4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“วิจัยสมุนไพรไทย” คานงัดสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ และยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ

          หากพูดถึง “สมุนไพรไทย” ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนวัฒนธรรม รวมถึงเป็นรากฐานเกษตรกรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทย  ทั้งนี้สมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและสังคมไทยมาโดยตลอด  ดังจะเห็นได้จากการนำสมุนไพรมาประกอบในอาหารคาว หวาน  เป็นยารักษาโรค  ใช้ในการบำบัดดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ  หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อการเสริมความงาม  ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนามาอย่างยาวนาน  เนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า 20,000 ชนิด ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด รวมไปถึงความพร้อมของปัจจัยขั้นพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม และการขนส่งสินค้า มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสมุนไพร  นับเป็นจุดแข็งและโอกาสในการแข่งขันด้านการค้าสมุนไพรในตลาดโลกที่สำคัญ  หากแต่ยังขาดทิศทางการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร  เพื่อสร้างการยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างกว้างขวาง  และขาดการตั้งเป้าหมายเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพและการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน  ดังนั้นการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร  จึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน  ผ่านการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564  ที่ได้มีการประกาศอย่างชัดเจนและเข้มแข็งร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กระทรวงศึกษา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงอุตสาหกรรม  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ฯลฯ ในงานประชุมมอบนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 - 2564 และพิธีเปิดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา  

วิจัยสู่การยอมรับและนำไปใช้

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเราจะนำอะไรมาบริโภค รักษาโรค หรือเพื่อเสริมความงามนั้น  ผู้บริโภคคงต้องศึกษาถึงสรรพคุณและข้อแนะนำการใช้ให้รอบคอบเสียก่อน  ดังนั้นงานวิจัยจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้าง “การยอมรับและสร้างความมั่นใจ” เพื่อเชื่อมต่อไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างกว้างขวาง  งานวิจัยองค์ความรู้ด้านสมุนไพรในประเทศไทย  ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งการเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ  ในช่วงปี พ.ศ. 2543 - 2547 มีการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทย พบว่า มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการโดยนักวิจัยชาวไทยและนักวิจัยต่างชาติ 395 เรื่อง  ตีพิมพ์ในวารสารที่มีอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ 223 เรื่อง  ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศ 172 เรื่อง  เป็นการวิจัยเฉพาะชนิดพืชสมุนไพร มีมากกว่า 200 ชนิด จากผลงานวิจัยเหล่านี้  แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีนักวิชาการที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้  ยิ่งไปกว่านั้น  รายงานการวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์งานวิจัยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกหลายฉบับสะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนผลงานวิจัยด้านสมุนไพรที่มีมากกว่างานวิจัยประเภทอื่นๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนงานวิจัยที่สำรวจทั้งหมด

          อย่างไรก็ตาม  ภาพรวมของงานวิจัยไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ชนิดของสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ใดอย่างชัดเจน  ทิศทางของงานวิจัยค่อนข้างกระจัดกระจาย  ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยตามความถนัดของนักวิจัย  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยพบกับปัญหาด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรหลายด้าน  ตั้งแต่การขาดการกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ  การมีผลงานวิจัยที่ไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการผลิต  การให้ทุนวิจัยที่ซ้ำซ้อน  องค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานที่มีอยู่จำนวนมากไม่มีการวิจัยต่อยอดให้ครบวงจรและครอบคลุม  ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ (การคัดเลือกพันธุ์ การขยายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ)  การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม  รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ไปถึงมือผู้บริโภค   

          ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาให้งานวิจัยสมุนไพรสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น  ควรมีการกำหนดแผนและทิศทางการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน  เพิ่มการจัดสรรงบประมาณการวิจัยโดยส่งเสริมภาคเอกชนให้ร่วมลงทุนด้านการวิจัย  จัดทำระบบเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ใช้งานวิจัย รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในปัจจัยพื้นฐานด้านการวิจัย เช่น ห้องปฏิบัติการระดับสูงและบุคลากรด้านการวิจัยสมุนไพร

          ที่ผ่านมาในส่วนของงานวิชาการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการสังเคราะห์และจัดกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564  ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศ  และมีแผนการสนับสนุนทุนวิจัยระยะต่อไป ในประเด็นของการประเมินผลหลังจากการประกาศใช้แผนแม่บทฯ ไปแล้ว  เพื่อการติดตามประเมินผลการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย ให้ขับเคลื่อนไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ   

การสังเคราะห์และจัดกระบวนการสู่แนวคิด “แผนแม่บทชาติพัฒนาสมุนไพรไทย”  
1. เน้นความร่วมมือตามแนวคิด “ประชารัฐ” โดยมีภาครัฐ 9 กระทรวง  ร่วมกับสถาบันภาคเอกชน
2. เสริมสร้างศักยภาพและกลไกการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครอบคลุมทั้ง มิติเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสุขภาพ
3. บูรณาการแนวทางการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสมุนไพร โดยมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นฐาน

พร้อมชู 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1   ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2   พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 3   ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 4   สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน

การแพทย์แผนไทย ทางเลือก & ทางรอดด้านสุขภาพ

          จากการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ฯลฯ ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกกว่าครึ่งหนึ่งจะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค  ยิ่งไปกว่านั้น จากโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)  ส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น  ทั้งนี้หากจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยแนวทางของการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น  อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินและการคลังในระบบสุขภาพของประเทศ  จากการที่ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้ายาและวัตถุดิบในการผลิตจากต่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล  ดังนั้นการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรคและสร้างเสริมสุขภาพ  ร่วมกับการใช้ยาและแนวการรักษาของการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวม และส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่'

          รูปธรรมของการพัฒนาสมุนไพรไทยไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ต่อประชาชน และผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ  เช่น  นำศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ (Long Term Care) ผ่านกลไกของชมรมผู้สูงอายุ  ส่งเสริมการจัดบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA ในโรงพยาบาลทุกระดับ  ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทยโดยใช้ยาที่พัฒนาจากสมุนไพรเป็นลำดับแรก เช่น ยาขมิ้นชัน สำหรับบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ  ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ฯลฯ  การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจด้านการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรด้วย

ชู Product Champion สร้างแบรนด์สู่ตลาด

          ตลาดสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น  มาตรการหนึ่งของแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฯ จึงเน้นไปที่การส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร Product Champion ให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ดังนั้นจึงต้องกำหนดมาตรการในการพัฒนาเพื่อเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่าของ Product Champion  ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค  ตลอดจนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ  ทั้งนี้การกำหนดสมุนไพรที่มีศักยภาพให้เป็น Product Champion ต้องมีการพิจารณาใน 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านศักยภาพ  มิติด้านความต้องการ  และมิติด้านความน่าสนใจในอนาคต  โดยจะมีการทบทวนทุก 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบันและอนาคต

สมุนไพรไทยที่กำหนดให้เป็น Product Champion ได้แก่
1. ขมิ้นชัน  สรรพคุณ  แก้ไข้เรื้อรัง แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ขับลมผายลม สมานแผล
2. กราวเครือขาว  สรรพคุณ  บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงสุขภาพ เป็นยาอายุวัฒนะ
3. กระชายดำ  สรรพคุณ  แก้โรคบิด แก้ปวดท้อง ลมป่วงทุกชนิด เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง บำรุงทางเพศ ขับลม
4. บัวบก  สรรพคุณ  บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน
5. ฟ้าทะลายโจร  สรรพคุณ  แก้ไข แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย
6. มะขามป้อม สรรพคุณ  แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ

          นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นภาพจำลอง (Model) ของแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฯ คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติลงสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด  โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง  ทั้งการปลูกสมุนไพร  การแปรรูป  และการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตของชุมชนอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม  นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดของประเทศ  ครอบคลุม 4 ภูมิภาค  ได้แก่  จ.เชียงราย  จ.สกลนคร  จ.ปราจีนบุรี  
จ.สุราษฎร์ธานี

          จึงนับได้ว่าการนำ “สมุนไพรไทย” มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ  เป็นส่วนหนึ่งตามศาสตร์ “การพึ่งตนเอง” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสและคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ผลิตเอง บริโภคเอง ลดการนำเข้า  อีกหนึ่งทางรอดที่ยั่งยืนของประเทศไทย  

ข้อมูลประกอบจาก
1. คำแถลงนโยบาย รองนายก พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ในพิธีเปิดการประชุมมอบนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 และพิธีเปิดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) วันที่ 26 ต.ค. 2559
2. บรรยายพิเศษ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับการพัฒนาการแพทย์แผนไทย” โดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมมอบนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 และพิธีเปิดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) วันที่ 26 ต.ค. 2559
3. แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้