4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

แพทย์ทางไกลอัจฉริยะ เทคโนโลยีเชื่อมโยง-ติดตาม-ดูแล ตัวช่วยผู้ป่วย NCD ติดเตียง

          ภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรัง นับเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่พบว่ามีอุบัติการณ์การเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2557 ได้ระบุถึงสาเหตุการป่วยที่สำคัญ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อและโลหิตจางชนิดอื่นๆ ไตวาย ซึ่งโรคทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มของโรคเรื้อรัง และสาเหตุจากอุบัติเหตุจราจรก็พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เคลื่อนเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสื่อมของร่างกายที่เป็นไปตามอายุ ทั้งนี้การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นอย่างมาก ทั้งจากภาวะของโรคและความรุนแรงของการเจ็บป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยติดเตียงมักมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย รวมถึงภาวะป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถลุก นั่ง ยืน เดิน หรือทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติ1

          การศึกษาวิจัยเรื่อง “ตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพาเพื่อสนับสนุนการตรวจวัดและให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และโรงพยาบาลวัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ร่วมศึกษารูปแบบฐานความรู้ เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการประเมินและติดตามความรุนแรงของอาการโรค ตลอดจนออกแบบและพัฒนาตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพา เพื่อสนับสนุนการตรวจวัดและให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

          ผศ.ปราโมทย์ สิทธิจักร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “เป็นการประมวลผลองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงและให้ข้อมูลช่วยในการตัดสินใจในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการโรค ให้คำแนะนำการดูแลรักษาและบำบัดอาการโรค รวมทั้งแจ้งเตือนการส่งต่อผู้ป่วยที่มีระดับอาการรุนแรงหรือมีอาการไม่น่าไว้วางใจเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายไว้ดูย้อนหลังได้ด้วย”

กระบวนการทางการแพทย์อันชาญฉลาด
          ทีมวิจัยได้พัฒนาฐานความรู้เพื่อการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง เบาหวาน ถุงลมโป่งพอง หัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง อัมพฤกษ์/อัมพาต หลอดเลือดสมอง รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีหลายโรคร่วมกัน โดยใช้การประมวลผลด้วยโมเดลอันชาญฉลาด บูรณาการร่วมกับการจัดการฐานความรู้บนระบบ Cloud ที่พัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมกับแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ในการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเตียง
          ทั้งนี้ตัวแทนอัจฉริยะหรือตัวแทนชาญฉลาด (Intelligent Agent) เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการทำงานให้แก่บุคคลและการกระทำของบุคคล ซึ่ง Intelligent Agent สามารถดำเนินการซ้ำๆ และมีความชาญฉลาดที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูล เพื่อนำมาสรุปให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งงานวิจัยได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูลมาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการดูแลและข้อมูลทางการแพทย์ โดยระบบแพทย์ทางไกลช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้องจากระยะไกลในการวินิจฉัย การรักษา การป้องกันโรค และการประเมินผล ภายใต้ระบบการประมวลผล และสามารถคาดคะเนอย่างมีหลักการตามข้อมูลหลักฐานที่มี เพื่อการแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงได้แบบอัตโนมัติ รวมทั้งระบบสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดค่าที่มีความจำเป็นต่อการประเมินสภาวะสุขภาพ เช่น ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิในร่างกาย ความชื้นจากการปัสสาวะ และการตรวจจับความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับระบบถามตอบค้นหาอาการผิดปกติ เพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ขั้นตอนวิธีการประมวลของซอฟแวร์ตัวแทนอัจฉริยะ เพื่อทำการตัดสินใจ วินิจฉัย และแนะนำด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียงผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ของตัวอุปกรณ์พกพาที่ติดตั้งใกล้ตัวผู้ป่วย และผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น Doctor9 App ที่ผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและคำแนะนำการดูแลผู้ป่วยได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา (real time)

“ระบบประมวลผล”: ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับของบุคลากรการแพทย์
          ฐานความรู้ของ AI ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้จากแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักกายภาพบำบัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจรักษาโรคเรื้อรังในผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 20 คน จากโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เช่น ลักษณะอาการของโรค การดูแลที่เหมาะสม การควบคุมและติดตามผู้ป่วย การพิจารณาแนวโน้มของโรค และสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เพื่อการดูแลไม่ให้การดำเนินของโรคไปสู่ภาวะที่แย่ลงหรือถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นทำการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลองค์ความรู้ โดยการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ได้ฐานความรู้เชิงความหมายที่มีความถูกต้องและครบถ้วน ในการนำเข้าสู่การประมวลผลด้วยวิธีการทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งข้อสรุปที่ได้พบว่า การพัฒนาฐานความรู้เชิงความหมายใน AI  จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่ถูกต้อง คลอบคลุม และได้ผลลัพธ์ที่ตรงเป้าหมายมากกว่าการพัฒนา AI เพื่อต่อเชื่อมกับระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ทั่วๆ ไป ทั้งนี้ AI ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นจะสามารถรับค่าสัญญาณชีพที่ผิดปกตินำมาพิจารณาร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ได้มาจากระบบถามตอบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำนายอาการโรคที่เกี่ยวข้องที่ผู้ป่วยประสบอยู่ได้ เช่น การเกิดแผล อาจพัฒนาไปเป็นแผลกดทับ แผลติดเชื้อ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ การตรวจจับค่าความดันโลหิตที่อาจสูงหรือต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้โรคพัฒนาความรุนแรงกลายเป็นอาการโรคที่ร้ายแรงอื่นๆ ตามมา รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดค่าทางสุขภาพเบื้องต้นที่มีความแม่นยำผ่านชุดเซนเซอร์ราคาถูก และเชื่อมต่อผ่านสัญญาณ Bluetooth กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีใช้ในโรงพยาบาล  ระบบสามารถทำการแจ้งเตือนอาการโรคที่ผิดปกติ และทำการแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้อาการดีขึ้น เช่น การแนะนำการดูแลสุขภาพทั่วไป การทำแผล  การล้างไต การรับประทานอาหาร  และการทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับโรค เป็นต้น รวมทั้งระบบจะรองรับให้แพทย์ส่งข้อมูลการนัดหมายตรวจพิเศษ ณ โรงพยาบาลผ่านเว็บไซต์แอพพลิเคชั่นที่เตรียมไว้ให้สำหรับแพทย์และพยาบาล และผู้ป่วยสามารถทราบข้อมูลการนัดและผลตรวจได้จากการกดดูที่หน้าจออุปกรณ์ได้เลย ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หากติดอยู่กับเตียงผู้ป่วย โดยฝึกให้ผู้ดูแลใช้งาน แล้วบันทึกข้อมูลส่งไปที่ระบบ Cloud แพทย์จะสามารถติดตามและดูแลผู้ป่วย โดยวินิจฉัยจากข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลแบบ real time ได้เลย ซึ่งจากการนำไปทดสอบพบว่า ฐานความรู้ต่างๆ ได้รับการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ว่ามีเมนูการใช้งานที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตลอดจนมีรูปแบบ/รูปทรงเหมาะสมกับการใช้งาน

โอกาสและการพัฒนา
          ทั้งนี้ในด้านต้นทุนในการผลิตอุปกรณ์ตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพา อยู่ที่ 15,000 บาท/เครื่อง ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยมีการวางแผนในการนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ใช้เพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสของการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และหลังจากงานวิจัยฯ ได้ผ่านการรับรองการทำวิจัยในมนุษย์ และมีการทดสอบเครื่องต้นแบบให้มีประสิทธิภาพแล้ว ทางทีมวิจัยกำลังดำเนินการเรื่องการจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงวางแผนในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อการใช้งานที่กว้างขวาง ตลอดจนการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพาเพิ่มเติม เพื่อนำมาสะท้อนข้อมูลให้เห็นว่าการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนมากขึ้น

ที่มาข้อมูล
1. สัมภาษณ์ ผศ.ปราโมทย์ สิทธิจักร หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพาสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
2. งานวิจัยเรื่องตัวแทนแพทย์ทางไกลอัจฉริยะแบบพกพาสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ปี 2562)
เอกสารอ้างอิง
วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข https://tci-thaijo.org/index.php/tnaph/article/view/65677/53698

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้