4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

Knowledge Translation กับกระแสตอบรับในเวที Thailand Research Expo 2011

          การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นหัวใจสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้จากงานวิจัยไปให้ข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้อง การนำความรู้ไปขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ ฯลฯ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ร่วมกันจัดการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “การแปรผลการศึกษาวิจัยสุขภาพไปสู่การปฏิบัติระดับนโยบายสาธารณะ” ในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ในงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 (Thailand Research Expo 2011) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เวทีระดับชาติที่คับคั่งไปด้วยผู้คนจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน ในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มากความสามารถและประสบการณ์ ได้แก่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวรส. ผศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสายศิริ ด่านวัฒนะ นักวิชาการอิสระ ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการส่งเสริมงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นระดับการกำหนดนโยบาย หรือการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนสร้างแรงกระตุ้นให้นักวิจัยจากองค์กรและหน่วยงานในระบบวิจัยต่างๆ เห็นความสำคัญของการสื่อสารงานวิจัย

          ทพ.จเร กล่าวว่า การวิจัยในเมืองไทย มีความเสี่ยงสามระดับ ได้แก่ 1)ระดับปัจเจก (mindset of individual) ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีคิดของนักวิจัยแต่ละคน บางท่านวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานตีพิมพ์ บางท่านวิจัยเพื่อให้ได้ตำแหน่งวิชาการสูงขึ้นโดยไม่สนใจว่าใครจะเอางานของเราไปใช้ บางท่านใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบเดิมแต่เปลี่ยนประเด็นทำไปเรื่อยๆ 2)ระดับระบบ (system) บางครั้งระบบการสนับสนุนก็ไม่เอื้อ เช่น อยากให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีใครช่วย  อยากทำงานร่วมกับนักวิจัยสาขาอื่น แต่ติดขัดหลายเรื่อง ผู้บริหารไม่อนุมัติ กลัวเป็นผลงานร่วม เป็นต้น 3)ระดับนโยบาย (Policy) ประเทศไทยมีนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยที่ดี แต่ขาดการจัดการให้มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ขาดการติดตามกำกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ต่างคนต่างทำวิจัย แหล่งทุนวิจัยไม่คุยกัน ให้ทุนวิจัยซ้ำซ้อน มุ่งไปคนละทิศทาง แล้ววิจัยจะช่วยพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไร ปัจจุบันหน้าต่างโอกาสของการพัฒนาระบบวิจัยชาติเปิดแล้ว มีการรวมแหล่งทุนต่างๆมาคุยกันเพื่อกำหนดทิศทางวิจัยของประเทศ ประกอบด้วย 5 ส. และ 1 ว. ได้แก่ สวรส. สกว. สวทน. สวทช. สวก. และวช.  จะทำการบูรณาการและปฏิรูประบบวิจัยชาติเพื่อช่วยพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน

          ผศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวถึง กระบวนการแปลงความรู้ไปสู่การปฏิบัติและรูปแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ มีทั้งการนำผลงานวิจัยไปแก้ปัญหาในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย หรือการนำผลไปสู่การกำหนดนโยบาย ซึ่งบางครั้งผู้กำหนดนโยบาย อาจบอกคำถามไม่ชัดเจนแต่ต้องการข้อสรุปที่รวดเร็ว เมื่อได้รับผลการวิจัยไปแล้วทำให้การตัดสินใจมีความซับซ้อนเพราะนโยบายขึ้นกับอำนาจและงบประมาณ ส่วนนักวิจัยมีลักษณะที่สำคัญคือต้องการโจทย์ที่ชัดเจน ใช้เวลาในการผลิตผลงานนานเพราะต้องการงานที่มีคุณภาพ และบางครั้งเขียนผลการศึกษาออกมาในลักษณะเป็นทฤษฎีมากทำให้นำไปปฏิบัติได้ยาก และส่วนใหญ่เน้นการทำงานวิจัยตามความต้องการส่วนบุคคลมากกว่าคำนึงถึงปัญหาของประเทศ

          ทางด้าน นพ. ธีระ กล่าวถึง ประสบการณ์จากการทบทวนวรรณกรรม ได้ยกตัวอย่างของการแปลงความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา และการผลักดันให้เกิดการใช้ความรู้เป็นฐานของการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มีผลกระทบวงกว้าง เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงก่อนปี 2544 ประชาชนกว่า 30% ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการรักษาพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเหมาจ่ายรายหัวกับระบบตามจ่าย และวิจัยความเป็นไปได้ของกลไกการระดมทรัพยากร เมื่อผลวิจัยเสร็จได้มีการนำเสนอผลให้กับพรรคการเมือง โดยมีการพูดคุยกันระหว่างนักวิชาการ นักปฏิรูป นักการเมือง ภาคประชาชน จึงเกิดนโยบายดังกล่าวขึ้น
 
          ส่วน คุณสายศิริ เปิดเผยถึงประสบการณ์การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายสาธารณะ และเทคนิคการสื่อสารงานวิจัย เช่น เทคนิคการเขียนข่าว ควรเขียนผลลัพธ์ของงานวิจัยมากกว่ากระบวนการ พูดให้เห็นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงไปหาระบบใหญ่ และใช้คำในลักษณะอุปมาอุปไมย หากต้องการทำให้งานวิจัยได้ใช้ประโยชน์ เช่น การกำหนดนโยบาย หรือต้องการให้เป็นข่าว ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ เช่น ปัญหาชัดเจน มีข้อเสนอนโยบายที่ชัดเจน รู้ว่าใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีแนวร่วม มีขั้นตอนหรือแผนเชิงปฏิบัติที่ชัดเจน และแน่ใจว่าสามารถตอบคำถามสื่อมวลชนได้ มีการไตร่ตรองแล้วว่าไม่มีทางอื่นที่สะดวก ประหยัดเวลากว่านี้ และพร้อมจะรับมือกับการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม

          ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวสรุปประเด็นของการเสวนาว่า การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้ให้ทุนและนักวิจัยต่างก็เห็นว่ามีความสำคัญ ดังนั้นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการนำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ อาจใช้ยุทธศาสตร์ 5 ช. ได้แก่  เชียร์ให้นักวิจัยทำงานวิจัยที่ใหญ่ขึ้นและคำนึงถึงผู้ใช้ผลงาน ชี้ช่องทางขับเคลื่อนผลงานวิจัย ชวน นักวิจัยที่มี Public mind มาทำงานร่วมกันมองโจทย์ใหญ่ของระบบ ช่วย นักวิจัยเมื่อมีปัญหา เช่น ไม่กล้าการนำเสนอผลวิจัยผ่านสื่อมวลชน และสุดท้ายคือ เชื่อม นักวิจัยให้พบกับผู้กำหนดนโยบาย หรือนำผลงานวิจัยให้กลับไปสู่การพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น
ปิดท้ายกับความประทับใจจากความรู้สึกของผู้ร่วมฟังในเวทีครั้งนี้ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรู้ในการตัดสินใจ และพัฒนาการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น นอกจากนั้นรู้สึกว่าแนวคิด Knowledge Translation สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสาขา ไม่จำกัดเฉพาะภาคสุขภาพเท่านั้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้