้มค่า และเกิดความยั่งยืนในด้านงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพและประเทศได้อย่างไร
โดยข้อเสนอจากรายงานดังกล่าว ระบุว่า
ข้อเสนอจากการประชุมฯ มุ่งพัฒนาระบบยา ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง และความยั่งยืนของประเทศไทย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้