ข่าว/ความเคลื่อนไหว
วิกฤตสุขภาพเด็กไทย 10 ประเด็นน่าห่วง ด้านจริยธรรมน่าวิตกสุด “เด็กเผย : โกงได้โกง-พร้อมลอกข้อสอบเมื่อจำเป็น”
นักวิจัย เผยผลสำรวจสุขภาพเด็กไทย พบ 10 ประเด็นน่าห่วง ด้านจริยธรรมน่าวิตกสุด เหตุเพราะเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต เป็นรากของปัญหาสำคัญของสังคม กรมสุขภาพจิต ชี้เร่งหน่วยงานส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม-จริยธรรม ด้าน สวรส. พร้อมบูรณาการงานวิจัยสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบ
จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบประเด็นน่าเป็นห่วงทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก อาทิเช่น คนเลี้ยงเด็กส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย 90% ของเด็กกลุ่มตัวอย่างมีร้านขายเหล้าอยู่ใกล้บ้าน และ 14.6% อยู่ใกล้บ่อน มีเด็กอ้วนและมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากขึ้น ทั้งนี้มีเด็ก 10-14 ปี จำนวนหนึ่งยอมรับว่าเคยพกอาวุธไปโรงเรียน และอีกจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อมาโรงเรียน นอกจากนั้นประเด็นที่น่าวิตกมากที่สุด คือ พัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ และจริยธรรม โดยเด็กยอมรับว่า ยอมรับได้กับการไม่เคารพกติกา เช่น “เล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส” และ “ลอกข้อสอบถ้าจำเป็น”
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สวรส. เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพเด็กในด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรม โดยการสอบถามตัวอย่างเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2544 ของ รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ แม้จะพบว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้จะมีคะแนนพัฒนาการดีขึ้นหลายด้าน แต่มีประเด็นน่าเป็นห่วงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของสังคม โดยพบว่า กลุ่มเด็กเล็กช่วงอายุ 1-5 ปีนั้น มีมากกว่าร้อยละ 10 ของกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนต่ำกว่าผลจากการสำรวจปี พ.ศ. 2544 ในด้านการทำตามระเบียบกติกา (Compliance) ในกลุ่มเด็กชาย ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสะท้อนถึงแนวโน้มที่เด็กอาจมีนิสัยที่ต้องการจะได้อะไรก็ต้องได้ ขาดความพยายาม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานของบุคคล ในกลุ่มเด็กอายุ 6-9 ปี พบว่า ผลการทดสอบพัฒนาการด้านสังคม ได้คะแนนสูงกว่าด้านอื่นๆ ส่วนด้านที่ได้คะแนนต่ำคือ ความมีวินัย ความมีสติ-สมาธิ ความอดทนและความประหยัด โดยพัฒนาการด้านที่เด็กได้คะแนนน้อยซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัฒนาการด้านความมีวินัยในเด็กชาย การมีสมาธิในเด็กหญิง ด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ทั้งเด็กชายและหญิง และสำหรับกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี เห็นว่า “การเล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส” และ “การลอกข้อสอบถ้าจำเป็น” เป็นพฤติกรรมที่เด็กยอมรับได้มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมแม้ว่าเด็กจะมีคะแนนดีขึ้น แต่มีหลายด้านที่พบว่าคะแนนการสำรวจยังไม่ดีขึ้นกว่าปี พศ. 2544 ได้แก่ ด้านความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การแก้ปัญหา และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นจุดที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ส่วนที่ควรพัฒนาในเด็กอายุ 1-5 ปี คือ การทำตามระเบียบกติกา (Compliance) ในเด็ก 6-9 ปี ในเด็กชายและเด็กหญิงควรพัฒนาด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ และสำหรับเด็กอายุ 10-14 ปี ควรฝึกการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ รวมทั้งการคิดวิเคราะห์วิจารณ์”
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สวรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ควรให้น้ำหนักต่อการพัฒนาเด็กในด้านวุฒิภาวะด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการดำรงชีวิตของบุคคลและเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตยิ่งไปกว่าปัจจัยด้านความฉลาดทางสติปัญญา ซึ่งการศึกษาวิจัยระยะยาวในต่างประเทศ บ่งบอกว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือ IQ มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมร่วมกับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สมวัยในวัยต้นของชีวิตเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการด้านภาษา ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรมในขั้นต่อๆ ไป และจากศึกษาติดตามระยะยาวจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ พบว่า ระดับเชาวน์ปัญญาในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในชีวิตการงานและระดับเงินเดือนค่อนข้างน้อย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความขัดแย้งและการเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกลับมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า “ผลการสำรวจดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการสำรวจของกรมสุขภาพจิตที่ผ่านมา โดยเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการเด็กให้มากขึ้น และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กคือ พ่อแม่และครู ซึ่งต้องเน้นการเลี้ยงดูและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก นอกจากนั้น สื่อต่างๆโดยเฉพาะทีวี และภาพยนตร์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยสื่อสามารถนำหน้าที่บ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก ทั้งในการให้ความรู้ผ่านทางรายการบันเทิงหรือรายการเด็กที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงเนื้อหาในการนำเสนอเพื่อปลูกฝังเรื่องดีๆ ให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของกรมสุขภาพจิต มีแผนด้านการพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมให้กับเด็กไว้อย่างชัดเจน”
ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า “การศึกษาวิจัยดังกล่าวมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว ทั้งนี้การวิจัยที่มีคุณค่าในลักษณะนี้มีอยู่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการวิจัยในระดับย่อยโดยยังไม่เสริมให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือการผลักดันให้เกิดการพัฒนาในระดับนโยบายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การต่อยอดงานวิจัยนำไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย ตลอดจนนำความรู้ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อการปฏิบัติต่อไป รวมทั้งจะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการงานวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาเชิงระบบที่ส่งผลกระทบในภาพรวมของประเทศ ซึ่ง สวรส. ให้ความสำคัญและพร้อมให้การสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดย สวรส. จะเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป”
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้