4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ขึ้นทะเบียนต่างด้าวรอบใหม่ ดึงแรงงานกว่า 2 ล้านเข้าระบบ-กรุงเทพธุรกิจ

          ปัญหาขาดแคลนแรงงานประเภทงานหนัก สภาพแวดล้อมสกปรกและอันตรายส่งผลให้นายจ้างจำนวนมาก ต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้ว และให้ขอใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายหลายครั้ง ล่าสุดกำลังจะเปิดให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนอีกเป็นครั้งที่ 6 เริ่มต้นในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ไปจนถึงวันที่ 14 ก.ค.2554 รวมระยะเวลา 30 วัน

          โดยก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2554 ให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี โดยจะต้องเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย มาก่อนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าแรงงานต่างด้าวในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน

          อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ที่จะถึงนี้ นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จะคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นอันดับแรก รองลงมาคือด้านเศรษฐกิจ และสังคม จึงได้จัดทำระบบข้อมูล Bio Data เป็นครั้งแรกเพื่อจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญของบุคคล นั่นคือ ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว จากเดิมที่เก็บเพียง 2 นิ้ว และมีการถ่ายภาพโครงสร้างใบหน้า ซึ่งสามารถระบุตัวบุคคลได้ชัดเจนกว่าภาพถ่ายธรรมดา ช่วยให้ฝ่ายความมั่นคงนำไปตรวจสอบได้ และยังเป็นการป้องกันการเปลี่ยนตัว หรือการจดทะเบียนซ้ำซ้อนอีกด้วย         


          "ข้อมูลนี้หน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ที่จะสามารถตรวจสอบข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่มีความผิด ถูกแบล็คลิสต์ และผลักดันให้ออกนอกประเทศไปแล้ว หากจะมีการกลับเข้าประเทศอีก ก็จะสามารถรู้และตรวจสอบได้ทันที รวมถึงยังป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไม่ให้ออกไปอยู่นอกระบบได้อีกด้วย"

          อธิบดีกรมการจัดหางาน ย้ำว่า การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ถือเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้จำนวนที่ชัดเจน แล้วจัดเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องนำไปสู่ความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ที่สำคัญคือ ช่วยให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบ และควบคุมแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ดังนั้น หน้าที่ของนายจ้าง และสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในตอนนี้ คือ เตรียมตัวไปยื่นคำร้องขอจ้างคนต่างด้าว (แบบ ท.ต.1) ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 - 10 ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ในวันที่ 15 มิ.ย.-14 ก.ค.2554 นี้

          จากนั้นยื่นคำร้องขอจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าว ณ สำนักงานอำเภอ หรือท้องถิ่นและติดต่อขอนัดตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด โดยเสียค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1,300 รวม 1,900 บาท แล้วไปยื่นคำขออนุญาตทำงาน (ต.ท.8) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 พร้อมชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ 100 บาท รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบขอนุญาตทำงานปีละ 900 - 1,800 บาท แล้วแต่พื้นที่การทำงานและประเภทกิจการ ซึ่งกรมการจัดหางานคาดว่าการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ จะมีนายจ้างมายื่นขอใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว ประมาณ 2 แสนราย

          ทั้งนี้ หากพ้นระยะเวลาที่กำหนด แรงงานต่างด้าวที่ไม่เข้าสู่ระบบ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังทั้งนายจ้างและตัวแรงงานต่างด้าว โดยนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีความผิดปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          นางสุทัศนี กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ยังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน ก็จะถึงวันขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าววันแรก นายจ้างที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ในสถานประกอบกิจการประเภทต่างๆ น่าจะยังพอมีเวลาเตรียมการ และติดตามขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 และสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว โทร.0-2354-1767 หรือศูนย์มิตรไมตรี กรมการจัดหางาน โทร.1694

          ด้าน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเสริมว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเที่ยวนี้ จะเน้นให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างที่พาแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนให้มากที่สุด โดยจะขอให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง และกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาตั้งโต๊ะรวมกับเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานในแต่ละจังหวัด โดยจัดให้เป็นจุด one stop service เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวก


          นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามจับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว ลักลอบทำงาน จำนวน 160 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบ จับกุมแรงงานต่างด้าว และสาย หรือนายหน้าเถื่อนไปฝึกอบรมอย่างเข้มข้นที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 19 พ.ค. - 2 มิ.ย.2554 รวม 14 วัน เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งด้านศักยภาพของร่างกาย และจิตใจ ที่สำคัญ คือ เป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ในการสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 แห่ง เช่น กรมการปกครอง นาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และตำรวจตระเวนชายแดน

          โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้กว่า 6,115 ราย นายจ้าง 365 ราย รวมไปถึงการดำเนินคดีกับสายหรือนายหน้าเถื่อนอีกจำนวน 10 คดี ซึ่งหลังจากเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเข้ม เพื่อกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนครอบคลุมทั่วประเทศ

          ทั้งนี้ ข้อมูลแรงงานต่างด้าวถึงเดือน มี.ค.2554 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันและอนุญาตทำงานในปี 2553 จำนวน 932,255 คน พิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 519,531 คน เป็นคนพม่า 436,429 คน ลาว 34,999 คน กัมพูชา 48,103 คน คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอีก 412,724 คน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อน จึงจะไปเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติได้ อย่างไรก็ตาม การต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้หมดเขตไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2554 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีแรงงานต่างด้าวมาต่ออายุใบอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 394,903 คน เป็นคนพม่า 360,730 คน ลาว 13,538 คน กัมพูชา 20,635 คน


          หลังจากนี้ คงต้องติดตามการทำงานของกรมการจัดหางาน ว่าจะบริหารจัดการกับแรงงานต่างด้าว ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะระบบสวัสดิการด้านแรงงาน

          เมื่อรัฐเปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มนี้ขึ้นมาสู่ระบบถูกกฎหมาย พวกเขาก็ควรจะได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียมตามกฎหมายเช่นกัน

          "การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้จำนวนที่ชัดเจน แล้วจัดเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง นำไปสู่ความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน"

ทนงศักดิ์ หมื่นหนู

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ หน้า ๗

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้