4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รัฐบาลเดินหน้า เน้นสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อน THAILAND 4.0

          พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 มีความก้าวหน้าใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

 

 

          1. ประเด็นการปฏิรูประบบราชการ พัฒนาก้าวหน้าใน 3 ด้าน ได้แก่ 

              1) การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ ก้าวหน้าในหลายเรื่อง เช่น (1) การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลดคำขอค้างที่ยื่นก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ทั้งหมดรวมกว่า 8,000 คำขอ และลดระยะเวลาการพิจารณาคำขอลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 20  (2) การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขจัดคำขอค้างสะสมสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในภาพรวมลดลงได้ร้อยละ 19 (3) การจดทะเบียนที่ดินของกรมที่ดินลดระยะเวลาดำเนินการรังวัดให้ไม่เกิน 60 วัน ระยะเวลารอคิวรังวัดทั่วประเทศเฉลี่ย 39 วัน (4) การนำเข้าและส่งออกของกรมศุลกากร ให้บริการระบบ Single Form สินค้าวัตถุอันตรายแบบ G2G เชื่อมโยงข้อมูลครบ 100% (5) ธุรกิจพาณิชยนาวีของกรมเจ้าท่า นำระบบ e-Payment มาใช้ในการจ่ายค่าธรรมเนียม (6) VISA & Work Permit ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการขยายขอบเขตของ SMART VISA ให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลมากขึ้น 

              2) การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ มีความก้าวหน้า เช่น (1) การแก้ไขพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์พื้นที่จังหวัดน่านและกลไกการบริหารจัดการ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินการ Nan Sandbox เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้มีเอกภาพและยั่งยืน (2) โรงเรียนร่วมพัฒนา เริ่มดำเนินการแล้ว ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 มีสถานศึกษาในโครงการ จำนวน 50 โรงเรียน ใน 34 จังหวัด มีผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 11 บริษัท 1 มูลนิธิ และรุ่นที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 184 โรงเรียน ใน 28 จังหวัด มีผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 11 บริษัท

              3) การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ได้เริ่มมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลบางหน่วยงานที่มีความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว

          2. ประเด็นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สนับสนุนงานสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิด ผ่านภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความมีวินัย ความสุจริต จิตสาธารณะ และความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาให้ดำเนินโครงการหรือแนวทางการพัฒนาในอีกหลายด้าน ได้แก่ 

              1) ยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (STEM) โดยยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยควบคู่กับการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สู่ประเทศไทย 4.0 ในแนวทางต่าง ๆ เช่น พัฒนาเมืองสะเต็มศึกษา (STEM Edupolis) เป็นฐานปฏิบัติการฝึกแนวทางสะเต็ม และการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาครูให้เป็น STEM Facilitator (ครูวิทย์ 4.0) สร้างเครื่องมือการเรียนการสอน STEM ที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และสามารถบูรณาการร่วมกับสาขาวิชาต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี) และมุ่งหวังให้คะแนนสอบ PISA2021 ของนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น

             2) การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มุ่งพัฒนาสินทรัพย์บนพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างย่านโยธี  เพื่อผลักดันการใช้งานนวัตกรรมด้านการแพทย์ของกลุ่มบุคลากรวิจัย นวัตกรรม ด้านการแพทย์ย่านโยธี อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดย (1) พัฒนาโครงการนวัตกรรมการแพทย์ โครงการและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในย่าน และส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้สามารถไปสู่ท้องตลาดได้ (2) บริหารจัดการสินทรัพย์นวัตกรรมภายในย่าน (3) บริหารจัดการย่านนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพและการให้บริการด้านสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนแก่ประชาชน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2572 (10 ปี) โดยคาดหวังให้เกิด DeepTech Startup ด้าน Health and Medical จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย สร้างมูลค่าการลงทุนด้านการพัฒนา MedTech ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท รวมทั้งเกิดการลงทุนเฉลี่ย 11,900 ล้านบาท /ปี และสร้างผลกระทบและการลงทุนกว่า 47,600 ล้านบาท 

              3) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomic Thailand) พ.ศ. 2563 – 2567 ซึ่งการแพทย์จีโนมิกส์เป็นการใช้ข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลจำเพาะอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องของบุคคล เพื่อเลือกใช้หรือเพิ่มประสิทธิภาพของยาและเทคโนโลยีในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาฟื้นฟู ลดภาวะแทรกซ้อน และป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษา จึงส่งผลให้การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่แม่นยำ มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub และส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในประเทศ (ชมวีดิทัศน์ ชุด การแพทย์จีโนมิกส์ ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) พ.ศ.2563-2567 เพิ่มเติมได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=8tBVms-e7vM&t=3s)

             4) การขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG in Action) โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนใน 5 ส่วนหลัก และ 3 ภูมิภาค ได้แก่ พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพการแพทย์ เกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว และดิจิทัลและไอโอที ซึ่งจะได้นำแนวทางทั้ง 5 ส่วนหลักไปขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค โดยพิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้ Innovation Hubs พัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรม (Industrial research, Development and Innovation Platform: Industrial rDI Platform) ซึ่งจะเป็นฐานการสร้างนวัตกรรมระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคต โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 140,000 บาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำแหน่ง ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

             5) การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้การดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เสนอผ่านทางคณะกรรมการ ป.ย.ป. และจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป. ด้านพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่เป็น Executive Committee พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และกำหนดโจทย์ในการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งให้สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ดำเนินการไปอย่างมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  

             6) การพัฒนาสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ให้กำหนดเรื่องการพัฒนาสมุนไพรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวง ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาค ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2564 มูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว (จาก 180,000 ล้านบาท เป็น 360,000 ล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2564

 

ที่มาข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้