4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รองนายกฯ หนุนยกระดับบุคลากรสายสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เล็งใช้ไอซีที ช่วยพัฒนาระบบบริการ วิจัยชี้กำลังคนไม่ใช่แค่ผลิต แต่ต้องวางแผนทั้งระบบ

          เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ มูลนิธิการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมพลัง สร้างวิชาชีพสุขภาพ” โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Transformative Health Professional Education in Thailand 4.0 ว่า ในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่มีผลต่อระบบสุขภาพทั่วโลก ทั้งความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงและคุณภาพ โรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคเรื้อรังทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอีก 20 ปี ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ โดยปรับให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง

          พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ระดับโลกอย่างน้อย 2 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรและอาหาร และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับด้านสุขภาพนั้น การจะมีรากแก้วเป็นของตัวเองจะต้องเริ่มจากรากฐานที่สำคัญคือ การสร้างคนทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญของไทยแลนด์ 4.0 และเป็นเรื่องแรกที่จะต้องดำเนินการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดยการประชุมในครั้งนี้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนการสอนและการวิจัยระบบสุขภาพเชิงนโยบายในสถาบันการศึกษา ร่วมกับเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพและกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยการนำเอาระบบบริการและการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพเป็นตัวตั้ง พัฒนาขีดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพอย่างครบวงจร

          ทางด้าน ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ความก้าวหน้าและก้าวไกลของเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง การประชุมในครั้งนี้  ได้จำแนกหัวข้อนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ด้านการปฏิรูปสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้านการปฏิรูปการศึกษาสำหรับสถาบัน ความร่วมมือจากบุคลากรสุขภาพในระบบบริการสุขภาพ สถาบันการศึกษาและสภาวิชาชีพต่างๆ การพัฒนาอาจารย์ การบริหารจัดการสถาบัน และเครื่องมือการวัดผลที่ได้รับการยอมรับ และ 2.ด้านปฏิรูปการเรียนการสอน ประกอบด้วย หลักสูตร ศักยภาพของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผลและสภาพแวดล้อม โดยในงานจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพต่อไป

          ศ.พญ.วณิชา กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาและเตรียมพร้อมบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ด้วยว่า ข้อมูลจากการศึกษาเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข​ (สวรส.) ระบุว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณกำลังคนเข้าสู่ระบบเท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการคงอยู่ของกำลังคน เพราะการวางแผนที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ความขาดแคลนหรือการกระจายที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดปัญหาบุคลากรเกินความต้องการของประเทศ หรือบุคลากรกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมืองมากกว่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

          “ข้อแนะนำเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ควรดำเนินมาตรการในการรักษากำลังคนด้านสุขภาพให้คงอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม  โดยการบูรณาการมาตรการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการจ้างงาน ระบบค่าตอบแทน และระบบความก้าวหน้า แต่ละสภาวิชาชีพควรมีการทบทวนการกำหนดสมรรถนะของบัณฑิต รวมทั้งทบทวนข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ โดยใช้ผู้ป่วยและประชาชนเป็นศูนย์กลางของการให้บริการ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุมและกำกับมาตรฐานการทำงานของกำลังคนด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และเอื้อให้เกิดการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ” เลขาธิการ มูลนิธิ ศสช. กล่าว

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้