ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สวรส. พร้อมเครือข่ายวิจัยระบบยา เผยผลสำรวจคำขอสิทธิบัตร 96% เป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย (Evergreening Patent) ชี้เร่ง “แก้ พรบ.สิทธิบัตรฯ” ภายใต้แนวทางสางปัญหาจากฐานงานวิจัย
ภญ.ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยของเครือข่ายวิจัยระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า “จากปัญหาสิทธิบัตรไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อภาระงบประมาณประเทศและเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงยาของประชาชน หลายฝ่ายจึงได้ร่วมมือพัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening Patent หรือเรียกว่า การขอสิทธิบัตรที่มีลักษณะแบบไม่มีที่สิ้นสุด จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรนี้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งการขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวถือว่าไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
“ลักษณะคำขอรับสิทธิบัตรที่เป็น Evergreening พบคำขอรับสิทธิบัตรที่มีการระบุถึงการใช้และข้อบ่งใช้ที่สองของยาที่เปิดเผยแล้ว มากที่สุดถึงร้อยละ 73.6% ซึ่งถือว่าขาดความใหม่ และไม่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม และเป็นคำขอที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตรา 9 (4) ใน พรบ.สิทธิบัตรของไทย ที่จะไม่ให้สิทธิบัตรแก่วิธีการบำบัดรักษา (Method of Treating) โดยใช้คำว่าการใช้ หรือ ข้อบ่งใช้ ซึ่งมีนัยเดียวกันกับการบำบัดรักษา รองลงมาคือ คำขอในกรณีสูตรตำรับใหม่ และองค์ประกอบใหม่ ของตัวยาสำคัญเดิม ที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว รวมถึงกรรมวิธีการเตรียมสูตรตำรับดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ร้อยละ 36.4 และ คำขอรับสิทธิบัตรที่เป็น Markush Claim คือ มีเนื้อหาคลอบคลุมวงศ์ (family) ของสารประกอบที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมดโดยไม่มีการจำเพาะเจาะจงซึ่งบางครั้งคลอบคลุมถึงจำนวนพันหรือล้านสารประกอบร้อยละ 34.7 นอกจากนี้ยังพบว่า แทบไม่มีคนสัญชาติไทยขอสิทธิบัตรยา เกือบทั้งหมดเป็นของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้สอดคล้องกับการศึกษาใน 5 ประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ อาเจนตินา โคลัมเบีย บราซิล จีน และอินเดีย ซึ่งล้วนกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนักกับภาระงบประมาณและการเข้าไม่ถึงยา
ภญ.ผศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายวิจัยระบบยา สวรส. ระบุว่า “หลังจากนี้ ทีมวิจัยจะทำการศึกษาในระยะที่ 2 ต่อไป โดยศึกษาว่า หากคำขอที่เป็นปัญหาเหล่านี้ได้รับสิทธิบัตรไปจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง โดยจะวิเคราะห์ยอดขายหรือค่าใช้จ่ายด้านยาที่เกิดจากการขอสิทธิบัตร evergreening patent ในยาจำนวน 100 รายการ ที่เป็นสัดส่วนมูลค่าตลาดยาสูงสุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมด และจะศึกษาลงรายละเอียดในการเข้าถึงยา โดยดูที่ปริมาณการบริโภค (Defined Daily Dose, DDD) ที่สูญเสียไป และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงยาของผู้ป่วยใน 2 กรณีศึกษา คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ และยาในกลุ่มข้อเข่าเสื่อม
จากการศึกษาเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า คำขอสิทธิบัตรในลักษณะ Evergreening กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และทวีความรุนแรงของภาระในเชิงงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน ทั้งนี้เครือข่ายวิจัยระบบยาและผู้ได้รับผลกระทบหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร และพัฒนาคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรจะนำผลการศึกษานี้ไปประกอบการพิจารณาแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง”
ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สวรส.ให้ความสำคัญและพร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาในระบบสุขภาพ พร้อมทั้งมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศบนฐานความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เป็นปัญหาใหญ่ของระบบสุขภาพที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังร่วมกัน
“ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สวรส. กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และเครือข่ายนักวิชาการด้านเคมี-เภสัชศาสตร์ และเภสัชศาสตร์สังคม บูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย โดยทุกฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษาและข้อค้นพบที่สำคัญนี้จะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญให้เกิดการแก้ปัญหาราคายาแพงและเข้าไม่ถึงยาจากการพัฒนากระบวนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ภายใต้การพัฒนานโยบายหรือกลไกสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมและประเทศต่อไป”
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้