4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

อีกบทเรียนที่ต้องถอด "เกิดพิบัติภัย" ต้องไม่ลืม"คนพิการ"-เดลินิวส์

          เหตุการณ์ 'น้ำท่วมใหญ่" ในประเทศไทยในปี 2554 นี้ นอกจากในมุมของภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยากจะต้านทานแล้ว กับมุมการบริหารจัดการ การช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนการฟื้นฟู เกิด 'บทเรียน" ให้กับผู้เกี่ยวข้องมากมาย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายรัฐระดับต่าง ๆ ส่วนต่าง ๆ ที่คงไม่เงียบลงง่าย ๆ แน่
         
          การ 'ถอดบทเรียน" จากภัยครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ และกรณี 'คนพิการ" ก็เป็นอีกบทเรียน ที่ต้องถอด

          "สถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมประเทศไทยในครั้งนี้ มีผู้คนจำนวนมากต้องทุกข์ยากลำบาก คนพิการก็เช่นกัน นับตั้งแต่การรับรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำ การเตรียมการป้องกัน การจะตัดสินใจอพยพ การขอความช่วยเหลือก็ทำได้อย่างยากลำบาก การช่วยเหลือคนพิการในแต่ละประเภทอาจต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคเฉพาะ ตามประเภทความพิการ ไม่ว่าจะเป็นหูหนวก ตาบอด พิการทางการเคลื่อนไหว".นี่เป็นข้อเท็จจริงที่มีการระบุไว้ แต่ก็ยังดีที่ยังพอจะมีการช่วยคนพิการอยู่บ้าง


          ทั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น ก็มีการพยายามช่วยให้คนพิการรอดพ้นภัยพิบัติไปพร้อม ๆ กับคนปกติ โดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเปิดบริการพิเศษเพื่อช่วยเหลือคนพิการหูหนวก โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัย ที่ชั้น 12 อาคารไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ ซึ่งจากการเปิดเผยไว้เมื่อบ่ายวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการช่วยคนพิการได้ไม่น้อย
         
          นี่เป็นบทเรียนในมุมของ 'กรณีศึกษาที่น่าพิจารณา" เพื่อ 'ช่วยเหลือคนพิการยามเกิดพิบัติภัย" ให้ทั่วถึง

          กับกรณีศึกษาดังกล่าวนี้ พิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช. เผยไว้ว่า.จากการที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ TTRS ที่มีสำนักงานอยู่ที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2554 ส่งผลให้จำเป็นต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ทาง กสทช. เนคเทค บริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทยจำกัด (มหาชน) และบริษัทชีวาเลียร์ (ประเทศไทย) จึงได้ร่วมกันเปิดศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัย

          ศูนย์นี้ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการคนหูหนวกซึ่ง มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร การรับรู้ข้อมูล ซึ่งทำให้ไม่สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วม การช่วยเหลือจากภาครัฐ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐ รวมถึง มีอุปสรรคในการร้องขอความช่วยเหลือ โดยศูนย์นี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ช่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (ล่ามภาษามือ) 8 คน ใน 2 ช่วงเวลาคือ 08.30-15.30 น. และ 15.30-21.00 น. พร้อมทั้ง จัดทีมประชาสัมพันธ์ ทีมติดต่อประสานงาน ทีมลงพื้นที่ ทีมงานกลาง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ คนหูหนวกที่ประสบภัยน้ำท่วม

          การทำงานของศูนย์นี้ มีการประสานกับทางสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะมีการจัดทำฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารของสมาชิกคนหูหนวก เพื่อให้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยคนหูหนวกที่ต้องการใช้บริการสามารถติดต่อได้ที่ บริการ เอสเอ็มเอส และเอ็มเอ็มเอส ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-8504-4258 หรือบริการผ่านทางเว็บไซต์ www.ttrs.or.th โดยเลือกใช้บริการสนทนาข้อความหรือบริการสนทนาวีดิทัศน์ รวมถึงบริการผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อ TTRS Thailand.นี่เป็นโดยสรุปเกี่ยวกับศูนย์ช่วยคนหูหนวกที่ประสบภัย

          ขณะที่ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ บอกไว้ว่า.การเปิดศูนย์พิเศษเพื่อให้บริการสำหรับคนพิการในภาวะที่ประเทศประสบภัยน้ำท่วม ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เวลาที่มีหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน เข้าไปแจกสิ่งของที่มีความจำเป็น คนหูหนวกจะได้ไม่เสียสิทธิที่ควรจะได้รับ ทำให้คนหูหนวกเดินทางมารับสิ่งของได้ทัน

          ด้าน ยงยุทธ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกฯ ก็ระบุไว้ว่า.เพราะไม่สามารถรับทราบข้อมูล ซ้ำร้ายเมื่อมีการให้การช่วยเหลือก็จะเป็นคนท้าย ๆ ที่ได้รับ หรือบางทีก็ไม่ได้รับเลย เพราะไม่สามารถสื่อสารเพื่อร้องขอการช่วยเหลือได้ ดังนั้น การที่มีศูนย์ช่วยคนหูหนวกในเหตุภัยพิบัติจึงถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก และจะดียิ่งขึ้นหากระบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอด นอกจากอุทกภัยแล้วอาจจะเพิ่มเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่น ๆ ด้วย

          ทั้งนี้ จากที่แจกแจงมา นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการ 'ช่วยคนพิการยามเกิดพิบัติภัย" ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่ผู้บริหารบ้านเมืองตั้งแต่ระดับประเทศลงไปจนถึงระดับท้องถิ่น ควรให้ความสำคัญ มีการเตรียม-มีการทำให้ครอบคลุม กับกลุ่มคนพิการทุกประเภท ภัยพิบัติทุกรูปแบบ

          เรื่องนี้เป็นอีก 'บทเรียน" ที่ 'ต้องถอด" กันอย่างจริงจัง
          'คนพิการ" ก็ 'เป็นพลเมือง" และรัฐยิ่งต้องใส่ใจดูแล!!.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้