4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ พัฒนาศักยภาพนักวิจัยหน้าใหม่ภาคใต้ พร้อมเพิ่มคุณภาพงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ

          สวรส. และ ม.วลัยลักษณ์จัดประชุมพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เปิดโอกาสและพื้นที่การเรียนรู้นักวิจัยหน้าใหม่พื้นที่ภาคใต้ มุ่งใช้ประโยชน์งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่และประเทศต่อไป สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการประชุมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักวิจัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัย การเขียนข้อเสนอโครงการ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย การทบทวนวรรณกรรม การบริหารจัดการงานวิจัย รวมถึงการเชื่อมงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายนักวิจัยภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ โดยการประชุมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเมืองลิกอร์ จ.นครศรีธรรมราช

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ทิศทางการวิจัยระบบสุขภาพในปัจจุบัน ต้องมุ่งเป้าและมีความสำคัญของปัญหาที่ชัดเจน รวมถึงผลลัพธ์ที่ต้องเกิดขึ้นเท่าทันต่อการนำไปใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นต่างๆ เช่น ระบบบริการปฐมภูมิ สังคมผู้สูงอายุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ฯลฯ ล้วนเป็นโจทย์ที่ต้องใช้ความรู้จากงานวิจัยเป็นฐานคิดสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอาจเริ่มจากปัญหาเฉพาะในพื้นที่ที่เปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงและอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ปัญหาในระดับประเทศได้ต่อไป โดย สวรส.มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์  สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยระบบสุขภาพที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สวรส. และหลากหลายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเครือข่ายหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานวิจัยให้เกิดคุณภาพ โดยนักวิจัยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์การทำงานวิจัยกับผู้ทรงคุณวุฒิจาก สวรส. ที่สามารถนำไปพัฒนาการดำเนินงานวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

          ดร.ละมุล  รอดขวัญ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ ผู้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสคนทำงานในสาขาอื่นได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย ซึ่งตนเองถือเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ในวงการสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาทำงานในสาขาการศึกษามาโดยตลอด แต่มีความสนใจที่จะเชื่อมโยงเรื่องการสร้างเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน เพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีตั้งแต่เด็กแล้วขยายผลต่อไปยังครอบครัว โดยตนเองได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการได้เป็นอย่างดี

          นางสุรีพร  ศิริยะพันธุ์ หน่วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลยะลา อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพฯ กล่าวว่า การมาร่วมเรียนรู้ในเวทีครั้งนี้ รู้สึกได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะได้แนวคิด มุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการพัฒนางานวิจัยในโรงพยาบาลที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ และสามารถขยายผลไปยังทีมงานที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเขียนข้อเสนอโครงการที่ควรเน้นในเรื่องของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ การทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การวางแผนวิธีการศึกษาวิจัยและเทคนิคต่างๆ ฯลฯ

          ทั้งนี้การประชุมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยดังกล่าว เป็นเวทีที่เน้นการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการพัฒนาโจทย์และโครงร่างงานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ซึ่งในการประชุมได้มีการนำเสนอโครงร่างงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายแบบประคับประคองที่ไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต  การวิเคราะห์และการพัฒนารูปแบบการป้องกันอันตรายจากการทำงานของคนงานแปรรูปหมอนยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช  การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาวะนักเรียนในยุคศตวรรษที่ 21  การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของช่างทำเครื่องถมเงินในจังหวัดนครศรีธรรมราช  การพัฒนาเครื่องสเปกโทรโฟโตมิเตอร์แบบพกพาเพื่อการตรวจวัดปริมาณไมโครอัลบูมินและครีเอทินินในปัสสาวะ ฯลฯ โดยมีผู้จัดการงานวิจัยจาก สวรส. และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยจาก ม.วลัยลักษณ์ ร่วมให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักวิจัยในการประชุมครั้งนี้

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้