4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เปิดเวทีเสริมพลัง ปชช. สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ กระตุ้นพฤติกรรมสร้างสุขภาพ

          ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน คือ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” (Health Literacy) ซึ่งหมายถึงกระบวนการทางปัญญาและทักษะทางสังคม ที่สร้างแรงจูงใจและพัฒนาความสามารถของปัจเจกบุคคลที่จะเข้าถึง เข้าใจ และใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสู่การตัดสนใจที่เหมาะสมนำไปสู่สุขภาวะ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย ในกลุ่มอายุ 7-18 ปี ในสถานศึกษาที่เป็นพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานส่งเสริมพฤติกรรมตามแนวทางสุขบัญญัติแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2557 โดยการสุ่มจาก 24 จังหวัด 96 โรงเรียน รวม 4,800 คน พบว่าส่วนใหญ่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับพอใช้ คิดเป็นร้อยละ 86.48 และมีเพียงร้อยละ 5.25 ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับดีมาก ซึ่งเป็นระดับที่มีผลต่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องยั่งยืน (ข้อมูลจากสรุปสาระสำคัญ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2560-2575, กระทรวงสาธารณสุข)

          เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการอภิปรายในหัวข้อ “สื่อสารและเสริมพลังประชาชนโดยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ในเวทีประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) จัดโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานความรอบรู้ด้านสุขภาพของภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร

          นพ.อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือ ความรอบรู้และความสามารถด้านสุขภาพของบุคคลในการที่จะกลั่นกรองประเมินและตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความสำคัญและเสนอให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนพัฒนาด้านสาธารณสุข รวมถึงเสนอให้มีการสนับสนุนการศึกษาวิจัย  และจัดให้มี Center of Excellence ด้านสุขภาพและความรอบรู้ด้านสุขภาพ

          นพ.อรรถพล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางของกรมอนามัยในการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือการกำหนดนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกรมอนามัย พัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ล่าสุดได้จัดตั้งสำนักงานโครงการขับเคลื่อนกรมอนามัย 4.0 ขึ้น เพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป้าหมายในปี 2560 จะพัฒนาให้เกิดชุดความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมจำเป็นพื้นฐานสำหรับประชากรไทยตามช่วงวัย เพื่อเติมเต็มการส่งเสริมสุขภาพตลอดช่วงชีวิต การพัฒนาเครื่องมือประเมินความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป และเตรียมข้อมูลสำคัญในการวางแผนขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในระดับชุมชน ภูมิภาค และประเทศ

          ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า 5 ปี ที่ผ่านมา สวรส. ร่วมกับมหาวิทยาลัย Deakiny ประเทศออสเตรเลีย วิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินความรอบรู้ทางด้านสุขภาพหรือความแตกฉานทางด้านสุขภาพสำหรับคนไทย แบบประเมินดังกล่าวมีสองปัจจัยหลักสำคัญ ที่คนไทยใช้ในการตัดสินใจด้านความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ คือ ปัจจัยจากการสนับสนุนของคนในครอบครัว และปัจจัยสนับสนุนจากชุมชน ขณะที่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ คือ ความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลสุขภาพ

          “ที่ผ่านมา แพทย์ องค์กรรัฐ สื่อมวลชน รณรงค์ให้ความรู้ และแนวทางปฏิบัติตัวที่เหมาะสมด้านสุขภาพแก่ประชาชน แต่ยังน่าจะมีประชาชนไม่เข้าใจหรือถ้าเป็นผู้ป่วยก็ไม่กล้าที่จะถามหากสงสัย ในบางรายอาจไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่แพทย์อธิบายหรือคำแนะนำที่ได้รับ จึงไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ดังนั้น การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพื่อจะได้ออกแบบการแก้ไขและพัฒนาที่สอดคล้อง”

          ทพ.จเร กล่าวด้วยว่า สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สังคมไทยเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น ในมุมมองเชิงวัฒนธรรมที่ควรได้รับการแก้ไข คือ ปัญหาการไม่รู้แล้วไม่กล้าถามของผู้ป่วยกับแพทย์ ทั้งนี้ คนไทยควรได้รับการพัฒนาที่จะกล้าซักถาม กล้าคิด แลกเปลี่ยนความเห็นกับบุคลากรสาธารณสุขหรือแหล่งข้อมูล

           สำหรับการแลกเปลี่ยนในเวที มีหน่วยงานภาครัฐร่วมนำเสนอการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เน้นการสื่อสารสาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีของประชาชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นการให้ประชาชนรู้จักสิทธิประโยชน์ของตนเอง และสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีคุณภาพ ขณะที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีทีมแกนนำหมู่บ้านจากหลายภาคส่วน กระตุ้นให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและใช้ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานในชุมชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้