4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

หยุดรอ 1 ปี - ทวีการสูญเสีย “เสียการได้ยิน-สูญค่ารักษา-เสียพัฒนาการ-สูญอนาคตลูกหลานอนาคตประเทศไทย” วิจัยเริ่มเพื่อชวนเร่ง-ร่วมแก้ปัญหาการได้ยิน เพื่อพัฒนาการเด็กและสังคมไทย

          ด้วยเพราะมนุษย์คนหนึ่งจะเรียนรู้และเติบโตในแต่ละช่วงวัย จำเป็นต้องมีการรับรู้สิ่งต่างๆ จากการฟัง พูด อ่าน เขียน การได้ยินจึงเป็นส่วนหนึ่งของทักษะพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุน พัฒนาการเรียนรู้และการได้ยินให้เป็นไปอย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรกว่า 360 ล้านคนทั่วโลกสูญเสียการได้ยิน โดยเกือบ 32 ล้านคนเป็นเด็ก และในจำนวนเด็กทั้งหมดที่พิการทางการได้ยิน อย่างน้อย 31 ล้านคนอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ นอกจากนั้น 1 ใน 5 ของเด็กที่สูญเสียการได้ยิน เกิดขึ้นตั้งแต่คลอดออกมา ซึ่งการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ ว่าเด็กคนใดที่มีความพิการทางการได้ยิน จึงมีความสำคัญมาก เพื่อนำไปสู่มาตรการที่จำเป็น อาทิ การจัดหาเครื่องช่วยฟังและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและฝึกการใช้ภาษา เป็นต้น  

          การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น เกิดความผิดปกติของหูชั้นใน ความพิการในภายหลัง เช่น เกิดความเสื่อมถอยของอวัยวะ เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้รับอุบัติเหตุ ฯลฯ
เมื่อสาเหตุเหล่านี้เราอาจไม่สามารถป้องกันได้ การคัดกรอง รักษา ฟื้นฟู ดูแลอย่างเป็นระบบ ต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อลดอัตราการสูญเสียการได้ยินของคนทุกกลุ่มวัย และตามที่คณะทำงานคัดเลือกหัวข้อภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี พ.ศ. 2560 ได้คัดเลือกประเด็น “การเข้าถึงการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” เป็นประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าวของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพและความสามารถของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยที่จะตอบสนองยังมีข้อจำกัด

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาวิจัยเรื่อง “การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและ การฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย” เพื่อประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงระบบบริการให้ครอบคลุมประชากรตามความจำเป็นด้านสุขภาพ

          งานวิจัยนี้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลสถานการณ์ของระบบการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและ การฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายและสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการให้บริการในต่างประเทศ ประสบการณ์การให้บริการ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ คุณสมบัติของประสาทหูเทียมที่มีการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในประเทศไทย จำนวนและการกระจายตัวของสถานพยาบาลและบุคลากรที่ให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ปัจจัยความสำเร็จจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมของผู้พิการทางการได้ยินและครอบครัว ฯลฯ  

          ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย เป็นหนึ่งในประเภทความพิการ ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ความพิการทางการได้ยินพบเป็นลำดับสอง รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งมีประมาณ 372,189 คนในประเทศไทย และสามารถจำแนกได้ตามความสามารถในการได้ยินและการฟัง แบ่งเป็น หูปกติ (ไม่เกิน 25 เดซิเบล) ไม่มีปัญหาในการรับฟังคำพูด  หูตึงน้อย (26-40 เดซิเบล) ได้ยินและเข้าใจคำพูดในระดับความดังปกติในระยะ 1 เมตร  หูตึงปานกลาง (41-60 เดซิเบล) ได้ยินและเข้าใจคำพูด ต้องพูดซ้ำหรือใช้เสียงดังกว่าปกติในระยะ 1 เมตร  หูตึงมาก (61-80 เดซิเบล) ได้ยินบางคำเมื่อตะโกน  หูตึงรุนแรงและหูหนวก (ตั้งแต่ 81 เดซิเบล ขึ้นไป) ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจเมื่อตะโกน โดยที่ หูหนวก หมายถึง การที่บุคคลมีความบกพร่องในการได้ยินเมื่อตรวจการได้ยินผ่านทางอากาศ โดยใช้ความถี่ที่ 500 1,000 2,000 และ 4,000 เฮิรตซ์ โดยจะสูญเสียการได้ยินเฉลี่ยที่ความดังของเสียง 81 เดซิเบลขึ้นไป ซึ่งการได้ยินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางภาษาพูดและการสื่อสาร ดังนั้นการสูญเสียการได้ยินจึงเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมลดลงได้ นอกจากนั้นคนพิการทางการได้ยินระดับหูตึงรุนแรงและหูหนวก มักไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (cochlear implantation) เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาความพิการทางการได้ยินระดับหูหนวกทั้งสองข้าง  

          ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายการคัดกรองภาวะความพิการทางการได้ยินที่ครอบคลุมในทารกแรกเกิดทุกคน มีเพียงการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง อีกทั้งไม่มีระบบส่งต่อการวินิจฉัยภาวะความพิการทางการได้ยินที่เป็นระบบอย่างชัดเจน การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก็ยังไม่อยู่ในรายการสิทธิประโยชน์สำหรับสำหรับคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบประกันสังคม มีเพียงระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่สามารถเบิกค่าผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้คนละ 1 ชุด โดยมีราคาไม่เกิน 850,000 บาท ตามข้อบ่งชี้ที่กำหนด พร้อมหลักฐานการตรวจการได้ยินจากแพทย์ ซึ่งประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการควบคุมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวมถึงยังถือเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไปที่มีมาตรการกำกับควบคุมที่ไม่เข้มงวด แต่ในอนาคตจะมีการประกาศเป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ 4 ซึ่งผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องขออนุญาตและได้รับ “ใบอนุญาต” แทน “หนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์”  

          ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประสาทหูเทียมให้กับผู้พิการทางการได้ยินทุกราย แต่การให้บริการยังมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเวชศาสตร์การฟื้นฟู (นักแก้ไขการได้ยิน นักแก้ไขการพูด) บุคลากรด้านการแพทย์เฉพาะทาง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษามีกำลังการผลิตบุคลากรดังกล่าวได้น้อย แรงจูงใจด้านความก้าวหน้าในสายอาชีพก็น้อย ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากจะเรียน ผลสำรวจพบว่า สถานพยาบาลที่มีการให้บริการเครื่องช่วยฟัง ร้อยละ 44 มีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายระดับปริญญาตรี และร้อยละ 32 มีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายระดับปริญญาโท โดยบุคลากรที่ขาดแคลนและมีความสำคัญ คือ นักแก้ไขการได้ยินระดับปริญญาโท เพราะสามารถวินิจฉัยระดับการได้ยินในเด็กและฝึกการได้ยินแก่ผู้ที่ผ่าตัดประสาทหูเทียม ส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดของระบบบริการทั้งต้นทาง (การวินิจฉัยความพิการ) และปลายทาง (การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูด) นอกจากนั้น สถานพยาบาลที่มีโสต ศอ นาสิก แพทย์ที่สามารถผ่าตัดประสาทหูเทียมยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด

          อย่างไรก็ดี มีเรื่องน่ายินดีที่ว่าสถานพยาบาลส่วนมาก (ร้อยละ 94) มีเครื่องมือตรวจคัดกรองการได้ยิน (Otoacoustic emissions: OAE) ซึ่งส่วนมากพยาบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง โดยสถานพยาบาลเหล่านั้นประมาณครึ่งนึง (54%) ระบุว่ามีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยการได้ยิน (Auditory Brainstem Response: ABR) ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยในระบบบริการส่งต่อเพื่อวินิจฉัย

          จากการสำรวจประสาทหูเทียมที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยพบว่า มีบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ 3 บริษัท โดยนำเข้าและจำหน่ายชุดประสาทหูเทียม (cochlear implant) ประมาณ 3-5 รุ่นต่อบริษัท ซึ่งทุกบริษัทมีบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การประเมินศักยภาพการดูแลบำรุงรักษาเครื่องประสาทหูเทียม การตั้งโปรแกรมประสาทหูเทียม การทดสอบการได้ยิน การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูด การบริการซ่อมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34,859 บาท ค่าประสาทหูเทียมเฉลี่ยอยู่ที่ 943,810 บาท นอกเหนือจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายภายหลังการผ่าตัดที่สูงกว่าค่าประสาทหูเทียมถึง 1.5 เท่า ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาเครื่อง ค่าแบตเตอรี่ค่าอะไหล่ต่างๆ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน และการใช้ภาษาพูด ซึ่งในบางรายอาจจะมีค่าใช้จ่ายภายหลังการผ่าตัดสูงถึงประมาณ 4 ล้านบาทต่อราย
* - ค่าถ่านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,290 บาท/ปี
   - ชุดประสาทหูเทียมที่ฝังในร่างกาย รับประกัน 10 ปี แต่เครื่องแปลงสัญญาณเสียงพูด รับประกัน 2-5 ปี ขึ้นกับรุ่น อุปกรณ์อื่นๆ รับประกัน 1 ปี (ถ้ายังอยู่ในช่วงรับประกัน บริษัทจะซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ให้ฟรี)
   - ค่าอะไหล่ ค่าซ่อม เฉลี่ยอยู่ที่ 23,000 บาท/ปี

          การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทางการได้ยินของประชาชน แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายการคัดกรองการได้ยินในทารกตั้งแต่แรกเกิดและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง งบประมาณค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ค่อนข้างสูง และเป็นภาระในระยะยาว จากการสำรวจพบว่า อายุเฉลี่ยที่รู้ว่ามีความพิการทางการได้ยิน มักพบตอนอายุประมาณ 1 ขวบ ซึ่งมีเพียง 57% ที่รู้สถานะความพิการทางการได้ยินก่อน 1 ขวบ ส่วนในผู้ใหญ่พบการสูญเสียการได้ยินแบบฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อแบคทีเรียจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบ เช่น โรคหูดับ แต่ผู้ใหญ่สามารถรับรู้และเช็คอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษา

          ก่อนการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะมีการประเมินสมรรถภาพทางการได้ยิน การทดลองใช้เครื่องช่วยฟัง การประเมินความสามารถทางภาษา การประเมินความพร้อมของครอบครัว เช่น ความสามารถในการพามารับการฟื้นฟู ความสามารถในการจ่ายค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ภายหลังการผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งในขั้นตอนการประเมินก่อนการผ่าตัด งานวิจัยพบว่า การประเมินพัฒนาการและสติปัญญาในเด็ก เป็นการประเมินที่ยาก ต้องใช้จิตแพทย์เด็ก และมีเพียง 70% ของสถานพยาบาลที่ผ่าตัดประสาทหูเทียม ระบุว่ามีจิตแพทย์เด็ก

          สำหรับการประเมินความพร้อมของครอบครัว แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการประเมินที่แตกต่างกัน รวมถึงการตัดสินใจจ่ายเงินเองจากผู้ป่วยหรือผู้ปกครองเพื่อไปรับบริการที่มีการรอคิวนานในสถานพยาบาลที่ใช้สิทธิ์ เช่น การใช้บริการ MRI/CT scan การประเมินพัฒนาการและสุขภาพจิต และหลังจากมีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้วจะมีขั้นตอนในการติดตามประเมินผลหลังผ่าตัดเป็นลำดับ ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะนัดดูแผลและตัดไหม 2-4 สัปดาห์ จะมีการเปิดเครื่องและปรับหน่วยประมวลผล และมีการนัดเป็นระยะ 1, 3, 6, 12 เดือน เพื่อปรับระดับความดังให้เหมาะสมและเกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน เช่น เด็กเล็ก จะยังไม่เข้าใจเสียงและยังพูดไม่ได้ในช่วงแรก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฟังและฝึกพูด เพื่อให้เข้าใจภาษาและสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ซึ่งคล้ายกับการเรียนภาษาใหม่ แต่สำหรับผู้ที่เคยได้ยินและเข้าใจภาษาไทยมาก่อน จะใช้เวลาในการฝึกฟังหรือฝึกพูดให้ชัดไม่นานเท่าเด็กเล็ก

"จากประสบการณ์ของพ่อแม่ที่ลูกได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม หลังจากผ่าตัดประสาทหูเทียมแล้ว ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ค่าอะไหล่ ค่าประกันเครื่อง ฯลฯ ไว้อีกจำนวนไม่น้อย เพราะประสาทหูเทียมเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ ต้องมีการบำรุงรักษา และมีรุ่นที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และในมุมของพ่อแม่ เห็นได้ชัดเจนว่า ประสาทหูเทียมช่วยให้ลูกเราสามารถเรียนได้ พูดได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมีการคัดกรองการได้ยินในเด็กทุกคนอย่างทั่วถึง เพื่อลดการดูแลคนที่มีปัญหาทางการได้ยินในระยะยาว" คุณมณฑิชา ด่านชลวิจิตร กรรมการสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย

          แม้จะมีข้อจำกัดที่จะสร้างระบบที่เข้าถึงอย่างทั่วหน้าในทันที ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอทุกอย่างให้พร้อมถึงจะดำเนินการ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้ข้อจำกัดนี้เป็นโอกาสที่จะร่วมมือกัน การพัฒนาระบบบริการฯ ผ่านโครงการนำร่องระบบการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การผ่าตัดประสาทหูเทียม และการฟื้นฟู โดยเลือกพื้นที่ที่ทีมให้บริการอาสาจะเป็นผู้นำระบบด้วยการสร้างตัวอย่างให้เห็นว่า ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ก็สามารถผลักดันให้เกิดระบบขึ้นได้จริง โดยใช้งานวิจัยสนับสนุนการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีโครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย (Cochlear Implant Registry of Thailand : CI registry) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจทางนโยบายที่จะเกิดขึ้นมีความพร้อมของข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจ

          ระบบสุขภาพในชุมชนที่เกิดขึ้นจากการระดมทรัพยากรจากประชาคมทั้งรัฐและเอกชน และทุนชุมชนเกิดขึ้นในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย น่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับโครงการนำร่องฯ ได้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมที่น่าจะเกิดขึ้น เช่น การจัดทำแผนจังหวัดหรือท้องถิ่นในการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการใช้ภาษา การร่วมระดมทุน (co-funding) การปรับปรุงอัตราการเบิกจ่ายค่าหัตถการที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองและวินิจฉัยความพิการทางการได้ยิน การผ่าตัดประสาทหูเทียม การฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของผู้รับบริการ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการผ่าตัดประสาทหูเทียม เช่น การจัดทำสื่อให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสำคัญต่างๆ เช่น เทคโนโลยีประสาทหูเทียม การฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด การดูแลรักษาอุปกรณ์ การอยู่ร่วมกับผู้ที่ผ่าตัดประสาทหูเทียม เป็นต้น

          ที่ผ่านมา สวรส.ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาระบบฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินมาเป็นระยะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาเครือข่ายและรูปแบบค้นหา ฟื้นฟูการได้ยินในชุมชนต่อเนื่องระยะยาว  โครงการศึกษาแผนการเพิ่มจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายและการกระจายตัวที่เหมาะสม  โครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย  โครงการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการศึกษาการขยายบริการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย: ความเป็นไปได้ ต้นทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลจากงานวิจัยมาพัฒนาระบบการให้บริการฯ ที่ครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น

          ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องนับหนึ่งของการสร้างระบบโดยใช้ความรู้ที่ได้จากการวิจัย และตัวอย่างการดำเนินการของหลายพื้นที่ มาออกแบบระบบที่ทำได้จริง ยั่งยืนกว่า เข้าถึงและเข้าใจได้ ไม่ใช่เฉพาะฝั่งผู้ให้บริการ แต่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและกำลังจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น สามี-ภรรยา ที่กำลังจะมีบุตรหรือประชากรกลุ่มเสี่ยงสูญเสียการได้ยิน ต้องเข้าใจได้ไม่ยากและรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร

ที่มาข้อมูล
1. งานวิจัยเรื่อง การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและ การฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ปี 2562)
2. การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย วันที่ 2 ต.ค. 2562
3. https://www.voathai.com/a/world-hearing-day-tk/3290061.html

 

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้