ข่าว/ความเคลื่อนไหว
นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาสู่โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital: RDU Hospital) โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 หน่วยงาน ร่วมบูรณาการตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกสู่การพัฒนากลไกการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เป็นรูปธรรม กระทั่งในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินนโยบายการใช้ยาสมเหตุผล เป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ 15 ทำให้มี รพ. ที่เข้าร่วมโครงการขยายตัวจาก 70 แห่ง เป็น 213 แห่ง
ทั้งนี้ สวรส. ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) ในการประชุมคณะกรรมการ สวรส. มี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมการประชุม โดย ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล นักวิจัย สวรส. นำเสนอรายงานการวิจัย เมื่อ 20 มี.ค. 60 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ
ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล นักวิจัย สวรส. และอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการสนับสนุนจาก สวรส. ได้ดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศใน รพ. ที่ร่วมโครงการ โดยการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานระดับต่างๆ เช่น เครือข่ายในเขตสุขภาพเดียวกัน ความร่วมมือกับโรงพยาบาลในกลุ่ม UHOSNET, พัฒนาเครื่องมือส่งเสริมการใช้ยา และระบบสนับสนุนทางวิชาการ รวมไปถึงระบบการติดตามประเมินผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ซึ่งตัวอย่างการเก็บข้อมูลจาก รพ.ในโครงการฯ พบว่า มีการตั้งคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบําบัด ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน แสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายและมาตรฐานเกี่ยวกับยาในโรงพยาบาล เช่น การกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก มีแผน/คู่มือปฏิบัติงาน การจดบันทึกเหตุการณ์ประจำช่วงเวลา การจัดทำฉลากยาและข้อมูลสู่ประชาชน โดยการปรับปรุงรูปแบบฉลากยาให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลข้อบ่งใช้ เช่น บางแห่งเริ่มมี QR Code ข้อมูลยาติดบนฉลาก ที่เกิดจากการพัฒนา mobile application ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) โดยผู้ใช้สามารถสแกนผ่านสมาร์ทโฟนแล้วฟังคำบรรยายสรรพคุณและข้อจำกัดในการใช้ยาได้ทันที รวมถึงการพิจารณายาไม่เหมาะสมออกจากบัญชียาโรงพยาบาลที่เริ่มดำเนินการไปแล้วในยาบางชนิด เป็นต้น
ทางด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล กรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันมียาหลายชนิดใช้แล้วไม่ปลอดภัย โครงการ RDU Hospital จึงได้กำหนดให้โรงพยาบาล จำกัดการใช้ยาบางประเภทหรือใช้ให้น้อยที่สุดหากมีทางเลือกอื่น ตัวอย่างกลุ่มยาแก้ปวด NSAID เช่น ไดโคลฟีแนค และไพร็อกซิแคม เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง หากทางโรงพยาบาลจ่ายยาดังกล่าวไปเรื่อยๆ เท่ากับเป็นการจ่ายยาเกินความจำเป็นและเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้
“การใช้ยาสมเหตุผล ยังเป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ แม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต่างคนต่างลงมือ ทั้งขาดกลยุทธในระดับชาติ ถ้าประเทศไทยมีกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ต่อเนื่อง กำหนดเป็นนโยบายและวันสำคัญระดับชาติ เพื่อบอกให้ประชาชนรู้เรื่องภัยจากยาปฏิชีวนะหรือการใช้ยาไม่เหมาะกับโรค โดยเอาเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ยาเป็นตัวตั้ง จะส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้และเข้าใจมากขึ้น ตลอดจนเกิดวัฒนธรรมการใช้ยาอย่างปลอดภัย การส่งหรือแชร์ข้อมูลการใช้ยาแบบผิดๆ ก็จะลดลง และช่วยให้พฤติกรรมการใช้ยาสมเหตุผลเกิดความยั่งยืนครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยมีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่ได้กำหนดให้มีสัปดาห์รณรงค์ตระหนักเรื่องยาปฏิชีวนะทุกปี เพื่อการควบคุมและป้องกันการดื้อยายาต้านจุลชีพ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เห็นควรใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไปพัฒนา ครู ก เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรใน รพ.สต. ที่มีมากกว่า 3 หมื่นคนทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเริ่มจากโรคใกล้ตัวประชาชน เช่น ไข้หวัด-เจ็บคอ ท้องร่วงท้องเสีย บาดแผลต่างๆ ซึ่งหากควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 โรคนี้ได้ จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น รวมถึงควรขยายโครงการฯ ให้ครอบคลุมประชากรทุกจุด เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยาสมเหตุผล ไม่เรียกร้องการใช้ยาอย่างเกินความจำเป็น เช่น ในคลินิกทั่วไป ร้านขายยาในชุมชน สถานพยาบาลปฐมภูมิ สถานพยาบาลเอกชน เป็นต้น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด ดำเนินการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยแปลงนโยบาย กุญแจสำคัญ 6 ประการ คือ P-L-E-A-S-E ตามแนวทางของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลไปเป็นการปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสร้างความตระหนักรู้กับบุคลากรในโรงพยาบาล การพัฒนาฉลากยาให้มีข้อมูลที่ประชาชนเข้าใจ เป็นต้น โดยในปีนี้ถือเป็นปีแรกของการดำเนินงาน ซึ่งหลังจากนี้ กสธ. จะใช้ผลการศึกษาวิจัยของ สวรส.นี้ เพื่อการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป
ภายหลังการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย RDU Hospital ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลขึ้น ภายในเดือนเมษายน 2560 เพื่อช่วยในการติดตามการทำงานในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้