ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลาย มักพบปัญหา 2 อย่างคือ หลอดเลือดตีบและเส้นประสาทเสื่อม ทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อเลือดมาเลี้ยงไม่พอ แผลก็จะไม่หาย จนนำไปสู่การรักษาที่ต้องตัดส่วนที่เน่าเสียออกไป จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย มักมีโอกาสเสียชีวิตใน 3 ปี โดยร้อยละ 56.5 เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและการป้องกันที่ทันเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศ ทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านเศรษฐกิจ
ถึงแม้โรคหลอดเลือดส่วนปลาย ดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ในแง่ของอัตราการเสียชีวิตใน 5 ปี มีอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งที่รุนแรงหลายชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น โดยโรคหลอดเลือดตีบตันส่วนปลาย มักหมายถึงการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงขา ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยน่องเวลาเดิน เกิดแผลเรื้อรัง นิ้วเท้าเน่า และเสียขาในที่สุด และส่วนมากเกิดจากกระบวนการหลอดเลือดแดงแข็งตัว อันมีปัจจัยเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเก็บข้อมูลอัตราการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยง การรักษา การส่งต่อและดูแลต่อเนื่อง ฯลฯ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และวางแผนการป้องกันที่ทันเวลา รวมถึงการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย
เท้าเบาหวาน หรือเบาหวานลงเท้า ?? บัญญัติ 10 ประการ ดูแลเท้า ลดอัตราการตัดขา ข้อมูลจาก : หน่วยวิจัยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
โครงการภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย (ต่อเนื่องปีที่ 2) เป็นการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า ในระยะเวลา 3 ปี เก็บข้อมูลในหลายสถานที่วิจัย ไม่มีการเปรียบเทียบ และไม่มีการใช้ยาหรือการรักษาอื่น โดยเก็บข้อมูลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลาย อายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป จำนวน 500 คน จากโรงพยาบาลใน 3 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลำพูน และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งการวิจัยต่อเนื่องในปีที่ 2 เป็นการศึกษาเพื่อประเมินหาอุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดโรคหลอดเลือดรุนแรงและการเสียชีวิต ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดได้มาจากการศึกษาข้อมูลจากเวชระเบียนตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย โดยไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ เพื่อการประเมินด้วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการเกิดภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดและการรักษา ยาที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน การทำหน้าที่ของไต ฯลฯ
จากข้อมูลที่มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีแรกพบอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวาน 12.7% และผู้ป่วย 82.5% ไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดส่วนปลายนำมาก่อน ดังนั้นมาตรการการตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดโดยการใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachial Index) ในผู้ป่วยเบาหวานทุกคน จึงควรต้องทำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการตรวจด้วย ABI เป็นวิธีการตรวจที่มีความไวและความจำเพาะสูง ถ้าค่า ABI มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.9 แสดงว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย สำหรับในปีที่ 2 พบข้อมูลอุบัติการณ์การเกิดการเสียชีวิตแบบรุนแรงและเฉียบพลัน ในระยะเวลาที่ศึกษาข้อมูล 18 เดือน พบ 19% โดยเกิดบ่อยกับผู้ป่วยที่มีประวัติขาขาดเลือดและมีแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง มีประวัติไตวายเรื้อรัง และได้รับยา clopidogrel และ warfarin ดังนั้นการดำเนินการรักษาควรใส่ใจผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มาก และควรให้ความสำคัญในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยโรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการดูแลตนเอง และการได้รับการรักษาที่ถูกต้องเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาวิจัยจึงต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ในระยะยาว ซึ่งโครงการภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ก็เป็นอีกงานวิจัยหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 นี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และคาดหวังว่า การสะท้อนข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายจากงานวิจัย จะช่วยนำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนการป้องกันและดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น
ข้อมูลประกอบจาก : งานวิจัย "โครงการภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย (โครงการต่อเนื่องปีที่ 2) , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้