4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รู้เท่าทันวัณโรค ป้องกันตนเองในช่วงเทศกาล และลดการตีตราผู้ป่วย

          ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ เป็นช่วงสำคัญที่หลายๆ คนต่างเดินทางสัญจรกลับบ้าน หรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งแน่นอนว่าอาจต้องพบกับสภาพความแออัดที่มีผู้คนจากแหล่งต่างๆ หมุนเวียนกันไปมา และที่สำคัญเชื่อว่าการหยุดพักผ่อนยาวๆแบบนี้ คงไม่มีใครอยากจะนำเชื้อโรคติดตัวกลับมาบ้านด้วย ยิ่งทุกวันนี้หลายคนก็อดกังวลไม่ได้เพราะโรคติดเชื้อในปัจจุบันมีมากมาย โดยเฉพาะ “วัณโรค” โรคที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย แต่ที่กล่าวมานั้นก็ไม่ได้ให้ทุกคนตื่นตระหนก แต่เพื่อหันมาสร้างความตระหนัก เพราะโรควัณโรค หากรู้เท่าทัน มีความเข้าใจเกี่ยวที่ถูกต้อง เราก็จะมีพฤติกรรมและป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดเข้าใจที่ดีต่อผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดการตีตราหรือรู้สึกลบต่อผู้ป่วยได้อีกด้วย ในวันนี้เรามาติดตามสาระดีๆ เพื่อให้การเดินทางสัญจรกลับบ้าน/พักผ่อนหย่อนใจในช่วงปีใหม่นี้ เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยจากวัณโรคกัน

 

 

 

สถานการณ์ “วัณโรค” ในประเทศไทย

  • วัณโรค หรือ Tuberculosis (TB) เป็นโรคติดต่อเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในโลกเป็นเวลานานกว่า 4,000 ปี แล้ว
  • วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศในโลกที่มีภาระวัณโรค โดยเป็นวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก ปี 2559 ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ 119,000 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี 10,000 ราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 4,700 ราย นอกจากนี้ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้รายงานผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทยปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค (ผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) 70,114 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี 6,794 รายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11 ของผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อเอชไอวี วัณโรคดื้อยาหลายขนาน 955 ราย และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก 13 ราย ซึ่งการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันและรักษาให้ได้อย่างรวดเร็วเป็นการตัดวงจรการแพร่วัณโรคและลดการเสียชีวิตได้[1]

        

เกี่ยวกับ “วัณโรค”

         วัณโรคที่เป็นกันมากที่สุดและเป็นชนิดที่ติดต่อกันได้คือ “วัณโรคปอด” โดยผู้ที่ป่วยจะมีอาการ ไอเรื้อรังอยู่เป็นเวลานานเกิน 2 สัปดาห์ หรือไอแล้วมีเลือดปนออกมากับเสมหะ มีไข้ น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีเหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน เจ็บหน้าอก นอกจากนี้ วัณโรคยังเกิดได้กับหลายส่วนของร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า “วัณโรคนอกปอด” แต่เป็นชนิดที่ไม่สามารถติดต่อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

         จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกาย โดย...

         คนไข้วัณโรคที่ไม่ได้รักษาจะแพร่เชื้อโดยการไอ จาม หรือขากเสมหะ ส่วนคนทั่วไปหายใจเอาละอองอากาศที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปถ้าร่างกายติดเชื้อวัณโรค แต่มีภูมิต้านทานดี เขาจะเป็น “ผู้ติดเชื้อวัณโรค” ที่

  • เชื้อวัณโรคถูกควบคุมไม่ให้ออกฤทธิ์ได้ แต่แอบแฝงในร่างกาย โดยไม่ทำให้ป่วย
  • ไม่มีอาการป่วย
  • แพร่เชื้อวัณโรคให้ผู้อื่นไม่ได้

          ถ้าร่างกายติดเชื้อวัณโรค แต่มีภูมิต้านทานไม่ดี เขาจะเป็น “ผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรค” ที่

  • มีอาการป่วยและสามารถแพร่เชื้อวัณโรคให้ผู้อื่นได้ ถ้าไม่รักษา
  • ถ้ากินยารักษาวัณโรคอย่างถูกต้อง เขาจะหายป่วยได้ แต่ต้องใช้ยา 4 ชนิด กินอย่างน้อย 6-9 เดือน
  • กินยารักษาวัณโรคไปเกิน 3 อาทิตย์ ยาจะควบคุมเชื้อวัณโรคไม่ให้แพร่ไปติดต่อคนอื่นได้

 

 

การรักษา การดูแลและป้องกันตนเอง เพื่อลดความเสี่ยง – หลีกเลี่ยงวัณโรค

  • เชื้อวัณโรคชอบความชื้น ความทึบ และชอบที่แออัดไม่มีอากาศถ่ายเท รวมถึงบรรยากาศของห้องหรือสถานที่ติดแอร์ หากอยู่ในสภาพเช่นนี้เชื้อวัณโรคจะสามารถล่องลอยในอากาศ และมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นปีๆ ขณะที่ “สายลมและแสงแดด” คือสิ่งที่เชื้อวัณโรคกลัว เพราะการระบายอากาศที่ดีจะทำให้จะทำให้เชื้อวัณโรคถูกลมพัดออกไป และแสงแดดจัดสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที
  • สำหรับการป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุด คือ การตรวจหาและรักษาคนไข้วัณโรคให้เร็วที่สุด เพราะคนไข้ที่กินยารักษาวัณโรคไปได้ 2-3 สัปดาห์ อาการไอจะลดลง ความสามารถในการแพร่เชื้อวัณโรคให้ผู้อื่นก็จะลดลงตามมา
  • การตรวจหาวัณโรค จะต้องตรวจร่างกาย อาการที่ปรากฎภายนอกไม่สามารถยืนยันว่าป่วยเป็นวัณโรคปอดได้ โดยจะต้องเก็บเสมหะ (ไม่ใช่น้ำลาย) ของผู้ที่มีอาการน่าสงสัยส่งตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาเชื้อและเพาะเชื้อวัณโรค ซึ่งแพทย์อาจจะพิจารณาผลการ X-Ray ร่วมด้วย เป็นต้น
  • การให้วัคซีนบีซีจีแก่เด็กทารกแรกเกิด ไม่สามารถป้องกันเด็กจากวัณโรคได้อย่างเด็ดขาด แต่สามารถป้องกันไม่ให้เด็กป่วยเป็นวัณโรคชนิดรุนแรง เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้นการป้องกันเด็กจากวัณโรคที่ดีที่สุด คือการรักษาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ใหญ่ให้หาย
  • ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะการติดเชื้อเอชไอวีจะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มาก
  • ที่สำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างนี้ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพราะมีโอกาสรับเชื้อวัณโรคได้ เช่น ตลาด โรงหนัง รถโดยสารประจำทาง เครื่องบิน ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ชุมชน เป็นต้น

 

 

ความรู้ความเข้าใจ “วัณโรค” ที่ถูกต้องจากงานวิจัย เพื่อป้องกันโรคและลดการตีตราผู้ป่วย

          ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย “โครงการพัฒนาคู่มือและเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความครอบคลุมในการค้นหาผู้สัมผัสวัณโรคและลดผลกระทบทางสังคมแก่ผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค” โดยการสนับสนุนของ สวรส. จากการวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการตีตราทางสังคมของวัณโรคและการค้นหาผู้สัมผัสวัณโรคในชุมชน ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และที่ทำงาน พบว่า ผู้ป่วยวัณโรคมีความเสี่ยงสูงในการแพร่วัณโรคให้แก่ผู้สัมผัสที่โรงเรียนและโรงพยาบาล เป็นต้น

          โดยผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว ในหัวข้อความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการตีตราทางสังคมต่อวัณโรค พบประเด็นความเข้าใจผิด ที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลวิจัยที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น

          ความเข้าใจผิด ว่าวัณโรคเป็นโรคที่น่ารังเกียจ โดยมีการตีตราทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและสังคม ส่วนใหญ่เลือกที่จะปิดบังเรื่องการป่วยเป็นวัณโรคกับคนนอกครอบครัว

          ข้อมูลข้อค้นพบจากการวิจัย การตีตรา คือ ความรู้สึกที่เป็นลบ รู้สึกว่าคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองลดน้อยลง รู้สึกเป็นที่รังเกียจหรือไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งอาจเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดไปเอง หรือการมีผู้อื่นแสดงอาการรังเกียจ และปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรคที่แตกต่างไปจากผู้อื่น

          พฤติกรรมจากความเข้าใจ/ความเชื่อที่ผิด

  • ตัวอย่างการตีตราวัณโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง เช่น การคิดว่าถ้าผู้อื่นรู้ว่าตนเองเป็นวัณโรค จะรังเกียจ
  • ตัวอย่างพฤติกรรมของสังคมที่เกิดจากตีตราวัณโรคที่เกิดขึ้นจริง เช่น การไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยวัณโรค การให้ออกจากงาน การไม่ซื้ออาหารที่ผู้ป่วยวัณโรคทำ เป็นต้น

          ผลของการตีตราทำให้มีผลต่อการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยปิดบังเรื่องวัณโรค ทำให้ผู้สัมผัสร่วมบ้าน หรือผู้สัมผัสในเครือข่ายสังคมไม่ได้รับการคัดกรองวัณโรค นอกจากนี้ ผู้ที่สัมผัสวัณโรค ปฏิเสธการคัดกรองเพราะเกรงว่าหากตรวจพบวัณโรคจะทำให้ถูกรังเกียจ

           ข้อเสนอจากงานวิจัย สวรส. ควรให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อลดการตีตรา เช่น วัณโรค ทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาช้า แต่หากได้รับการคัดกรองและรับการรักษารวดเร็ว ถึงแม้จะติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย ก็สามารถที่จะรักษาวัณโรคให้หายได้ โดยคนไข้ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่หากคนไข้วัณโรคไม่ได้รับการรักษาหรือรับการรักษาช้ามาก คนไข้อาจจะเสียชีวิตได้

          -----------------------------------------------------

          ความเข้าใจผิด เชื่อว่าวัณโรคติดต่อจากการกินอาหารร่วมกัน

           ข้อมูลข้อค้นพบจากการวิจัย วัณโรคไม่ได้ติดต่อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน แต่มีโรคหลายโรคที่ติดต่อกันทางน้ำลาย เช่น แผลเริมที่ปาก แผลร้อนใน ไวรัสตับอักเสบ ทั้งนี้ วัณโรค เป็นโรคติดต่อทางลมหายใจจากคนสู่คน เกิดจากเชื้อวัณโรคซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้รับการรักษาจะแพร่เชื้อวัณโรคผ่านทางละอองเสมหะโดยการไอ จาม การขากเสมหะ หัวเราะ หรือการพูดคุย

           ข้อเสนอจากงานวิจัย สวรส. ควรให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น เพื่อสุขอนามัยของทุกคน เมื่อร่วมวงกินอาหารด้วยกัน ควรเตรียมช้อนให้เพียงพอกับจำนวนคน และต้องใช้ช้อนกลางตักอาหารที่ต้องกินร่วมกันและมีแก้วน้ำแยกคนละใบ และใช้ผ้าปิดปากและจมูกมิดชิดเวลาไอหรือสวมหน้ากากอนามัย

          -----------------------------------------------------

           ความเข้าใจผิด ว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคจะไม่เป็นวัณโรค

           ข้อมูลข้อค้นพบจากการวิจัย “วัณโรค” มีโอกาสรับเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ ที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษาปะปนอยู่ โดยงานวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า คนไข้วัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษามีการเดินทางอย่างกว้างขวาง ด้วยรถปรับอากาศและเครื่องบิน โดยผู้ที่อยู่ในรถหรือเครื่องบินกับผู้ป่วยวัณโรคนานเกิน 10 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อวัณโรค

           ข้อเสนอจากงานวิจัย สวรส. ควรหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงหรือสถานที่แออัด ไม่มีการระบายอากาศและไม่มีแสงแดดส่อง เป็นต้น

          -----------------------------------------------------

         ความเข้าใจผิด ว่าเมื่อรับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกายจะแสดงอาการภายใน 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ เหมือนโรคไข้หวัดหรือท้องร่อง

          ข้อมูลข้อค้นพบจากการวิจัย “วัณโรค” เป็นโรคติดต่อ แต่วัณโรคไม่ใช่โรคติดต่อเฉียบพลัน ที่จะทำให้ป่วยวัณโรคได้ภายใน 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ โดยคนที่ร่างกายมีภูมิต้านทานดี เมื่อร่างกายได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไป จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรคแต่เชื้อจะถูกควบคุมไม่ให้ออกฤทธิ์ได้ แต่แอบแฝงในร่างกาย ทำให้ไม่มีอาการป่วย และไม่แพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่น

          ข้อเสนอจากงานวิจัย สวรส. ควรตรวจหาวัณโรคด้วยการตรวจร่างกาย

 

[1] มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์, หลักสูตรและประมวลรายวิชาการสื่อสารเพื่อเพิ่มความครอบคลุมในการค้นหาผู้สัมผัสวัณโรค (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2561), หน้า 11

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้