4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

คณะทำงานวิชาการฯ แจงขั้นตอนการศึกษายากลูโคซามีนรัดกุมเชื่อถือได้ ศึกษางานวิจัยที่มีคุณภาพจากหลายแหล่ง รวมมากกว่า 130 ฉบับ

คณะทำงานวิชาการฯ แจงขั้นตอนการศึกษายากลูโคซามีนรัดกุมเชื่อถือได้ ศึกษางานวิจัยที่มีคุณภาพจากหลายแหล่ง รวมมากกว่า 130 ฉบับ ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการใช้กลูโคซามีน ก่อนสรุปข้อเสนอกรมบัญชีกลางยกเลิกการเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

          นพ.สัมฤทธิ์  ศรีธำรงสวัสดิ์ เลขานุการคณะทำงานวิชาการฯ ชี้แจงถึงขั้นตอนการทำงานของคณะทำงานวิชาการฯ ว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ ได้มอบหมายให้ให้ทีมคณะทำงานย่อยไปทำการสืบค้น/รวบรวมและศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการทั้งที่สนับสนุนและโต้แย้งการใช้ยากลูโคซามีน ทั้งที่เป็นงานวิจัยในประเทศไทยและจากทั่วโลก และได้คัดเลือกมาอ้างอิง จำนวน 134 ฉบับ มีการประชุมนำเสนอร่างรายงานให้กับผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับฟังและให้ความเห็นหลายครั้ง รวมทั้งสรุปรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ฯ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ สมาคมรูมาติซั่มฯ มูลนิธิโรคข้อ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อรายงาน และเปิดรับว่ามีข้อมูลอื่นใดที่จะเสนอเข้ามาให้พิจารณาเป็นอย่างอื่นหรือไม่  ซึ่งได้รับการตอบกลับจาก 3 องค์กร แต่ว่าเอกสารและข้อโต้แย้งจากทั้ง 3 แห่งที่ส่งมาไม่มีความชัดเจนหรือมีน้ำหนักมากพอ คณะทำงานจึงยืนยันในร่างข้อเสนอมาตรการฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารฯ อันนำไปสู่มติให้ยกเลิกการเบิกจ่ายยากลุ่มดังกล่าวในเวลาต่อมา

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข รองประธานคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ในคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะทำงานวิชาการฯได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และอาจารย์แพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อทบทวนข้อมูลทางวิชาการทั้งจากเอกสารและความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และจัดทำข้อเสนอแล้ว การตัดสินใจทางนโยบายเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งมีกรรมการมาจากหลายหน่วยงาน อาทิ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และแพทยสภา เป็นต้น


           ผศ.นพ.พิสนธิ์  จงตระกูล อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และที่ปรึกษาสำนักงานประสานการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อมูลทางวิชาการที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานวิชาการ ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า กลูโคซามีนมีประสิทธิผลที่ไม่ชัดเจน แม้จะมีผู้กล่าวว่า กลูโคซามีนมีประสิทธิผลดีกว่าการไม่ใช้ยา แต่ข้อสรุปนั้น เกิดจากการสรุปโดยนำผลการศึกษาที่มีคุณภาพหลายระดับปะปนกัน แต่หากวิเคราะห์เฉพาะจากผลการศึกษาที่มีคุณภาพสูงและมีการออกแบบการวิจัยที่ดีมากที่สุด จะพบว่ากลูโคซามีนให้ผลพอๆ กับการไม่ใช้ยา

          ประเด็นต่อมา มีความชัดเจนว่า กลูโคซามีนเป็นยาที่ไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7.3 ถึง 26 เท่า ของเกณฑ์มาตรฐานความคุ้มค่าในการใช้ยาของประเทศไทย  และยาในกลุ่มนี้บางชนิดมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าความสามารถในการจ่ายของระบบสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งมี GDP สูงกว่าประเทศไทยมากกว่า 10 เท่า แสดงว่า เกินความสามารถในการจ่ายของระบบสาธารณสุขภาครัฐของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน และข้อเสนอของคณะทำงานวิชาการฯ สอดคล้องกับการตัดสินใจของหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร สกอตแลนด์ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และสวีเดน ที่ไม่แนะนำหรือไม่อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายยาเหล่านี้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐบาลสวีเดนซึ่งเคยให้เบิกแต่ต่อมาได้ระงับการเบิกจ่ายกลูโคซามีน ได้ให้เหตุผลว่า  “งานวิจัยที่มีคุณภาพ ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ากลูโคซามีนมีประโยชน์อย่างชัดเจนทางการแพทย์ คือ อรรถประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นจากกลูโคซามีนไม่สามารถเทียบได้กับราคายาที่ต้องจ่ายไป”

          นอกจากนี้ ข้อเสนอของคณะทำงานวิชาการสอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการรักษาโรคข้อเสื่อม ปี 2553 ของราชวิทยาลัยออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า  “ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอในการสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้ยากลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟต เป็นการบำบัดทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยข้อเสื่อม” และยังกล่าวถึงกลูโคซามีนซัลเฟตว่า “ไม่แน่ใจว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานภาพของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย และไม่แน่ใจ (ว่า) มีความคุ้มค่าในบริบทของสังคมไทย” และที่สำคัญ แนวปฏิบัติของราชวิทยาลัยฯ ยังระบุ ว่า “คัดค้านอย่างยิ่ง (ต่อ) การใช้ยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันข้อเสื่อม และคัดค้านการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกัน แนะนำให้หยุดยาหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน ถ้าอาการดีขึ้น แนะนำให้ใช้ต่อไม่เกิน 6 เดือน”

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้