4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

'จบแพทย์' ใช้ทุนชนบท เพิ่มอีก 3 ปีภาพสะท้อนความเหลื่อมล้าระบบสาธารณสุขไทย-ASTVผู้จัดการรายวัน

          แม้ธรรมชาติจะสอนให้ชาวชนบทหรือถิ่นทุรกันดารได้เรียนรู้ถึงความอยู่รอดท่ามกลางความแร้นแค้นยากจน แต่คงปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่าในเรื่องของระบบสาธารณสุขนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเวทนาอย่างมาก อนึ่ง ด้วยความห่างไกลความเจริญนี้เองยามเจ็บไข้ได้ป่วยหากหวังจะฝากผีฝากไข้กับ 'หมอ' ก็ดูจะลำบากลำเค็ญ เพราะติดปัญหาตรงที่ว่าไม่มีหมอสักคนที่เข้ามาประจำการอยู่ในพื้นเลย

          การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทนั้นถือเป็นปัญหาที่คาราคาซังในสังคมไทยมาช้านาน ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2516 มีการกำหนดกติกาให้แพทย์ต้องใช้ทุนหลังเรียนจบเป็นเวลา 3 ปี โดยเข้าปฏิบัติงานตามสถานพยาบาลห่างไกลยากไร้ นัยนั้นไม่ได้ต้องการให้แพทย์ทดแทนเงินคืนสู่คลังหลวงที่ช่วยเกื้อกูลการศึกษาตลอดมา แต่เพื่อฝึกให้แพทย์ได้เรียนรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นหมอด้วยการคืนทุนตอบแทนสังคม

          แต่วิถีของแพทย์ใช้ทุนจำนวนไม่น้อยที่เข้าทำการใช้ทุนในพื้นที่ชนบท พอครบวาระ 3 ปี ก็กลับคืนสู่ความเจริญของเมือง และก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถอดตัวกลางคัน หรือไม่บางคนก็เลือกที่จะเสียเงินค่าปรับจำนวน 4แสนบาทแทน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปใช้ทุนตามสถานพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร ส่งผลให้ปัจจุบันมีแพทย์ประจำอยู่ในพื้นที่ชนบทเพียงแค่ 4,787 คน จากแพทย์ทั่วประเทศ 40,994 คน หรือเท่ากับ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

          จากความขาดแคลนนี้เองทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติขยายเวลาการใช้ทุนของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท กระทรวงสาธารณสุข ที่ริเริ่มจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 เพื่อตอบสนองนโยบายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยมีมติให้แพทย์ปฏิบัติงานใช้ทุนจาก 3 ปี ขยายเวลาเป็น 6 ปี และเพิ่มจำนวนเงินค่าปรับจาก 4 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท

          แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นี่ก็คือภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของระบบสาธารณสุขไทยที่ว่า ไม่ว่าจะยุคไหนๆ ทุกคนต่างก็มุ่งชีวิตสบายๆ ในเมืองมากกว่าการจะยอมเข้ามาใช้ชีวิตในชนบท และแน่นอนว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่คงเกิดขึ้นจนยากจะเยียวยาเสียแล้ว

          สภาวการณ์ของแพทย์ใช้ทุน

          "ปีๆ หนึ่งจะมีแพทย์จบออกมาประมาณ 2,000 คน ซึ่งตามหลักเกณฑ์นั้นแพทย์ทุกคนจะต้องปฏิบัติงานในชนบทอย่างน้อย 3 ปี แล้วหลังจากนั้นพวกแต่ละคนก็จะมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งแนวทางที่นิยมเลือกกันมากที่สุดหลังครบกำหนดใช้ทุน คือแพทย์เกือบทั้งหมดออกมาเพื่อไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง เพราะฉะนั้น ภาพโดยรวมก็คือ มีเข้าไป และออกมา อยู่ตลอดเวลา จนจำนวนนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนได้ เนื่องจากเติมใหม่เข้าไปทุกปี ก็ไหลออกมาทุกปี แถมบางทีอาจจะมากกว่าที่เข้าไปด้วยซ้ำไป จนอาจจะพูดได้ว่า กระบวนการศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญสุดในการดึงหมอออกจากชนบท เพราะหมอส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า การจบแพทย์แค่ 6 ปีนั้นยังไม่ได้ทำให้เขาเกิดความเข้าใจเพียงพอ และทุกคนก็ต้องการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะรู้สึกว่าถ้าไม่เรียนต่อก็จะเป็นแพทย์ชั้น 2 หรือทำงานไปแล้วจะรู้สึกว่าขาดความมั่นใจ"

          นั่นคือคำพูดของ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข ที่ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์จริงของปัญหา เพราะต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้นำผลกระทบมาสู่สังคมต่อเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นการล้นจำนวนของแพทย์ที่อยู่ในเมือง หรือปัญหาที่เกิดขึ้นพื้นที่ขาดแคลน ซึ่งมีแพทย์ประจำอยู่ในสัดส่วนที่น้อย ทำให้ต้องรับภาระในการดูแลคนไข้ในสัดส่วนที่มากตามไปด้วย
          ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดๆ ก็คือพื้นที่อยู่ห่างไกลความเจริญมากๆ ก็มักจะมีแพทย์ประจำอยู่เพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น และที่ผ่านมาก็จะอยู่ไม่ได้นาน ก็กลับออกไปเสมอ

          "มีหมอใหญ่อยู่คนเดียว เป็นทั้งผู้อำนวยการเป็นทั้งหมอเวลาหมอไม่อยู่ก็มีพยาบาลมาดูบ้างไม่ดูบ้าง ยังมีการเอาหมอที่เกาะช้างมารักษาการที่เกาะกูดด้วย แต่หมอคนเดียวรักษาการ 2 อำเภอมันไม่ใช่เรื่อง เวลาชาวบ้านเจ็บป่วยหนักๆ ก็ต้องเอาลงเรือเข้าเมืองใช้เวลาเดินทางชั่วโมงครึ่ง ทันก็รอดไม่ทันก็ตาย บางทีนักท่องเที่ยวเขาบาดเจ็บกันแล้วมีหมอรักษาการอยู่คนเดียวมันไม่พอ เขาก็ด่า เอาไปเขียนลงเน็ตด่าประจาน แล้วหมอจบใหม่ยังเด็กด้วย ยังไม่มีประสบการณ์ถามว่าคนเดียวเขาจะไหวไหม" วิชิต ไทรทอง กำนันตำบลเกาะกูด เล่าถึงเรื่องของโรงพยาบาลเกาะกูดที่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์มาหลายปีแล้ว
          เช่นเดียวกับเรื่องราวของ แวว พึ่งบุญครูดอยที่อาศัยอยู่ที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ที่อธิบายสถานการณ์เรื่องสาธารณสุขให้ฟังว่า เวลาที่ชาวบ้านเจ็บป่วยมักจะเข้ารักษาที่อนามัยของ อบต. แต่ถ้ามีอาการหนักก็ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอเวียงแหงซึ่งห่างออกไปเกือบ 20 กิโลเมตร
          "จริงๆ แล้วก็ฟังดูไม่ไกลเท่าไหร่ แต่เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทำให้เดินทางไปไม่สะดวก และที่โรงพยาบาลอำเภอเวียงแหงเองก็ไม่ค่อยจะมีหมอประจำการสักเท่าใด มันไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้ คือถ้าป่วยจริงๆ ก็ต้องรอคิวกันนานๆ แต่ถ้าอาการไม่หนักคนไข้หลายคนก็เลือกที่จะเดินทางกลับมาก่อนเพราะรอไม่ไหว อีกอย่างการตรวจรักษาบางทีก็เป็นไปตามยถากรรม ถ้าปวดท้องก็จะได้ยาโรคกระเพาะ ปวดหัวก็จะได้ยาพารามาทันที อาจจะเป็นเพราะคนไข้ส่วนมากเป็นชนเผ่าด้วย เลยอาจจะสื่อสารกับหมอได้ไม่ดีเท่าไหร่ ส่วนหมอเองก็มีน้อยที่ตั้งใจจะมาประจำในที่ทุรกันดารแบบนี้ เหมือนกับว่าเขาจะมาอยู่เพราะไม่มีทางเลือก ถ้าหากมีช่องทางย้ายไปที่อื่นได้ เขาก็จะย้าย"

          ภาพสะท้อนจาก หมอชนบท

          จากเรื่องข้างต้นนั้นก็พอจะสะท้อนให้เห็นได้ชัดพอควรแล้วว่าสถานการณ์นั้นมันหนักหนาแค่ไหน แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดกว่าการพูดคุยกับที่ทำงานในชนบทจริงๆ ก็น่าอธิบายภาพเรื่องราวได้ดีที่สุด และที่สำคัญยังทำให้เห็นด้วยว่า จริงๆ แล้วการที่หมอคนหนึ่งจะเข้าไปทำงานชนบทนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานาที่เข้ามาท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลาอีกต่างหาก
          นพ.เกริกเกียรติ์ เหมทานนท์ แพทย์ปฏิบัติการ โรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส อธิบายถึงการทำงานของตัวเอง แม้โรงพยาบาลที่เขาประจำอยู่นั้นจะมีแพทย์อยู่ถึง 8 คนก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ที่มีความรุนแรง และจำนวนคนไข้ที่สูงอยู่ตลอดเวลา จำนวนแพทย์คงไม่เพียงพอ เพราะเฉลี่ยแล้วแพทย์ 1 คนต้องรักษาคนไข้ถึงวันละ 60 คนเลยที่เดียว การจะพูดคุยกับคนไข้ได้เพียงไม่กี่นาที
          "ในแต่ละวันก็คงไม่แตกต่างไปจากโรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆ ก็คือจะมีทั้งคนไข้เบา คนไข้หนัก มาไม่ต่างกัน แต่ 3 จังหวัดนี้ ก็อาจจะมีการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเช่นโดนยิงโดนระเบิดอุบัติเหตุอะไรแบบนี้มา อาจจะต้องรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่าโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ อย่างวันนี้ก็มีเหตุปะทะ เดี๋ยวก็เห็นว่าจะมีศพทหารมา 6 นาย ก็ต้องชันสูตรเยอะกว่าที่อื่นๆ"

          ไม่เพียงแค่นั้นเรื่องการสื่อสารก็มีปัญหาไม่แพ้กัน เพราะคนไข้ส่วนใหญ่จะพูดภาษามลายูซึ่งถ้าไม่เคยได้ยินมาก่อนก็จะฟังไม่ออกเลย ประกอบต้องยอมรับว่า โรงพยาบาลนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองถึง 30 กิโลเมตร แล้วเส้นทางที่มาก็ลำบากแถมน่ากลัวอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นหากคนไหนปรับตัวไม่ได้ ก็มักจะถอดใจขอย้าย หรือก็หันไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
          ทางออกที่ไม่ได้เปิดประตูได้ง่ายๆ
          จากปัญหาดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงกระบวนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกระบวนหนึ่งที่ถูกหยิบนำมาใช้ การจัดตั้งโครงการพิเศษอย่าง โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยมีวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าสู่โครงการแตกต่างกับระบบคัดเลือกปกติของมหาวิทยาลัย คือเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียน มีจิตใจที่อยากทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะในจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์ เป็นโควตาจังหวัดแล้วก็มาเรียน หลังจากนั้นรัฐบาลก็ช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปตามปกติ
          แต่จะแตกต่างกับระบบปกติเล็กน้อยก็คือ เวลาฝึกงานจะให้ไปฝึกในโรงพยาบาลภูมิภาค เพื่อจะได้คุ้นชินกับการปฏิบัติงานชนบท และพอเรียนจบก็มีเงื่อนไขให้นักศึกษาแพทย์กลุ่นนี้ต้องกลับไปใช้ทุนในโรงพยาบาลในจังหวัดของตนเอง ซึ่งก็น่าอยู่ในพื้นที่ได้นานกว่าเพราะเป็นบ้านเกิดของตัวเอง และจากการประเมินหลังทดลองหลายปี ก็พบว่าแพทย์กลุ่มนี้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้นานกว่าแพทย์ปกติเยอะมาก และคุณภาพก็ถือว่าไม่แตกต่างกันมาก

          "ตอนนี้โครงการนี้กำลังจะครบวาระในปี 2556 เพราะฉะนั้นเราก็เลยเสนอให้ขยายเวลาไปอีก 5 ปี ประกอบกับคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอให้ขยายระยะเวลาชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ในโครงการนี้จากเดิม 3 ปีมาเป็น 6 ปีด้วย แต่เราไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์นี้กับนักศึกษาแพทย์ทุกราย เฉพาะโครงการนี้เท่านั้น เพราะเราเชื่อว่า ระยะเวลาตรงนี่ได้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนชนบทมีหมอที่ทำการรักษาพยาบาลเขาได้มากขึ้น" นพ.พงษ์พิสุทธิ์อธิบายถึงแนวทางในอนาคตของโครงการ
          อย่างไรก็ตาม การทำโครงการเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าแพทย์จะอยู่ในชนบทได้นาน ฉะนั้น สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่จะต้องมีเครื่องมือและทีมงานที่พร้อมพอสมควร และต้องอยู่ในระบบการบริหารจัดการที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม

          "เรื่องค่าตอบแทนก็ถือว่ามีผลเหมือนกัน แต่ถ้าจัดการให้ดีๆ ก็จะพบว่า จริงๆ แล้วเรื่องค่าตอบแทนไม่ใช่ลำดับแรกหรอก แต่เป็นเรื่องของการดูแลใส่ใจให้เข้ามีโอกาสพัฒนาความสามารถ ดูแลเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่พอสมควรมากกว่า เราเคยไปสัมภาษณ์โรงพยาบาลที่ทำงานกึ่งๆ เอกชนอย่าง โรงพยาบาลบ้านแผ้ว ก็พบว่าการจ่ายค่าตอบแทนหมอไม่ได้สูงมาก แต่อัตราไหลออกของหมอต่ำมาก เพราะได้รับการดูแลที่ดี มีโอกาสได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก พิจารณาหรือโปรโมตก็เป็นธรรม ทั้งหมดนี้ก็ทำให้คนทำงานรู้สึกมีความสุข เหมือนอยู่ในครอบครัวที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า"
          แต่ถ้าจะแก้ปัญหาให้เด็ดขาดไปเลยก็ต้องกลับไปดูที่ต้นตอของปัญหา นั่นก็คือความเจริญที่แตกต่างกันระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งหากประเด็นนี้ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง สุดท้ายสิ่งที่ทำได้ก็คือการวิ่งตามปัญหาอย่างไม่มีทางจบ เหมือนกับที่ใครหลายคนมักบอกว่า ทำไมครูดีๆ ถึงไม่สอนอยู่ในโรงเรียนประชาบาลนั่นเอง

          "ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ โดยเราต้องเริ่มจากการพัฒนาให้ช่องว่างในชนบทกับเมืองลดลงได้ก่อน ซึ่งทางหนึ่งก็คือรัฐจะต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจและทรัพยากรในการพัฒนามากขึ้น ซึ่งพอเป็นแบบนั้นท้องถิ่นมันก็จะเจริญ พอเจริญใครๆ ก็อยากอยู่ ไม่ใช่จะให้หมอไปอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารตลอด เพราะแบบนั้นมันก็ไม่แฟร์ และปัญหามันก็ไม่มีทางจบแน่นอน"
          หลายคนคงได้ยินคำพูดที่ว่า หมอไทยนั้นเก่งไม่แพ้ที่ใดในโลก แถมระบบสาธารณสุขไทยก็เพียบพร้อม ทันสมัย และดีไม่ดีอาจจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ในอีกไม่ช้า แต่นั่นคงเป็นความจริงสำหรับในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะจากภาพดังกล่าวก็เห็นแล้วว่า ระบบสาธารณสุขของไทยนั้นยังกระจุกตัว และน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะกระจายไปสู่ชนบทอย่างแท้จริง และการแก้ปัญหาด้วยการขยายเวลา เอาเข้าจริงแล้วก็คงเป็นเรื่องการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

          แน่นอน เรื่องเจ็บป่วยนั้นถือเป็นของธรรมดา แต่การดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
          ดังนั้น ณ วันนี้คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องหันกลับมามองถึงความเป็นจริงของสังคมไทยว่า ทำไมปัญหานี้ถึงหมักหมมนมนานมาได้ถึงขนาดนี้ จะได้ลงมือแก้ไขที่ต้นตอ เสียที
         
เรื่อง : ทีมข่าว Click ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2554 หน้า 29

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้