4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ความร่วมมือและการจัดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประชากรต่างด้าว ป้องกันปัญหาสุขภาพ

         เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “สถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อในประชากรต่างด้าว” กระทบไทย หรือไม่ ?? โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจับมือจัดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคคนต่างด้าว ป้องกันสุขภาพคนไทย พร้อมผลักดันวิจัยเพื่อการพัฒนานโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายการติดตามรักษาคนต่างด้าว เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ และภูมิภาค

 

 

ความสำคัญจำเป็นของการดูแลสุขภาพประชากรต่างด้าวในประเทศไทย

          กลุ่มคนต่างด้าว นับเป็นกลุ่มประชากรที่มีคุณประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย คนกลุ่มนี้ยังมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจับจ่ายใช้สอยและบริโภคสินค้าในประเทศไทยทุกวัน โดยคาดประมาณว่า หากประชากรต่างด้าว 4 ล้านคน มีการใช้เงิน 50 บาทต่อคนต่อวัน จะมีเงินเข้าสู่งบประมาณแผ่นดินรวม 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจึงควรครอบคลุมกลุ่มคนต่างด้าวด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย

          ทั้งนี้ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศไทย นับเป็นพันธสัญญาหนึ่งในด้านสุขภาพของประเทศไทยที่สอดคล้องกับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากวัคซีนคือเครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและคุ้มทุนในการป้องกันโรคหากมีการจัดระบบการให้บริการที่ครอบคลุมได้มากที่สุดหรืออย่างน้อยร้อยละ 90 ถึง 95   ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้จัดบริการให้เด็กไทยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 10 ชนิดภายใต้แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ซึ่งจากการสำรวจความครอบคลุมของวัคซีนพื้นฐานในกลุ่มเด็กไทย ล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 พบว่าวัคซีนพื้นฐานส่วนใหญ่มีความครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 95 ยกเว้นความคลอบคลุมวัคซีนหัด หัดเยอรมันและคางทูมในเข็มที่ 2 ที่ควรได้รับเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง มีความครอบคลุมเพียงร้อยละ 86 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้คือร้อยละ 95 ทั้งนี้ภายใต้บริบทของประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานได้ยาก นอกเหนือจากกลุ่มเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และประชากรต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เนื่องจากประชากรกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม

          ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเพื่อทบทวนระบบบริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย พบว่า ผู้บริหารและผู้ให้บริการสุขภาพมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อให้วัคซีนครอบคลุมทุกคนในประเทศไทย หากแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดหาวัคซีนพื้นฐานให้เพียงพอโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากประเทศไทยมีคลังวัคซีนเดียวจากงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และวัคซีนเป็นเวชภัณฑ์ที่ต้องมีระบบจัดหาและบริหารจัดการที่ยากกว่าเวชภัณฑ์ทั่วไป เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพ เพียงพอ ทันเวลาและไม่ขาดแคลน  รวมถึงการที่กองทุนหลักประกันสุขภาพระบุให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กไทยเท่านั้น จึงมีการตรวจสอบการใช้วัคซีนอย่างเข้มข้น ส่งผลให้พบปัญหาในการเบิกวัคซีนจนกระทั่งเกิดการระบาดของหัดและคอตีบในพื้นที่ที่มีประชากรต่างด้าวอยู่หนาแน่น

ความพยายามการแก้ปัญหามุ่งไปที่การนำเงินกองทุนประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติม แต่ยังมีข้อติดขัดในด้านภารกิจของหน่วยงานและระเบียบราชการทำให้ยังไม่สามารถนำเงินไปใช้ได้ นอกจากนี้มีข้อเสนอทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายวัคซีนพื้นฐานเพื่อเด็กทุกคน ได้แก่ การปรับแนวคิดในด้านการป้องกันควบคุมโรคเพื่อให้คลังวัคซีนที่มีอยู่ ใช้ในเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ โดยให้กรมควบคุมโรคบริหารจัดการวัคซีนในเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยทั้งหมด พร้อมหาแนวทางปรับแก้โดยให้กองทุนที่มีเงินอยู่แล้ว สามารถนำมาสมทบเพื่อใช้จัดหาวัคซีนได้ สำหรับวัคซีนในผู้ใหญ่มีเป้าหมายให้เข้าถึงแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้นเพื่อการกวาดล้างหัด โดยการฉีดวัคซีนหัดที่บูรณาการกับระบบต่างๆ เช่น ในช่วงตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว กำหนดให้เป็นสิทธิประกันสังคม สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งการรณรงค์เชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มที่ไม่มีประกันสุขภาพและไม่มีเอกสารประจำตัว

 

 

ประเทศไทยมีมาตรการจัดให้มีการเข้าถึงวัคซีนที่มีความจำเป็นสำหรับทุกคนในประเทศไทย ภายใต้แนวิด Vaccine for all อย่างไร

          สำหรับทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายวัคซีนเพื่อทุกคนนั้น จากการศึกษาวิจัยเพื่อทบทวนระบบบริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย ได้วิเคราะห์ทางเลือกในการจัดหาวัคซีนพื้นฐานในเด็ก 3 ข้อเสนอหลัก ดังต่อไปนี้

          1. กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ นำเงินจากสองกองทุนไปจัดซื้อวัคซีนในระบบ VMI (Vender Managed Inventory)

          2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระจายวัคซีนพื้นฐานเพื่อทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในระบบ VMI ด้วยคลังวัคซีนเดียว

          3. กองป้องกันโรคด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค บริหารจัดการวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด โดยการจัดซื้อวัคซีนและบริหารคลังวัคซีนเอง และจัดซื้อรวมในระบบ VMI ร่วมกับ สปสช. เป็นระบบคลังวัคซีนเดียว

 

อะไรคือความท้าทายในเรื่องนี้

          การบรรลุเป้าหมายวัคซีนถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยถือเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการติดตามรักษา ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงต้องตกผลึกความเข้าใจในประเด็นต่อไปนี้ คือ

         1) ควรมุ่งสรรพกำลังความคิดและการดำเนินงานที่สุขภาพถ้วนหน้าหรือวัคซีนเพื่อทุกคน ก่อนที่จะมุ่งไปที่การทำให้ทุกคนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า

         2) แสวงหาวิธีการบริหารจัดการภายใต้ระบบ ระเบียบ วิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสุขภาพที่เข้มงวด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายหลักคือวัคซีนถ้วนหน้า

         3) เท่าทันมายาคติที่ว่า “ประชากรต่างด้าวไม่ควรได้รับบริการสุขภาพและสังคมเพราะไม่เสียภาษี” เพราะแท้ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกวัน  ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากพอสมควรต่อสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน

 

 

สวรส. จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไร

          บทบาทสำคัญของ สวรส. ด้านหนึ่งภายใต้แผนงานประชากรข้ามชาติ โดยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพและกลไกการบริการสุขภาพ โดยนำข้อมูลจากงานวิจัยเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนานโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประชากรต่างด้าว โดยองค์การอนามัยโลกหวังว่าข้อมูล รวมถึงข้อเสนอและทางเลือกจากงานวิจัยจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และพัฒนาไปสู่นโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของคนต่างด้าวที่ส่งผลให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ภายใต้การจัดการด้านการเงินการคลังสุขภาพที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนที่มีความจำเป็นสำหรับทุกคนในประเทศไทย หรือ Vaccine for all เพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า หรือ health for all ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทยและภูมิภาคต่อไป 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้