ข่าว/ความเคลื่อนไหว
การบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ จำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการ “กำลังคนด้านสุขภาพ” ให้เพียงพอและสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ตลอดจนพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็น อุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความยากจน อุบัติการณ์โรคใหม่ๆ เช่น SAR ไข้หวัดนก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญที่ควรอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ภายใต้เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม
9 ปัจจัย ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและกำลังคนด้านสุขภาพ 1. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและแนวโน้มโรคเรื้อรัง |
ทั้งนี้ การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณกำลังคนเข้าสู่ระบบเท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการคงอยู่ของกำลังคน เพราะการวางแผนที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ความขาดแคลนหรือการกระจายที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดปัญหาบุคลากรเกินความต้องการของประเทศ หรือบุคลากรกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมืองมากกว่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้นองค์ความรู้เพื่อการวางแผนกำลังคนในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2560 - 2569) จึงเป็นอีกประเด็นงานวิจัยที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีการศึกษาภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า” ซึ่งผลการวิจัยนี้น่าจะเป็นเข็มทิศสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า โดย สวรส. ได้นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวไว้ในการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ “การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 3” เมื่อวันที่ 21-22 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา
ความจริงของปัญหา
กับความท้าทายการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
ปัจจุบันพบว่า การกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 1 : 3,277 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 2,893 คน ในปี 2553 และอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากร จาก 1 : 794 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 531 คน ในปี 2553 แต่ทว่าการกระจายยังคงมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สถานบริการในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการกระจายและขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพ ส่งผลต่อความเป็นธรรมในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน
การบริหารกำลังคน : ยังพบว่า ความขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพบางสาขายังคงรุนแรง ในขณะที่บางสาขา อาจเกินความต้องการ การสูญเสียกำลังคนด้านสุขภาพ มีสาเหตุที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ การกระจายตัวของกำลังคนด้านสุขภาพมีความไม่เป็นธรรม การจ้างงาน ระบบค่าตอบแทน และแรงจูงใจบุคลากรในภาครัฐยังไม่มีประสิทธิผล
การพัฒนากำลังคน : สถาบันการผลิตเพิ่มขึ้น และกระจายอยู่หลายสังกัด แต่ยังขาดการวางแผนการผลิตร่วมกัน การพัฒนาบุคลากรยังไม่เชื่อมโยงกับปัญหาที่เป็นจุดเน้นในการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน
คุณลักษณะและขีดความสามารถของกำลังคน : การขาดแคลนกำลังคนที่มีศักยภาพและการสูญเสียอัตรากำลังจากการเกษียณอายุและลาออก ความไม่สมดุลของกำลังคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ กำลังคนภาครัฐมีความหลากหลายในเชิงประชากรเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถของกำลังคนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทการบริหารราชการที่เปลี่ยนไป
กลไกการขับเคลื่อนงานกำลังคน : กำลังคนด้านสุขภาพกระจายอยู่ทั้งภาครัฐและเอกชนในหลากหลายสังกัด แต่ยังขาดกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งขาดกลไกในการพัฒนาการอภิบาลระบบกำลังคนที่ยั่งยืน ไม่มีแผนกำลังคนด้านสุขภาพที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นในอนาคต ข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพมีอยู่กระจัดกระจาย ขาดการวางแผนและติดตามการใช้กำลังคนอย่างเป็นระบบ
“ระบบสุขภาพพึงประสงค์”
ต้องมาพร้อมคุณภาพ - ความเพียงพอของกำลังคน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทที่มีอัตราเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนสถานการณ์ด้านสุขภาพ เป้าหมายที่มุ่งสู่ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์” ยังคงเป็นความหวังที่คนทำงานด้านสุขภาพจะร่วมกันทำให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้ ซึ่งการพัฒนาที่จะนำสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ล้วนแต่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพที่เพียงพอและมีคุณภาพทั้งสิ้น
"ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ เป็นระบบบริการที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่อง มีการกระจายและใช้ทรัพยากรเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างคุ้มค่า เป็นระบบบริการที่ส่งเสริมความเป็นธรรมสำหรับประชาชน และเป็นระบบที่ทำให้ประชาชนที่มีความต้องการด้านสุขภาพเหมือนกันได้รับการดูแลสุขภาพที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเป็นระบบที่มีความยั่งยืน ไม่เป็นภาระกับระบบการเงินการคลังของประเทศ ภายใต้การมุ่งเน้นให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเอง ส่งเสริมบริการระดับปฐมภูมิ พัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการให้บริการด่านแรก (Gate keeper) พัฒนาบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและความปลอดภัย ส่งเสริมความมั่นคงทางยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน พัฒนาระบบในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พัฒนาระบบเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติ ฯลฯ" |
วิจัยชี้ 10 ปี ต่อจากนี้ ต้องทำอะไร ?
งานวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2560 - 2569) ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ไว้ดังนี้
1. วิชาชีพด้านสาธารณสุขมีการผลิตที่มากเกินความต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนจำนวนการผลิต และควรเร่งปรับสมรรถนะบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพมากขึ้น
2. วิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย/แผนไทยประยุกต์ ในอีก 10 ปี จะมีความเพียงพอกับความต้องการของประเทศ ดังนั้นการเพิ่มการผลิต ควรคงอัตราการผลิตแบบในขณะนี้ไว้ และจำเป็นต้องมุ่งเน้นการผลิตเพื่อแก้ปัญหาการกระจายกำลังคน เช่น การรับนักเรียนจากพื้นที่ขาดแคลนเข้ามาเรียน และการจ้างงานหลังจบการศึกษาตามภูมิลำเนา เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน
3. วิชาชีพพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ แม้ว่าจำนวนบุคลากรในอีก 10 ปีข้างหน้า จะยังต่ำกว่าจำนวนบุคลากรที่ประเทศต้องการ แต่ก็ต่ำกว่าในสัดส่วนที่ไม่มากนัก อาจคงอัตราการผลิตแบบนี้ไว้ แต่เน้นการบริหารจัดการแก้ไขความขาดแคลน เช่น ใช้มาตรการลดการสูญเสียบุคลากร
4. ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณในการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับตรงจากพื้นที่ขาดแคลน และมีการพิจารณาปรับระบบสนับสนุนงบประมาณผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ใช้กำลังคนด้านสุขภาพเป็นหลัก
5. ควรมีการปฏิรูประบบการผลิตทั้งในเรื่องการบริหารจัดการการศึกษาโดยกระบวนการ transformative learning และให้มีการทบทวนหรือปรับปรุงหลักสูตร รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนและบริบทของสังคมไทย
6. กระทรวงสาธารณสุขควรประสานความร่วมมือ ระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตทุกภาคส่วนในการวางแผนความต้องการและการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ส่งเสริมการจัดระบบบริการที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพในระดับครอบครัวและชุมชน และส่งเสริมความเข้มแข็งในการจัดระบบบริการในระดับปฐมภูมิที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การให้บริการด่านแรกสำหรับประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชนและสร้างความยั่งยืนด้านการคลังสุขภาพในระยะยาว
7. ควรพัฒนาระบบประเมินการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
8. ควรดำเนินมาตรการในการรักษากำลังคนด้านสุขภาพให้คงอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม โดยการบูรณาการมาตรการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบการจ้างงาน ระบบค่าตอบแทน และระบบความก้าวหน้า
9. แต่ละสภาวิชาชีพควรมีการทบทวนการกำหนดสมรรถนะ (Competency) ของบัณฑิต รวมทั้งทบทวนข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ โดยใช้ผู้ป่วยและประชาชนเป็นศูนย์กลางของการให้บริการ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุมและกำกับมาตรฐานการทำงานของกำลังคนด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และเอื้อให้เกิดการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
หากการทำงานเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ เปรียบเสมือนการเดินทาง ความรู้จากงานวิจัยคงจะเปรียบได้กับเข็มทิศที่ช่วยนำให้การเดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงต้องจับมือเดินทางร่วมกันต่อไป
ข้อมูลประกอบจาก : งานวิจัยเรื่อง “การวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า” , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้