4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“จิตเวช” ภาระโรคสำคัญ ที่รัฐมองข้าม

วิจัยชี้ “จิตเวช” ยังพบช่องว่างของระบบและการเข้าถึงบริการต่ำ ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์สูง แนะรัฐสนับสนุนและพัฒนาการให้บริการเชิงรุกในชุมชน

  • “จิตเวช” ช่องว่างของระบบบริการและการเข้าถึง : วิจัยชี้ สอดรับกับ WHO “คนไทยเข้ารับบริการต่ำ”

          ปัจจุบันปัญหาของกลุ่มโรคจากความผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น โรคจิตเภท ซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว รวมถึงการติดสุรา สารเสพติด นับเป็นปัญหาสำคัญและเรื้อรังในประเทศไทย

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดลำดับความสำคัญของโรคและการเจ็บป่วย รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณโดยเน้นหนักไปกับโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย อาทิ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หัวใจ อุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้โรคหรือพฤติกรรมที่ส่งผลต่อภาวะบกพร่องทางสุขภาพ โดยเฉพาะความพิการที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช รวมทั้งปัญหาการติดสุราและสารเสพติด มักได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบบริการและการพัฒนาบุคลากรน้อย ทั้งนี้ ข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2551 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน มีผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา ราว 5.3 ล้านคน แต่เข้ารับการบำบัดรักษาไม่ถึง 1.2 แสนคน สะท้อนได้ว่าการเข้าถึงบริการจิตเวชยังมีอยู่อย่างจำกัด สวรส. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาแนวทางในการออกแบบระบบบริการ และลดผลกระทบอื่นๆที่อาจตามมา

          รศ.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบาดวิทยาประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของงานวิจัยดังกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 3,877 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตเทศบาลคูคตและลำสามแก้ว ปทุมธานี ระหว่าง มิ.ย.-ก.ย.58 โดยสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามด้วยเครื่องมือ “WHO-CIDI” เพื่อประเมินความผิดปกติทางจิตและประวัติการใช้บริการสุขภาพจิต และการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีเพียง 11.8% ของผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต เคยปรึกษาหรือรับบริการปัญหาสุขภาพจิตในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเพียง 2.9% ของผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยทางจิตในรอบปีผ่านมาเข้ารับคำปรึกษาฯ ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 1.8% ของผู้มีประวัติปัญหาการติดสุราและใช้สารเสพติด เคยเข้ารับคำปรึกษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และไม่เคยเข้ารับปรึกษาฯ ครั้งสุดท้ายภายใน 1 ปีที่ผ่านมาเลย หรือคิดเป็น 0%

           ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาการติดสุราและสารเสพติดในช่วงชีวิตและในรอบ 1 ปี  ที่ผ่านมาเข้ารับบริการในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจมาจากการไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อนเลยหรือหยุดการรักษาไปนาน สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง จะมีประชากรเพียง 1 ใน 10 ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ที่รับบริการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยอุปสรรคในการเข้ารับบริการอาจมาจากตัวผู้ป่วยและญาติ เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย การเป็นภาระต่อญาติในการนำมารักษา การขาดแคลนสถานพยาบาลและบุคลากรที่ให้บริการ ปัญหาของระบบบริการโดยรวม ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในสัดส่วนที่สูงกว่ามากให้กับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับโรคที่ทำให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพจากความผิดปกติทางจิต เป็นต้น

 

  • “จิตเวช” ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์สูง เสนอ สธ. ลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาการให้บริการเชิงรุก

          รศ.นพ.ตะวันชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย ยังมีน้อย หลักฐานการศึกษาที่มีอยู่จากประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางหรือต่ำ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาจากโรคทางจิตเวช ปัญหาสุรา ยาเสพติด คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางกายอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนวัยทำงาน วัยเรียน ที่มีอาการของโรคเรื้อรังต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง การไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้ต้องออกจากการเรียนกลางคันหรือขาดรายได้จากการหยุดงานหรือตกงาน เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมในระยะยาว

          ผลการศึกษานี้ประมาณการว่า ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีรายได้โดยเฉลี่ยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยหรือเคยป่วยแต่ปัจจุบันไม่มีอาการแล้วประมาณ 76,000 บาท เนื่องจากการตกงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติป่วยทางจิตแต่ในขณะที่ไม่มีอาการนั้นมีรายได้ในรอบ 1 ปี ไม่แตกต่างจากผู้ไม่เคยป่วย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่หายป่วยแล้วนั้น สามารถกลับไปทำงานมีรายได้ได้ตามปกติไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยป่วย ดังนั้นการลงทุนในการให้บริการรักษาที่มีประสิทธิผลดีและผู้ป่วยเข้าถึงได้จึงน่าจะช่วยลดภาระต่อสังคมในระยะยาว

          ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ควรให้ความสำคัญในการลงทุนด้านงบประมาณและพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตในเชิงรุก โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เรียกว่า Collaborative Care ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆในการค้นหาและคัดกรองการเจ็บป่วยทางจิตเวชในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งต่อสถานพยาบาลจิตเวชใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆและอย่างต่อเนื่อง

           ทั้งนี้ โครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่ริเริ่มโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมบ้านติดตามผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียน แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องการพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น โครงการยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการรักษา หรือผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาจากพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น หากเป็นไปได้ควรศึกษาและพัฒนาระบบการคิดต้นทุนและการเบิกจ่ายบุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องอยู่สังกัดเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องระบบการส่งต่อ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนมาตรการในระยะยาว เช่น เพิ่มการผลิตบุคลากรทางด้านจิตเวชในพื้นที่ขาดแคลน ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : “จิตเวช” ความเจ็บป่วยที่ถูกลืม วิจัยสะท้อนช่องว่างการเข้าถึง พร้อมเสนอพัฒนาระบบบริการ แก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช ลดผลกระทบสังคม https://www.hsri.or.th/researcher/media/news/detail/7860

ดาวน์โหลดงานวิจัย : การศึกษาช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน https://goo.gl/85F5RV

สำหรับท่านที่ต้องการเครื่องมือแบบสอบถาม PSQI ขอให้ท่านติดต่อนักวิจัยโดยตรง
เนื่องจาก สวรส. ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำเครื่องมือดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิบนเครื่องมือนั้นครับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้