4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

คนไทยบริโภคยาปี 53 พุ่งกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นล้าน เพิ่มเร็วกว่าเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

          คนไทยบริโภคยาปี 53 พุ่งกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นล้าน เพิ่มเร็วกว่าเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ชี้ควรเร่งแก้ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม และมุ่งใช้ยาในบัญชียาหลัก

          ผลวิจัยพบปี 53 มูลค่าการบริโภคยาในประเทศเป็นเงินกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นล้าน มีอัตราการเพิ่มสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านสุขภาพ และสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แนวโน้มยานำเข้าเพิ่มสูงเร็วมาก เบียดแซงยาผลิตในประเทศอย่างไม่เห็นฝุ่น กลุ่มยาที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1.ยาต้านการติดเชื้อ 2.ยากลุ่มระบบหัวใจหลอดเลือด 3.ยากลุ่มทางเดินอาหาร

          นพ.สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มของมูลค่าการบริโภคยาที่สูงมากนี้ เกิดจากทั้งราคายาที่สูงขึ้นเนื่องจากการมีสิทธิบัตร การที่คนไทยเข้าถึงยามากขึ้นจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ที่สำคัญที่สุดเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น และกระบวนการตลาดที่ขาดจริยธรรม รวมทั้งการที่คนไทยมีอายุยืนขึ้นและมีโรคเรื้อรังมากขึ้น ข้อมูลการบริโภคยาเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนนโยบายด้านยาและระบบสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่แสดงถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปริมาณ และมูลค่าการบริโภคยา ประเทศไทยควรเร่งแก้ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และทุกระบบหลักประกันสุขภาพควรหันมาใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สวรส.ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาระบบยาในหลายมิติ โดยเรื่องการพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านยาแห่งชาตินี้ ดำเนินการร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ผลการวิจัยได้สะท้อนให้เห็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาของประเทศที่มีจำนวนค่อนข้างสูง โดยพบว่าในปี 2553 ประเทศไทยมีการผลิตยาภายในประเทศ  คิดเป็นมูลค่า 46,895.7 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 99,663.8 ล้านบาท มูลค่าส่งออก 12,077.5 ล้านบาท ดังนั้นมูลค่ายาเพื่อการบริโภคในประเทศในราคาผู้ผลิต (ตาม price list) จึงเท่ากับ 134,482,077,585 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ งานวิจัยยังพบด้วยว่าแนวโน้มสัดส่วนยานำเข้า ซึ่งเคยต่ำกว่ายาผลิตในประเทศ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว มูลค่ายานำเข้าคิดเป็นเพียงหนึ่งในสามของการบริโภคยาในประเทศ แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็นสองในสามแล้ว ทั้งนี้การทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย ยังต้องทำงานกันอีกระยะยาว และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง สวรส.จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างงานวิชาการเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบยาของประเทศที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในภาพรวม

          “วันที่ 29-30 สิงหาคมนี้ สวรส.จะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สู่วิสัยทัศน์วิจัยระบบยาประเทศไทย ปี 2560” ณ โรงแรมสยามซิตี้ งานนี้จะเปิดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการยา และสาธารณสุขมากมาย ตลอดจนระดมข้อมูลเชิงประจักษ์จากเครือข่ายวิจัยระบบยาทั่วประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องระบบยาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และวิสัยทัศน์ในการแก้ไข พร้อมการประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบยาของประเทศ” น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

          ด้าน ดร.ภญ.ยุพิน  ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย.พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการกับทีมเครือข่ายวิจัยระบบยาของไทย ในเรื่องพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายยาแห่งชาติ  และการวิจัยระบบยาในทุกๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ อย. กำลังร่วมดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการสารสนเทศเพื่อจัดทำบัญชีรายจ่ายยาแห่งชาติ ซึ่งสามารถให้บริการผ่านทางอินเตอร์เนตเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและอุตสาหกรรมยาของไทยต่อไป  

          “ระบบยาเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญในระบบสาธารณสุข การพัฒนาระบบยาให้เกิดประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมสูงสุด จะต้องดำเนินการโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ซึ่ง อย.พร้อมจะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย” ดร.ภญ.ยุพิน กล่าวยืนยัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้