4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยภัยพิบัติ เพื่อการเรียนรู้และอยู่รอดของชุมชน

          ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานผลกระทบจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นำมาสู่การเกิดพายุโซนร้อน “ตาลัส” และ “เซินกา” ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.เรื่อยมา ถึงต้นเดือน ส.ค.2560 ส่งผลให้พื้นที่ประเทศไทย 44 จังหวัด รวม 301 อำเภอ ประชาชน 583,448 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม โดยในด้านความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน พบมีผู้เสียชีวิต 32 ราย พื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในจังหวัดสกลนคร และหลายจังหวัดในภาคอีสาน ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศไทย

 

          ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 12 นั้น ระบุให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยหาแนวทางและมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง แต่บทเรียนที่ผ่านมา พบว่าแผนป้องกันนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามแผนที่วางไว้ องค์ประกอบสำคัญที่ขาดหายไป คือ ความรู้ บทบาทและทักษะที่ชุมชนควรได้รับการพัฒนา เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เห็นความสำคัญที่ต้องวิจัยและพัฒนาในประเด็นดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยจากบทเรียนในพื้นที่ตัวอย่างที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติ ร่วมกับการพัฒนาชุมชนให้มีความรู้และทักษะที่จะเผชิญภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดซ้ำขึ้นอีก โดยในปี พ.ศ.2557 สวรส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย “โครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน” เพื่อศึกษาประสบการณ์และการจัดการรับมือภัยพิบัติของชุมชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) 8 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อยุธยา นครปฐม สงขลา และภูเก็ต โดยความรู้ที่ได้จากการศึกษาสามารถนำไปสื่อสารและขยายผลให้มีการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนอื่นๆต่อไป

          นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำทีมวิจัยลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการผสมผสานการศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพร่วมกับชุมชนที่เผชิญกับภัยพิบัติจากน้ำท่วมซ้ำซากหรือมีความเสี่ยงเกิดซ้ำในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 8 แห่ง โครงการนี้ให้ความสำคัญกับ “นิเวศวัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งหมายถึงชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในระบบนิเวศหนึ่งๆ ย่อมมีการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมนั้นๆ จนตกผลึกเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมชุมชนเพื่อดำรงอยู่ในระบบนิเวศฯ ได้อย่างกลมกลืน เพราะชุมชนเป็นคนกลุ่มแรกที่เผชิญหน้ากับภัยพิบัติ การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาจากมุมมองของคนในชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ชุมชนในบริบทที่มีความหลากหลายมาเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ

          ทีมงานวิจัยได้มีการดำเนินการศึกษาร่วมกับชุมชน โดยเริ่มต้นจากการทำฐานข้อมูลชุมชนกับภัยพิบัติในทุกมิติของพื้นที่ที่นำคำบอกเล่าและประสบการณ์คนในชุมชนมาวิเคราะห์ โดยมี เครื่องมือภัยพิบัติชุมชน 9 ชิ้น (ที่พัฒนามาจากเครื่องมือ 7 ชิ้น วิถีชุมชน ของนักมานุษยวิทยาชุมชนที่ใช้ศึกษาชุมชน) มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยมองปรากฏการณ์ ซึ่งเครื่องมือแต่ละชิ้นจะมีจุดเด่นที่สามารถเข้าถึงและค้นหาความเข้าใจในแต่ละมิติภัยพิบัติของชุมชน

 

          เครื่องมือภัยพิบัติ 9 ชิ้น ประกอบไปด้วย

  1. ผังประวัติศาสตร์ภัยพิบัติชุมชน เป็นการรวบรวมเหตุการณ์ภัยพิบัติด้วยแผนผัง อาศัยข้อมูลจากคนในชุมชนร่วมกันวิเคราะห์เงื่อนไขที่ส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดความเสียหายอย่างเป็นเหตุเป็นผลในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้ชุมชนสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงในพื้นที่และยังแสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว
  2. แผนที่ชุมชนรับมือภัยพิบัติ แผนที่มีชีวิตที่เกิดจากการเดินดินสำรวจชุมชนระบุแหน่งสถานที่สำคัญ พื้นที่ความเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง การทำแผนที่ส่งผลให้ชุมชนเข้าใจมิติกายภาพและความสัมพันธ์ในชุมชน
  3. ผังเครือญาติ เป็นการใช้สัญลักษณ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบเครือญาติหนึ่งๆ
  4. ผังเครือข่ายและองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือช่วยให้มองเห็นความหลากหลายและเข้าใจเครือข่ายและองค์กรทั้งแบบทางการและไม่ทางการ ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างไรบ้าง
  5. ระบบสื่อสารชุมชน เป็นเครื่องมือรวบรวมช่องทางการสื่อสาร ที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถบริหารการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับงานภัยพิบัติ เช่น ระบบแจ้งภัย เตือนภัย
  6. ตารางทุนชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนไม่ใช่ภาชนะว่าง จึงมีการสำรวจศักยภาพชุมชนเพื่อดึงขีดความสามารถนั้นเพื่อประยุกต์ใช้ต่อการรับมือภัยพิบัติ เช่น ความรู้ภูมิปัญญา องค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน เป็นต้น
  7. ปฏิทินชุมชน ปฏิทินภัยพิบัติ เป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลกิจกรรม เหตุการณ์ เช่น ประเพณีชุมชน วันสำคัญ ช่วงที่เคยเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อการวางแผนและประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า
  8. ระบบสุขภาพและการแพทย์ฉุกเฉิน ข้อมูลสุขภาพชุมชนในสถานการณ์ปกติและฉุกเฉิน เช่น บุคลากร หน่วยบริการ ระบบส่งต่อผู้บาดเจ็บ เครื่องมือทางการแพทย์ ยา ช่องทางติดต่อ มีความสำคัญในการดูแลกลุ่มเปราะบางช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ
  9. เรื่องเล่าภัยพิบัติ รวบรวมประสบการณ์ การเผชิญภัยพิบัติ เรื่องราวการร่วมมือของชุมชน

 

          จากการนำเครื่องมือภัยพิบัติชุมชน 9 ชิ้นมาใช้ กรณีพื้นที่ศึกษาชุมชนบ้านวังตลับและทรายเพชร ตำบลถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดริมแม่น้ำตาปี เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ทีมวิจัยสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำฐานข้อมูล ช่วยทำให้เห็นการจัดการภัยพิบัติของชุมชนที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ซึ่งมีความสอดคล้องกับองค์ประกอบของเครื่องมือภัยพิบัติชุมชน เช่น ชุมชนมีการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่เดินดินฉบับชุมชน โดยปรับปรุงจากแผนที่ของ รพ.สต.ถ้ำพรรณรา และเพิ่มเติมข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน เช่น ระบุบ้านประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ เพื่อการให้ความช่วยเหลือ การกำหนดเส้นทางอพยพ โดยสำรวจข้อมูลจากผู้นำชุมชน อสส. และนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการให้ความช่วยเหลือ เช่น ถนนเส้นไหนเอาเรือเข้าไปได้ เส้นทางไหนยากลำบาก หรือในการเตรียมแผนอพยพ   ในสภาวะน้ำท่วม ซึ่งเรือและเสื้อชูชีพนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้อพยพผู้คนในครัวเรือน จึงมีการเสนอและผลักดันให้ท้องถิ่นจัดหาเรือและเสื้อชูชีพแก่ชุมชนในทุกหลังคาเรือน รวมทั้งมีการเตือนภัยและกู้ชีพ เช่น การสร้างทีมกู้ภัยกู้ชีพ โดยส่งตัวแทนชาวบ้านเข้ารับการอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น การเคลื่อนย้ายคนบาดเจ็บในพื้นที่น้ำหลากและบนบก การใช้เรือ การใช้เชือกและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายต่างๆ ตลอดจนการใช้วิทยุสื่อสาร ในการรับข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากทางจังหวัด เป็นต้น

          จะเห็นว่าเครื่องมือภัยพิบัติชุมชนได้ช่วยให้เกิดการรู้ “นิเวศวัฒนธรรมชุมชน” มิติต่างๆ ทั้งการรู้ประวัติศาสตร์ รู้คน รู้ชุมชน รู้พื้นที่กายภาพ ซึ่งกระบวนการที่มีการเริ่มต้นจากข้อมูลเหล่านี้ เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ภายในชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถึงวันนี้ชุมชนบ้านวังตลับและทรายเพชร ต.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช มีแผนรองรับภัยพิบัติฉบับชุมชน และได้กลายเป็นบทเรียนจากท้องถิ่นให้พื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันต่อไป

          โครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน ได้มีการศึกษาต่อเนื่องเป็นโครงการระยะที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในปี 2560 โดยศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องภัยแล้ง ดินถล่ม แผ่นดินไหว และไฟป่า ในพื้นที่แตกต่างกัน เพื่อเปิดมุมมองต่อการจัดการภัยพิบัติของชุมชนคนในพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ให้เกิดความเข้าใจปรากฎการณ์ และเกิดวิธีการจัดการต่อประเด็นภัยพิบัติ ที่อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการภัยพิบัตินั้นมีความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้