ข่าว/ความเคลื่อนไหว
มือสะอาด-ร่างกายสะอาดป้องกันโรค
'มือ'เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สัมผัสกับร่างกายของตนเอง และสิ่งแวดล้อมทั่วๆไป ถ้ามือสกปรกก็จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ โดยมืออาจเปรอะเปื้อนสิ่งสกปรก เช่นขยะมูลฝอย อาหารดิบ ฯลฯ
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีโอกาสที่จะใช้มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของตัวเองและเชื้อจะไปปนเปื้อนกับสิ่งของรอบๆ ตัวทำให้คนอื่นๆ ที่ใช้มือหยิบจับสิ่งของเหล่านั้นได้รับเชื้อโรคแล้วนำเข้าสู่ร่างกายเมื่อใช้มือมาจับ ดังนั้นจึงต้องดูแลรักษาให้"มือสะอาดและมีสุขภาพดี" ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ กรณีมีแผลที่มือและนิ้วมือต้องรักษาให้หายหรือใส่ยา ปิดปลาสเตอร์ไว้และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือทุกครั้ง
- หลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก- ก่อนและหลังจากสัมผัสผู้ป่วย- ก่อนรับประทานอาหาร-ก่อนและหลังการเตรียม และป้อนอาหารให้
วิธีที่ง่ายสะดวก และประหยัดที่สุดคือการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยถูซอกนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ และรอบข้อมือให้ทั่วถึง แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
การดูแลบาดแผล
บาดแผลที่ดูแลไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น แผลติดเชื้อจากแบคทีเรีย เกิดหนอง เป็นแผลเรื้อรัง เกิดการเน่าของเนื้อเยื่อจนบางครั้งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป หรือเสียชีวิตได้ การปฏิบัติเมื่อเกิดบาดแผลมีดังนี้
- แผลข่วน แผลถลอกหรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก จะมีเลือดออกเล็กน้อย และหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทำความสะอาดบาดแผล โดยใส่ยาฆ่าเชื้อเช่น เบตาดีน และปิดปากแผล แผลก็จะหายเอง
- แผลฉีกขาดเป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทก หากเป็นวัสดุที่ไม่มีคม แผลมักฉีกขาดขอบกะรุ่งกะริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อถูกทำลายและมีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึกมากควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรค
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์ แมลงมีพิษกัด
'งูกัด'เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจพบได้กรณีน้ำท่วม ผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น ดังนี้
- ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัดบางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่ได้รับพิษ เพราะบางครั้งงูพิษกัด แต่ไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ คือ กรีดแผลดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล
- เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด การเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึดหรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก หรือข้อมือ ข้อเท้าซ้น
- ไม่ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตาย
- นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด
- ระหว่างการนำส่ง ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจช่วยให้หายใจ เช่น การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอที่จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางอย่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ
โรคติดต่อที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด
'โรคผิวหนัง'ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพอง เป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน
อาการในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่นระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็นถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ตกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดเท้าให้แห้งสวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หลังย่ำน้ำใช้น้ำสะอาดใส่ถัง เกลือแกง 1-2 ช้อนชา แช่เท้า 10 นาที เช็ดให้แห้งและหากมีอาการเท้าเปื่อย คัน ให้ทายารักษาตามอาการ หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อเช่น เบตาดีน
ถ้าป่วยเป็น 'โรคตาแดง' การดูแลตนเองเบื้องต้นนั้นเมื่อมีอาการของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา หรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยใช้ติดต่อกันประมาณ 7 วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกันและไม่ควรไปในที่มีคนมาก เพื่อไม่ให้โรคแพร่
ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลาภายใน1 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง
สำหรับ 'โรคอุจจาระร่วง' หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมต่อได้ตามปกติ พร้อมป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมผงชง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป
ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม หรือ 750 ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆทดแทนน้ำและเกลือแร่ หากดื่มไม่หมดใน 1 วัน ให้เททิ้ง
หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชักหรือซึมมาก ต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว
ข้อมูลจาก : คู่มือประชาชนสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม,สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
อาหารสุก-สะอาดปลอดภัย
การใส่ใจอาหารที่รับประทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง ภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร ภาชนะใส่อาหาร ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ เก็บรักษาอาหารให้มิดชิดปลอดภัยจากแมลงวันและสัตว์นำโรคเป็นสิ่งสำคัญ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ต้องมีพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้องคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย
ในสถานการณ์น้ำท่วม หากได้รับอาหารกล่อง หรืออาหารบรรจุถุงพร้อมบริโภค ควรกินภายใน 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บอาหารไว้นานๆ ข้ามมื้ออาหาร สังเกตลักษณะสภาพ สี กลิ่นของอาหารว่า บูดเสีย หรือไม่ หากอาหารมีลักษณะผิดปกติ ห้ามชิมหรือกิน ให้ทิ้งในถุงดำ และนำไปกำจัดต่อไป หากต้องนำอาหารค้างมื้อมากินควรอุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อน
อาหารจากการบริจาค เช่น อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง ก่อนจะบริโภค ควรตรวจวันหมดอายุ หรือดูสภาพ สีกลิ่นและภาชนะบรรจุ หากหมดอายุหรือมีลักษณะผิดปกติให้ทิ้งทันที
น้ำดื่ม-น้ำใช้สะอาด
วิธีการทำน้ำดื่ม-น้ำใช้ให้สะอาด
1. ต้มให้เดือดนาน 5 นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ และช่วยทำลายความกระด้างของน้ำได้ น้ำที่นำมาต้มควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอนแล้ว
2. ใช้สารส้มกวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัว นำสารส้มออกใช้มือเปล่ากวนน้ำต่ออีก1-2 นาที ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน ใช้สายยางจุ่มไปที่ก้นภาชนะบริเวณที่เกิดตะกอน ดูดตะกอนออกจนหมด เหลือแต่น้ำใส เติมคลอรีนตามปริมาณและวิธีการที่กำหนดก่อนการนำไปใช้
3. การใช้คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำทำได้โดย - คลอรีนชนิดผง ผสมผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วนคลอรีน 1/2 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมในน้ำสะอาด 10 ปี๊บ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีก่อนนำไปใช้
- คลอรีนชนิดเม็ด มีหลายขนาด เช่น ขนาด 2.5 กรัม 3 กรัม หรือ 5 กรัมต่อเม็ด ให้ผสมน้ำในสัดส่วนตามฉลากที่ระบุไว้ข้างกระป๋อง
- คลอรีนชนิดน้ำ ใช้หยดลงในน้ำ 1-2 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร4. ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด และจัดให้มีภาชนะที่สะอาดสำหรับตักน้ำ ในกรณีใช้น้ำดื่มบรรจุขวด จะต้องดูตราเครื่องหมาย อย. (ก่อนดื่มให้สังเกตความสะอาดของน้ำภายในขวดว่ามีสิ่งปลอม ปนหรือไม่) ควรทำลายขวด ภาชนะบรรจุโดยทุบบีบให้เล็กลง ก่อนนำไปทิ้งในถุงดำ เพื่อง่ายและสะดวกต่อการนำไปกำจัด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 หน้า 1
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้