ข่าว/ความเคลื่อนไหว
มติคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยและพัฒนาการกระจายอำนาจสุขภาพ สวรส. ย้ำ งานวิชาการต้องคำนึงถึงบริบทในสังคมที่เปลี่ยนไป และพยายามวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบการกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอเป็นแบบอย่างในการปรับใช้แต่ละพื้นที่
การกระจายอำนาจด้านสุขภาพยังเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเกาะติดสถานการณ์และช่วยกันหาทิศทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ด้านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพผ่านการทำงานวิชาการได้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยและพัฒนาการกระจายอำนาจสุขภาพ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอโครงร่างการวิจัยและผลการวิจัยในแผนงานฯ โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานในการประชุม
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอโครงร่างการวิจัยสถานการณ์การจัดบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการจัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดอปท. เช่น สิ่งจูงใจให้ตั้ง ปัญหาอุปสรรคในการจัดตั้ง การบริหารจัดการและคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งศึกษาความร่วมมือในการจัดระบบสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขระหว่างศูนย์บริการฯ ของอปท. และสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการใช้บริการของศูนย์บริการฯ สังกัด อปท. โดยกลุ่มตัวอย่างคือ ศูนย์บริการฯ สังกัดเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงร่างการวิจัยเรื่องท้องถิ่นกับการรับโอนภารกิจการพัฒนาสุขภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และถอดบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาสุขภาพในบริบทของพื้นที่ถ่ายโอนสถานีอนามัยจากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดอปท. โดยประเมินผลกระทบในเชิงการบริหารจัดการ การเงินการคลัง การแก้ปัญหาและการตอบสนองต่อสุขภาพของประชากรในพื้นที่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ พัฒนารูปแบบการถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพสู่อปท.
ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เสนอผลการประเมินการดำเนินการ 10 ปีของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) พบว่า ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นในการพัฒนาโรงพยาบาล มีประสิทธิภาพและคล่องตัวในเรื่องการบริหารจัดการ จากบทเรียนของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มีข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นองค์การมหาชนสองทางเลือกคือ ทางเลือกที่ 1 ให้สถานีอนามัยทุกแห่งในอำเภอรวมกันเป็นกลุ่มเชื่อมกับโรงพยาบาลชุมชนเป็นเครือข่าย พัฒนาเป็นองค์การมหาชนหรือหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ โดยอาจขยายพื้นที่ทางเลือกนี้รวมเป็นเครือข่ายบริการภายใต้คณะกรรมการบริหารในระดับจังหวัด/องค์การมหาชน หากต้องการเอกภาพการจัดบริการสุขภาพทุกระดับทั้งในระดับอำเภอ/จังหวัด หรือ ทางเลือกที่ 2 รูปแบบการบริหารโรงพยาบาลองค์การมหาชน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หากต้องการเน้นการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลและบริการตติยภูมิ ให้มีความคล่องตัวในการจัดจ้างบุคลากรการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยระบบที่มีความยืดหยุ่น โรงพยาบาลของรัฐแห่งอื่นที่ต้องการออกนอกระบบ ควรเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ ที่สามารถระดมทรัพยากรในพื้นที่ได้
ส่วนมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางฯ ย้ำการวิจัยสถานการณ์การจัดบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรทำการศึกษาเฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุขที่ตั้งขึ้นใหม่ในอปท.และเป็นพื้นที่เดียวกับที่มีสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจำกัดขอบเขตในการศึกษางานด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต้องมีศูนย์บริการ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นศูนย์บริการที่อปท.ตั้งเอง ไม่รวมสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนทั้ง 28 แห่ง และไม่รวมสถานีอนามัยของกระทรวงฯที่อปท.ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งอาคารเพิ่มเติม ส่วนการวิจัยท้องถิ่นกับการรับโอนภารกิจสุขภาพ ควรคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนจากสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ (networking) เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นให้เรียนรู้งานด้านสุขภาพในการรองรับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
นอกจากนั้น ด้านโครงการประเมินผลรพ.บ้านแพ้ว ควรประเมินโดยใช้บทบาทการเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ต้องดูแลประชากรในอำเภอบ้านแพ้ว ทั้งด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู เพื่อเทียบกับ รพ.ชุมชนขนาดเดียวกัน ด้านประสิทธิภาพทางการเงินหากตัดแหล่งรายได้จากภายนอกแล้ว รพ.จะอยู่รอดได้หรือไม่ ส่วนการบริหารงานบุคคล ค่าตอบแทนแพทย์ รพ.บ้านแพ้วโดยรวมไม่ได้สูงกว่า รพช. อื่นหลังปรับค่าตอบแทนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขอาจมองเห็นทางออกมากขึ้นกรณีบริหารค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขในขณะนี้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้