4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“จิตเวช” ความเจ็บป่วยที่ถูกลืม วิจัยสะท้อนช่องว่างการเข้าถึง พร้อมเสนอพัฒนาระบบบริการ แก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช ลดผลกระทบสังคม

ท่ามกลางบริบทแห่งการพัฒนาที่ก้าวสู่ความเป็นเลิศในหลากหลายด้าน  ไม่ว่าจะเป็น  ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม  การท่องเที่ยว  ฯลฯ  ส่งผลให้เกิดความเครียดจากการทำงาน  การดำเนินชีวิต  หรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว   รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตเวช  มักถูกคนรอบข้างหรือสังคมมองด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี  หรือถูกตีตราว่าเป็น “คนโรคจิต”  ทำให้ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกไม่ดีและอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น  ทั้งนี้จากข้อมูลประมาณการของกรมสุขภาพจิตในปี พ.ศ. 2551  พบว่า  มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.2 ล้านคน  แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน  

ในช่วงที่ผ่านมา  นโยบายและการจัดลำดับความสำคัญของโรคหรือปัญหาด้านสาธารณสุขในประเทศไทย  ซึ่งเป็นตัวกำหนดงบประมาณในการลงทุนด้านระบบบริการในปัจจุบันนั้น  ให้ความสำคัญกับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าโรคที่ทำให้เกิดความพิการ  หรือโรคทางด้านสุขภาพจิตต่างๆ  โดยรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณที่เน้นหนักไปกับโรคที่เป็นแล้วเสียชีวิต  เช่น  มะเร็ง  หัวใจ  อุบัติเหตุ ฯลฯ  ซึ่งในส่วนของความพิการที่เกิดจากความเจ็บป่วยหรือโรคจิตเวช  มักได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบการให้บริการและพัฒนาบุคลากรน้อย  ทั้งๆ ที่โรคจิตเวชก่อให้เกิดภาระต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว  ตลอดจนมีส่วนทำให้เกิดเป็นภาระโรคในลำดับต้นๆ ทั้งกับประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้  ด้านการรักษาพยาบาล  โรคจิตเวชบางประเภทไม่แสดงอาการที่ชัดเจน  และผู้ที่เป็น ไม่คิดว่าตนเองป่วย  ขาดความเข้าใจในตัวโรคและการรักษา  จึงทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องการหรือไม่สะดวกใจในการมารับการรักษา  ซึ่งปัญหาจะเพิ่มมากขึ้นในโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องระยะยาว  อีกทั้งยาจิตเวชมักมีอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป  ไม่มีอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  รวมถึงยาหลายตัวมีราคาค่อนข้างแพง  เป็นยานอกบัญชีและยาควบคุม  ดังนั้นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  จึงได้สนับสนุนให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์”  โดยศึกษาปัญหาจิตเวชที่พบบ่อยและมีภาระโรคสูง  เช่น  โรคซึมเศร้า  โรคจิต  ปัญหาการดื่มสุราและสารเสพติด ฯลฯ  รวมถึงศึกษาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิต  ตลอดจนศึกษาสัดส่วนและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการ  เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยที่สามารถลดช่องว่างในการเข้าถึงการให้บริการได้มากที่สุด  

3 ปัจจัย..อุปสรรคการเข้าถึงบริการจิตเวช  
1. ความต้องการในการเข้ารับบริการ : ระดับความต้องการในการใช้บริการจะสูงขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต  เช่น  กลุ่มคนยากจน  มีการศึกษาต่ำ  กลุ่มแรงงานนอกระบบ  การย้ายถิ่น  กลุ่มที่ขาดข้อมูลหรือความรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ  กลุ่มที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ  สิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุมปัญหาจิตเวชบางประเภท
2. ทรัพยากรมีจำกัด : ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับระบบการให้บริการมีอยู่อย่างจำกัด  เช่น  จำนวนจิตแพทย์  บุคลากรทางด้านสุขภาพจิต  จำนวนสถานที่ที่ให้บริการ
3.    ระบบการให้บริการ : เริ่มตั้งแต่การคัดกรองโรคจิตเวชต่างๆ  การวินิจฉัยที่ถูกต้อง  การดูแลรักษาเบื้องต้น  การส่งต่อ  ช่องทางการให้บริการ


งานวิจัยเรื่องช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์  เป็นงานวิจัยที่มีการวางแผนการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิเคราะห์ต่อเนื่องระยะยาว  โดยในปีแรกได้ลงพื้นที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป  ราว 6,000 คน ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนอย่างน้อย 1 เดือน  ในเขตเทศบาลเมืองคูคต  และเทศบาลเมืองลำสามแก้ว จ.ปทุมธานี  ในช่วงเดือน มิถุนายน - กันยายน 2558  โดยสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามที่ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ
(1) แบบสัมภาษณ์เพื่อการวินิจฉัยโรคจิตเวชตามเกณฑ์ DSM-IV ประกอบด้วยโรคซึมเศร้า  โรคจิต  ปัญหาจากการดื่มสุราและสารเสพติด  (2) แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติการใช้บริการสุขภาพจิต  สิทธิในการรักษาพยาบาล  รายได้  ประวัติอาการจิตเวชต่างๆ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา  และสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์  เช่น  จิตแพทย์  พยาบาลจิตเวช  เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และแนวทางการลดช่องว่างในการเข้าถึงการให้บริการ

จากการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงข้อมูล  อาทิ  ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุราและการเสพสารเสพติด  ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อย  และ 80 % ของผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง  ไม่มีประวัติการเข้ารับการรักษาใดๆ  ซึ่งทีมวิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบ  ไม่ว่าจะเป็น  การจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น  เพื่อลดผลกระทบทางด้านสังคมในระยะยาว  ควรมีการศึกษาและพัฒนาระบบการคิดต้นทุนและการเบิกจ่ายของบุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย  โดยบุคลากรไม่จำเป็นต้องอยู่สังกัดเดียวกัน  เช่น  โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย  โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร  โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม  สามารถให้คำปรึกษาหรือดูแลผู้ป่วยร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้  ทั้งนี้มาตรการในระยะยาวควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มการผลิตจิตแพทย์  พยาบาลจิตเวช  นักจิตวิทยา  นักกระตุ้นพัฒนาการ  และบุคลากรสุขภาพจิตอื่นๆ  พร้อมกับการสนับสนุนสิ่งจูงใจให้กับจิตแพทย์ที่จบใหม่ได้ทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นระยะเวลาหนึ่ง    

ด้วยเพราะหลายเหตุปัจจัยข้างต้นยังคงก่อตัวและดำเนินอยู่  ฉะนั้นการต่อยอดงานวิจัยที่มุ่งไปสู่การพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพจิตกับประชาชน  เพื่อการคัดกรอง ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยแต่เนิ่นๆ แบบองค์รวม  โดยเชื่อมต่อการดูแลอย่างต่อเนื่องกับครอบครัวและชุมชน  การปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม  ตลอดจนการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคจิตเวช  มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการพัฒนาระบบการบริการ  รวมถึงการแก้ปัญหาสุขภาพจิต  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย

ข้อมูลประกอบจาก : งานวิจัยเรื่อง "ช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์" , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้