4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“วิกฤตสถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชากรข้ามชาติ” “ความจริง” ที่ยังไม่เคยรับรู้

         สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคี จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 “สุขภาพคนข้ามชาติ ความจริงกับสิ่งที่รับรู้” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ  มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

          จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ที่จำนวนและความหลากหลายของสภาพปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยประชากรข้ามชาติได้เข้ามาอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชากรในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธถึงผลกระทบทางสุขภาพและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับปัญหาสุขภาพที่แยกขาดจากกันได้ ทั้งนี้ การศึกษาสถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทย (โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ)  รายงานภาระโรคปี 2559 ระบุรายงานการตรวจคัดกรองสุขภาพจากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในปี 2557 และปี 2559 พบภาวะสุขภาพที่พบเป็นอันดับต้นๆ ในคนต่างด้าว ได้แก่ การตั้งครรภ์ และวัณโรค นอกจากนี้ ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ปี 2560 พบว่า โรคติดต่อในคนต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา มีรายงานเข้ามามาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วง ไข้หรือไข้ไม่ทราบสาเหตุ และโรคปอดบวม/ปอดอักเสบ และจากรายงานสถานการณ์และความเปราะบางด้านสุขภาวะเด็กข้ามชาติในประเทศไทย (โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประเมินว่าเด็กข้ามชาติในประเทศไทยมีประมาณ 2.5 แสนคน โดยมีประกันสุขภาพสาธารณสุขเพียง 4.7 หมื่นคน แม้ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ทั้งการจดทะเบียนและให้ใบรับรองการเกิด การให้วัคซีนป้องกันโรค  แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่พบว่ามีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยไม่มีเอกสารประจำตัว ส่วนหนึ่งมีภาวะทุพโภชนาการ  และจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับเด็กข้ามชาติที่อาจเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งระบบไม่ครอบคลุมเด็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงาน หรืออยู่นอกระบบ เป็นต้น

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการความร่วมมือระหว่างและภายในประเทศ โดยหน่วยงานหลายภาคส่วน แต่ความท้าทายของการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยขจัดอุปสรรคในการเข้ารับบริการทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประเด็นท้าทายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคติดต่อที่เคยป้องกันได้และกลับมาอุบัติใหม่  ตลอดจนโรคติดต่อสำคัญ  ระบบการจัดการและเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศสุขภาพแรงงานต่างด้าว เด็กข้ามชาติที่มีหลากหลายกลุ่มหลายสถานะ ขณะที่กลไกอภิบาลระบบและนโยบายเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานยังขาดเจ้าภาพหลัก  กลุ่มประชากรชาวเขา/ชายแดนหรือราษฏรบนพื้นที่สูงไม่มีสัญชาติไทย เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ  รวมทั้งยังต้องพัฒนาวิธีการสากลเพื่อให้บริการด้านสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนสำหรับประเทศไทย”

          ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “สำหรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายระยะ 20 ปี กำหนดว่าประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งบุคคลที่มีปัญหาสถานะสิทธิและคนต่างด้าว จะต้องได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ และภายในระยะเวลา 5 ปี (2561- 2565) ต้องมีระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย ตลอดจนมีร่างกฎหมายสำหรับระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในประเทศไทย ป้องกันและลดความเสี่ยงทางสุขภาพจากการระบาดของโรคติดต่อในประเทศไทย รวมทั้งลดปัญหาการเงินการคลังสุขภาพทั้งของผู้ป่วยข้ามชาติและของสถานพยาบาลที่ให้บริการในอนาคต”

          ทั้งนี้ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 สรุปสาระสำคัญจากการประชุมฯ ว่า “เป็นการระดมข้อมูลสถานการณ์สำคัญที่ได้จากการค้นพบจากงานวิจัยและการปฏิบัติการของคนทำงานกับกลุ่มประชากรข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทั้งคนทำงานที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในระดับประเทศและสากล เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาสุขภาพ ซึ่งมีประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายและการวิจัย ดังนี้

          1) การอภิบาลระบบ ควรจัดให้มีกลไกการอภิบาลระบบและนโยบายประชากรข้ามชาติ, เน้นเงื่อนไขการตรวจสุขภาพของแรงงาน โดยเฉพาะโรคติดต่อที่จำเป็นจากประเทศต้นทางก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย, พัฒนาระบบการส่งต่อ การติดตามประเมินผลการรักษาของผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข ควรปรับปรุงระเบียบการจ้างงานพนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.) และพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการสุขภาพและ พสต./อสต. ในระดับพื้นที่
          2) ระบบบริการ/กำลังคน ควรปรับระบบบริการการดูแลสุขภาพอย่างมีมนุษยธรรม “Humanized Health Care” ให้สอดรับกับความหลากหลายของประชากรข้ามชาติ, การคัดเลือกคนบนพื้นที่สูงมาเรียนและให้กลับไปทำงานในพื้นที่, การศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพและวิจัยดำเนินงาน
          3) ระบบการเงินการคลัง/ประกันสุขภาพ ควรมีหลักประกันสุขภาพสำหรับบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะโรคติดต่อ เช่น วัคซีนพื้นฐาน (EPI) วัณโรค เป็นต้น, พัฒนาระบบการจัดประกันสุขภาพประชากรข้ามขาติที่บูรณาการและมีประสิทธิภาพ, วิจัยติดตามประเมินภาวะสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ

          ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่ สวรส.จะนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ปัญหาสุขภาพของประชากรข้ามชาติที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อน โดยใช้องค์ความรู้จากการวิจัยในการกำหนดทิศทางและบูรณาการการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ รวมทั้งใช้ข้อมูลในการตัดสินใจและขับเคลื่อนการทำงานในแต่ละระดับ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต่อสู้กับความท้าทายของปัญหาสุขภาพประชากรข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

รวม Link ข่าวทางสื่อโทรทัศน์

สุขภาพประชากรข้ามชาติ ปัญหาท้าทายระบบสาธารณสุข | ThaiPBS | จับตาสถานการณ์ | 12 ธ.ค.62 
https://www.youtube.com/watch?v=FWNNBF9U0Bc&t

คนข้ามชาติเข้าไม่ถึงวัคซีนขั้นพื้นฐาน | ThaiPBS | จับตาสถานการณ์ | 12 ธ.ค.62
https://www.youtube.com/watch?v=MSD9Vh5vxrE&t

ทิศทางพัฒนาสุขภาพประชากรข้ามชาติ | Mono29 | เปิดโลกเช้านี้ | 19 พ.ย.62
https://www.youtube.com/watch?v=PUfAtoL2xw0

วิกฤตสุขภาพแรงงานข้ามชาติ | CH 7 HD | ข่าวดึก | 19 พ.ย.62
https://www.youtube.com/watch?v=pqxLN_-Ylbg&t

รายงานวิกฤตสุขภาพประชากรข้ามชาติ | TNN16 | ข่าวค่ำ | 18 พ.ย.62
https://www.youtube.com/watch?v=jAlvm8zWzRQ&t

ทิศทางพัฒนาสุขภาพประชากรข้ามชาติ | ThaiPBS | จับตาสถานการณ์ข่าว | 18 พ.ย.62
https://www.youtube.com/watch?v=D-boHG6oEx8

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้