4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สานพลังเครือข่ายภาควิชาการและท้องถิ่นร่วมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

          สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดพื้นที่เสวนา “ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” ชวนเครือข่ายคนทำงานสุขภาพจากชุมชนท้องถิ่น หน่วยบริการสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายวิชาการภายในมหาวิทยาลัยมหิดล  และภาคีเครือข่ายอื่นๆ กว่า 80 คน เข้าร่วมพูดคุยเพื่อทบทวนบทเรียน ประสบการณ์ทุนเดิมของพื้นที่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และนำไปสู่การสร้างกลไกในการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของจังหวัดนครปฐมร่วมกัน เป็นการขยับบทบาทของภาควิชาการที่จะเคลื่อนให้เกิดงานสุขภาพชุมชนอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เน้นสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน เพิ่มพลังอำนาจให้กับท้องถิ่น เริ่มจากความต้องการของท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง มีการนำเสนอ Model นวัตกรรม ความสำเร็จจากหลายแหล่งเพื่อร่วมเรียนรู้ พร้อมการหนุนเสริมจากภาควิชาการที่จะเข้ามาช่วยให้ชุมชนเดินได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีเวทีการประชุมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน

          โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ได้จัดเวทีเสวนาร่วมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 1 ที่ห้องประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี  กรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกล่าวเปิดเสริมพลังคนทำงาน สร้างแรงบันดาลใจ และพญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีผู้เปิดประเด็นการเสวนา 3 ท่าน ใน 3 บทเรียนที่นำมาเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน นำเสนอ “รูปธรรมการทำงานของท้องถิ่น บทเรียนจากตำบลปากพูน นครศรีธรรมราช” รศ.ดร ขนิษฐา  นันทบุตร จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นำเสนอเรื่อง “บทบาทพยาบาลของชุมชน” และ นพ.นิทัศน์ รายยวา ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอ “การสร้างทีมสุขภาพชุมชน ผ่าน “นักสุขภาพครอบครัว (นสค.)” ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาควิชาการจากคณะ องค์กร สถาบัน ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายภาควิชาการภายนอก เครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดนครปฐม และภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการอื่นๆ รวมกว่า 80 คน

จัดทัพวิชาการหนุนเสริมพลังชุมชน
          พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร กล่าวถึงการเปิดเวทีเพื่อพูดคุยเรื่องการขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของจังหวัดนครปฐมในครั้งนี้ ว่าเป็นการทำงานต่อเนื่องมาระยะหนึ่งที่มาจากการตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายหลายภาคส่วนเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชน ในครั้งนี้มุ่งหวังจุดประกายความคิด ระดมต้นทุน บทเรียนประสบการณ์จากแต่ละภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกิดการตั้งโจทย์การพัฒนาจากความต้องการ ของชุมชนท้องถิ่นเอง โดยจะมีประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ลงลึกมากขึ้นต่อไปจากการแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และมีภาควิชาการที่พร้อมจะเข้ามาร่วมหนุนเสริมในงานที่แต่ละส่วนมีศักยภาพ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของชุมชน
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ในฐานะหัวขบวนทัพวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้รวบรวมคนที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความตั้งใจ และประสบความสำเร็จอย่างหลากหลาย มาแลกเปลี่ยนกัน สอดรับกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) โดยสามารถนำผลงานวิจัยและวิชาการทั้งหลายลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง โดยเป็นครั้งแรกที่ผนึกกำลังกันผ่านประเด็นงานด้านสุขภาพชุมชนและผสานด้วยความหลากหลายทางวิชาการด้านต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมีต้นทุนอยู่ โดยหวังว่า วิชาการจะได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง นำไปสู่การหนุนเสริมชุมชนที่มีคุณภาพได้

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี  นำเสนอความคิดต่อการเคลื่อนงานระบบสุขภาพชุมชน โดยเชื่อว่าตัวขับเคลื่อนในการทำงานสุขภาพชุมชนนั้นมีพร้อมแล้ว ทั้ง รพช. สอ. มีท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และมีหน่วยงานที่พร้อมหนุนเสริม เพียงแต่ต้องสร้างให้เกิดการเชื่อมโยงให้เป็นระบบให้ได้ โดยสุดท้ายอยากให้เกิดภาพการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ โดยให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิด 7 เรื่อง 1.จะเห็นทุกชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน โดยสร้างให้มีอาสาสมัครในชุมชนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีกองทุนจากสปสช.เข้ามาช่วยหนุน 2.การทำเศรษฐกิจพอเพียงในทุกชุมชน 3.การดูแลรักษาตัวเองในชุมชน (self care / family care/ community care / primary care) 4.การดูแลคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ทุกแห่ง 5.การดูแลผู้สูงอายุ 6.การควบคุมป้องกันโรค 7.การสร้างเสริมสุขภาพ 8.การแพทย์ฉุกเฉิน

ขายไอเดีย Best Practice จากเครือข่าย
          นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน นำเสนอรูปธรรมการทำงานของท้องถิ่น บทเรียนจาก ต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช  โดยเป็นการทำงานบนฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงระบบเป็น 3 ขุมพลัง ทั้งภาควิชาการ วิชาชีพ / ภาคราชการ การเมือง /ภาคชุมชนท้องถิ่น โดยเชื่อมไปสู่การทำงานด้านนโยบายสาธารณะในชุมชนร่วมกัน เช่น กิจกรรม อสม. กายภาพบำบัดชุมชน วารีบำบัดสำหรับเด็กออทิสติก การดูแลคนพิการในชุมชน ฯลฯ โดยการทำงานช่วงที่ผ่านมาพบว่า ภาพท้องถิ่นมีทั้งองค์กรและบุคคล ซึ่งมีขีดความสามารถ มีปัจจัยที่เอื้อต่อระบบ แต่ไม่มีใครนำทุนเหล่านี้มาคุย มาบูรณาการ โดยควรออกแบบระบบสุขภาพให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนในชุมชนท้องถิ่น
          รศ.ดร.ขนิษฐา  นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอเรื่องบทบาทพยาบาลของชุมชน  ให้ภาพการทำงานที่เป็น 3 ประสานกับ 6 ระบบหลัก คือการประสานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาพยาบาล โรงพยาบาลพื้นที่ โดยมีการเชื่อมให้ อบต.ส่งคนท้องถิ่นเรียนพยาบาลชุมชน สร้างคนให้ทำงานในชุมชนได้ โดยใช้เงินจากท้องถิ่น ทำให้เห็นระบบงานอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเชื่อมพลังในชุมชนและวิชาการให้ชุมชนเติบโตได้ ปัจจุบันมีพยาบาลที่เรียนจบแล้ว 380 คน จาก 5 รุ่น ใน 28 สถาบัน  
นพ.นิทัศน์ รายยวา  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอเรื่อง การจัดการกำลังคนด้านสาธารณสุขเพื่อเสริมความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิ โดยเน้นสร้างให้เกิดนักสุขภาพครอบครัว (Family Health Host) (นสค.) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ แต่เป็นบุคลากรสาธารณสุข อาทิ พยาบาล หรือนักวิชาการสาธารณสุข จัดให้ นสค. 1 คน ดูแลคนจำนวน 1,250 คน เน้นการระบบส่งต่อแบบญาติมิตร ถ้ามีการส่งต่อ นสค.จะทำหน้าที่พาคนไข้มาเอง ทำหน้าที่เสมือนญาติคนไข้ ช่วยให้คนไข้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ (แบบองค์รวม) โดย นสค.ทำหน้าที่เป็นตัวประสาน เป็นจุดเคลื่อนและต่อไปที่หน่วยบริการ รพสต.และรพช. (primary care) นสค. จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่สร้างให้เกิดระบบสุขภาพ ปัจจุบันมีนสค.มาจาก พยาบาลเวชฯ จำนวน 1,200 คน พยาบาลเทคนิค นักวิชาการสาธารณสุข และวิชาชีพอื่นๆ 1,800 คน หลายแห่งเกิดผลดี ชาวบ้านอุ่นใจ เกิดอะไรขึ้นสามารถโทรหา นสค.ได้  เมื่อประสบเคราะห์ภัย ช่วยประสานส่งต่อ ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการปฐมภูมิของประชาชน พร้อมทั้งนำระบบ IT เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการ
มองภาพการขับเคลื่อนงานระบบสุขภาพชุมชน  
          นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แลกเปลี่ยนว่าการเริ่มต้นพัฒนางานควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนที่วิธีคิด ออกจากกรอบความคิดเดิม โดยต้องคิดทั้งระบบ ไม่ใช่แค่แก้เฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะถ้าวิธีคิดเปลี่ยน การปฏิบัติก็จะเปลี่ยน สร้างวิธีคิดใหม่ให้กับคนที่เราจะร่วมทำงาน และสังคมไทยต้องการการเริ่มต้นเป็นตัวอย่าง แล้วค่อยขยายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับท้องถิ่นปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลง กระจายอำนาจ คนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ มีความคิดแบบใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ก็ควรกลับมาคิดใหม่ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง  นำไปสู่ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะระบบสุขภาพคือระบบที่ประชาชนอยู่ได้อย่างมีความสุข
          นพ.ประเวศ วะสี ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบสุขภาพ สอดคล้องไปกับแนวคิดปฏิรูปประเทศไทย ที่มีปัญหาโครงสร้างอำนาจไม่เป็นธรรม แนวคิดปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ คือลดการจัดการอำนาจจากส่วนกลางลง และให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจจัดการตัวเองมากขึ้นในทุกด้าน โดยมีภาคส่วนต่างๆ มาหนุนเสริมพลังให้ชุมชนเพื่อปรับโครงสร้างอำนาจจากฐานล่าง โดยเรานำสุขภาพมาเป็นตัวเดินเรื่อง และนพ.เชิดชัย  นพมณีจำรัสเลิศ ตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เสนอว่าการเริ่มต้นต้องมี Change Agent (Ticker Point) ต้องเน้นความเป็นผู้นำระดับท้องถิ่นที่เข้าไปช่วยเคลื่อน มีคนช่วยเชื่อมให้เกิด เช่น นักสื่อสารสุขภาพ (นสส.) นักสุขภาพครอบครัว (นสค.) ต้องเข้าไปช่วย
ดร. โสฬส ศิริไสย์ อาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย แลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ทำงานกับชุมชน พบว่า ธรรมชาติคนทำงานชุมชนจะมีจริตบางอย่างที่ต่างจากคนอื่น ถ้าจะลงชุมชนต้องหาคนทำงานชุมชนตัวจริงให้เจอ โดยใช้กระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่อง มีการทำงานกระบวนการเพื่อค้นหา จะทำให้เราเห็นคนทำงานชุมชนตัวจริง (Change Agent) ถ้าเราสามารถหาคนกลุ่มนี้เจอ แล้วมาทำอะไรร่วมกัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเหมือนผีเสื้อตัวเล็กๆที่ขยับปีกพร้อมกัน ในการเปลี่ยนวิธีคิดน่าจะเริ่มจากการฟัง กระบวนการพูดคุย ให้คนเคารพ เชื่อใจ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แล้วมันจะคุยกันได้ และเป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนวิธีคิดได้ ส่วนเทคนิคจะตามมาทีหลัง

              สุดท้ายเวทีร่วมกันสรุปว่าทรัพยากรด้านสุขภาพทั้งหลายมีอยู่แล้ว แต่จะต้องช่วยกันจัดระบบให้มีการเชื่อมโยงสานพลังการทำงานเป็นระบบเครือข่ายที่ชัดเจน โดยทุกภาคส่วนที่ทำงานอยู่กับชุมชนในทุกระดับและมิติต่างๆ พร้อมเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมเรียนรู้ ร่วมกันหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้บทบาทของวิชาการหรือมหาวิทยาลัยกลายเป็นช้างที่สามารถบินได้ และเข้าไปช่วยให้ศักยภาพชุนชนได้เติบโตและเป็นฐานของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรก เป็นการเริ่มต้น ต่อจากนี้จะสร้างให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยกันทุกเดือนต่อเนื่องไป เพื่อสร้างสิ่งดีๆใหม่ๆให้กับระบบสุขภาพชุมชนสมความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่มีใจเข้าช่วยกัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้