4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เปิดเวทีย่อย PMAC ปี 2561 ระดมภาคีแก้วิกฤตโรคอุบัติใหม่ฯ “เชื้อดื้อยา – ไวรัสซิก้า” ต่อยอดวิจัยเพื่อพัฒนา “เฝ้าระวัง-ป้องกัน-ควบคุม-รักษา” ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ประสานงานการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพขององค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช-พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมย่อยคู่ขนานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำและการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 (Price Mahidol Award Conference 2018) โดยมีผู้แทนหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน ร่วมการประชุม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า โรคติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นโรคอุบัติใหม่กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพของประชากรทั่วโลก เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา    จะไม่มียาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิผลดีสำหรับรักษา และเชื้อดื้อยายังสามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่น และสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาจากเชื้อดื้อยาชนิดหนึ่งไปยังเชื้อชนิดอื่นหรือเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ด้วย  สวรส. ตระหนักว่าปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการแก้ไขด้วยการวิจัยเชิงระบบตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อวิเคราะห์ขนาดปัญหา ปัจจัยการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนพัฒนาวิธีการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา และมาตรการป้องกัน ควบคุมเชื้อดื้อยาในประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้ลดการป่วย การตาย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคติดเชื้อดื้อยา นอกจากนี้ การวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสซิก้าในประเทศไทยก็มีความสำคัญ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสซิก้าในหลายประเทศ

ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวและแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพขององค์การอนามัยโลก โดยการสนับสนุนจาก สวรส. ทำให้ทราบว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 100,000 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 30,000 ราย เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และทราบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในชุมชนและในโรงพยาบาล โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา คือการใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินความจำเป็นทั้งในคนและสัตว์ และการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลยังด้อยประสิทธิภาพ ผลงานวิจัยที่พบได้นำมาใช้พัฒนามาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย และโครงการฯ ได้นำมาตรการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในชุมชนนำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถนำไปขยายผลและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้
    
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่ามีการแพร่กระจายเชื้ออย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาจากยุงลายพาหะใน 67 ประเทศ ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้ไวรัสซิก้าจัดเป็นความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก แม้ว่าการติดเชื้อซิก้าจะไม่ทำให้เกิดโรครุนแรงในคนทั่วไป แต่การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดความพิการทางสมองและภาวะสมองเล็กของทารกในครรภ์ได้ ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าในปี 2555 จนถึงสิ้นปี 2558 มีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละ 5 ราย ในขณะที่ ปี 2559 รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิก้าตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 มีรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 97 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงมีแนวโน้มของการการระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศไทยที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันจะไม่ทราบว่าเหตุใดไวรัสซิก้าในประเทศไทยจึงยังไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่เหมือนอย่างที่พบในแถบอเมริกา จึงได้มีงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างการศึกษา โดยเครือข่ายนักวิจัยของ สวทช. เช่น การวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิก้าในประชากรไทย เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลความจำเพาะของแอนติเจนต่อแอนติบอดี้ต่อไวรัสซิก้าในประชากรไทย โดยข้อมูลที่ได้จะตอบคำถามว่าประชากรไทยว่ามีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้วหรือไม่ และประชากรที่มีภูมิคุ้มกันแล้วมีจำนวนมากเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศไทยได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมี การศึกษาวิจัยบทบาทของภูมิคุ้มกันข้ามกลุ่มต่อไวรัสไข้เลือดออกในการติดเชื้อไวรัสซิก้า เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจพบแอนติบอดี้ต่อไวรัสไข้เลือดออกในเลือดของอาสาสมัครที่สัมผัสโรคกับการติดเชื้อไวรัสซิก้า ซึ่งผลการศึกษาจะบอกได้ว่าการมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้เลือดออก จะมีผลต่อการติดเชื้อซิก้าหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

สำหรับเวทีการประชุมย่อยคู่ขนานในงาน PMAC มีการระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางสำคัญในการจัดการความรุนแรงของสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการความรู้โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำกรณีการติดเชื้อไวรัสซิก้าในไทย การตรวจหา การป้องกัน การตอบสนอง และการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสซิก้าในอนาคต การติดเชื้อไวรัสซิก้าในหญิงตั้งครรภ์ กับผลต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การใช้วัคซีนต้านจุลชีพในสุกรของไทย การดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้