4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ปัญหาพัฒนาการ สู่แนวทางพัฒนาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

          ยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติเน้นการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยทุกคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสิ่งที่เด็กต้องมีคือ มีความรู้พื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีสมรรถนะขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน และสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งมีทักษะสมองการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น และความคิดสร้างสรรค์ โดยหมายรวมไปถึงเด็กในพื้นที่เสี่ยงผลกระทบจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนไปกับอาหารและน้ำดื่มจากห่วงโซ่อาหารในสิ่งแวดล้อมทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ เช่นพื้นที่อุตสาหกรรม มักส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ หรือภาวะการเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อรัง (กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค, 2558)  ทั้งนี้ในปี 2558 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดรอบๆ การประกอบกิจการเหมืองทอง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ต่อมาได้ทำการตรวจพบสารหนูในร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่ในปริมาณสูง ในปี 2559 คณะรัฐบาลมีมติให้ยุติการประกอบกิจการเหมืองทอง และให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ทำการประเมินภาวะสารหนู ระดับสติปัญญาหรือไอคิว และภาวะการบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กนักเรียน ประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของ 6 โรงเรียน ที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ เหมือง พบว่า ร้อยละ 35.6 (73 คน ใน 205 คน) มีสารหนูในร่างกายสูงกว่าปกติ (≥ 35 μg As/L) ร้อยละ 38.4 (83 คน ใน 216 คน)  มีไอคิวต่ำกว่า 90 ในเด็กที่ไอคิวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 40.6 (86 ใน 212 คน) มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กเมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้มีไอคิวต่ำลง ในเด็กที่ไอคิวปกติยังพบว่าสารหนูมีผลต่อสมองก่อให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้

          โครงการวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบจากสารอาร์เซนิก แมงกานีส ไซยาไนด์ และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จึงติดตามสถานการณ์ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางด้านครอบครัวและสังคมที่มีความสัมพันธ์กับภาวะพร่องดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาติดตามผลกระทบในปี พ.ศ. 2562 ในพื้นที่เสี่ยงอุตสาหกรรมหนักของจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ในเด็กวัยเรียนอายุ 8 - 13 ปี จำนวน 199 คน พบว่ากลุ่มเด็กดังกล่าวมีการรับสัมผัสสารหนูอนินทรีย์ในปัสสาวะมากกว่าเกณฑ์ปกติ (≥ 35 μg As/L) ลดลงจากร้อยละ 35.6 เหลือร้อยละ 4.5 (9 ใน 199 คน) ซึ่งลดลงเกือบ 12 เท่าตัว ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ทุกระดับชั้น และในทุกโรงเรียน และสัดส่วนความเสี่ยงของเด็กที่มีระดับสารหนูสูง ลดลงทุกระดับชั้น (ป.4 - ป.6) เมื่อเปรียบเทียบปี 2559 และปี 2562 ขณะที่เด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติพบ ร้อยละ 40.6 (86 คน ใน 212 คน) ไม่แตกต่างจากเดิม แต่เด็กที่ไอคิวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ลดลงจากร้อยละ 40.6 เป็นร้อยละ 22.22 (28 คน ใน 126 คน)  นอกจากนี้ปัญหาความบกพร่องด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กอาจมีผลเกิดจากสารหนู แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาความยากจน เพราะการยุติการประกอบกิจการเหมืองแร่ ส่งผลให้พ่อแม่เด็กขาดรายได้ ทำให้ต้องไปทำงานไกลขึ้น ขาดความใกล้ชิดกับลูก เด็กจำเป็นต้องอยู่กับปู่ย่าตายายมากขึ้น รวมถึงเด็กทำกิจกรรมการเล่นเชิงสร้างสรรค์ลดลง แต่ไปอยู่กับโซเชียลมีเดีย เล่นมือถือมากเกินไป จึงเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษก็ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไปในระยะยาว ควบคู่กับการขับเคลื่อนและดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบระดับสารหนูในสภาพแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ และมีการรายงานผลแก่สาธารณะให้รับรู้ข้อมูลได้โดยง่าย ชัดเจน  การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจากสารพิษต่างๆ การจัดหาพื้นที่เล่น/เรียนรู้ในชุมชนแก่เด็กและครอบครัวที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสติปัญญา  การเรียนรู้และรู้เท่าทันตนเองในการดูแลป้องกันตัวเองในสิ่งแวดล้อม/สารพิษในพื้นที่ที่อาศัยอยู่  การพัฒนาศักยภาพพ่อแม่โดยให้ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง  การพัฒนาศักยภาพครูในการพัฒนาทักษะสติปัญญา การเรียนรู้และรู้เท่าทันตนเองของเด็ก  การดำเนินนโยบายเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยง โดยมีการประเมินผลกระทบจากการรับสัมผัสสารโลหะหนักในเด็กอย่างต่อเนื่อง  ควรมีการเฝ้าระวังและค้นหาแหล่งกำเนิดของสารหนูอนินทรีย์และสารพิษอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม  หน่วยงานทางด้านการศึกษาในพื้นที่ควรมีการประเมินทักษะสติปัญญาการเรียนรู้ของเด็กเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาระบบและกลไกการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างครอบครัว ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่

งานวิจัย : โครงการวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบจากสารอาร์เซนิก แมงกานีส ไซยาไนด์ และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4 - 6
นักวิจัยหลัก : รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้