4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

‘การดูแลแบบประคับประคอง’ นิยามร่วมของคนไทย เพื่อคุณค่าในช่วงท้ายของชีวิตคนไทยทุกคน

          ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังที่รักษาไม่หายเพิ่มมากขึ้น ทำให้การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการสาธารณสุข ในการจัดบริการการดูแลแบบประคับประคองอย่างหลากหลาย แต่ยังคงเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้การสนับสนุนในเชิงระบบอาจยังไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขหรือสถานพยาบาลที่ดำเนินการได้

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการรองรับเพื่อให้การสนับสนุนการจัดบริการการดูแลแบบประคับประคองแล้วก็ตาม แต่การที่ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามเชิงปฏิบัติการหรือคำอธิบายความหมายของการดูแลแบบประคับประคองที่ชัดเจน อาจยังเป็นอุปสรรคในการให้บริการที่ถูกต้องครอบคลุมหรืออาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบ

 

ภาพจาก : https://pixabay.com/

 

          ตัวอย่างข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมโครงการศึกษาเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า การดูแลรักษาแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต ยังอาจมีความคาบเกี่ยวและทับซ้อนกับการให้บริการหรือการดูแลรักษาพยาบาลในรูปแบบอื่นๆ ดังเช่นในต่างประเทศที่พบว่า การให้นิยามและองค์ประกอบของการบริบาล มีความแตกต่างกันไปตามพัฒนาการและช่วงเวลาที่ผ่านไป และความสับสนเกี่ยวกับความเข้าใจอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากความทับซ้อนของการจัดบริการต่างๆ ที่มีอยู่เดิมในสถานพยาบาลต่างๆ และวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค เช่น การดูแลรักษาโรคระยะเฉียบพลัน การดูแลรักษาโรคเรื้อรัง การดูแลระยะยาว การดูแลที่บ้าน หรือแม้แต่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทย ระหว่าง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 แล้ว ได้มีการประชุมคณะทำงานวิชาการจัดทำคำนิยามปฏิบัติการฯ ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคองจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง จนในที่สุดได้ “(ร่าง) นิยามปฏิบัติการและคำอธิบายความหมายของคำที่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย” โดยรายละเอียดนิยามเชิงปฏิบัติการฯ เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เป็นวิชาการมากนัก สาธารณชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และประชาชนทั่วไป สามารถให้ความเห็นต่อคำต่างๆ ที่ใช้ในการดูแลแบบประคับประคอง เช่น ภาวะเรื้อรัง ภาวะคุกคามต่อชีวิต ภาวะกำลังจะเสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้องในการดูแล การเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การให้เสียชีวิตตามธรรมชาติ การุณยฆาต การลดระดับความรู้สึกเพื่อการดูแลแบบประคับประคอง หลักการตัดสินใจโดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

          ตัวอย่างคำนิยามเชิงปฏิบัติการของ “การดูแลแบบประคับประคอง” คือการดูแลผู้ที่มีภาวะจำกัดการมีชีวิตหรือภาวะคุกคามต่อชีวิต  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตและบำบัดความทุกข์ทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเจ็บป่วย โดยครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้นั้นด้วย ทั้งนี้ อาจจัดบริการทั้งในและนอกสถานบริการตามความต้องการของผู้นั้น ซึ่งการดูแลแบบประคับประคอง หมายรวมถึง การดูแลตั้งแต่แรกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้าย ซึ่งผู้ป่วยยังอาจอยู่ได้นานหลายเดือน หรือหลายปีก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพียงการดูแลในช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต ซึ่งควรใช้ “การดูแลระยะสุดท้าย” ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ระบุหลักการสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง ไว้ว่า เป็นการบรรเทาความปวดและอาการทุกข์ทรมานอื่นๆ

          ทั้งนี้ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการให้ความหมายต่อคำต่างๆ ที่ใช้ในการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อใช้ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนด้านต่างๆในการจัดบริการเพื่อการดูแล ตลอดจนพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพและครอบคลุมประชาชนที่ต้องการการดูแลให้ถูกต้องครอบคลุมต่อไปในอนาคต

          โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ทาง https://infocenter.nationalhealth.or.th/node/27627  ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 13 กันยายน 2562 ซึ่งความคิดเห็นของท่านจะถูกนำไปประมวลผล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้