ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

เปิดตัว สพคส. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานถกนัดแรก คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ

          เปิดตัวแล้ว “สพคส.” หน่วยงานใหม่ที่จะทำหน้าที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนจัดการการเงินการคลังด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นายกฯนั่งหัวโต๊ะประชุมนัดแรก เคาะมติตั้ง 2 คณะอนุกรรมการ

          เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2554 เวลา 16.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังสุขภาพ ครั้งที่ 1/2554 โดยเป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ(คพคส.) และตั้งสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ(สพคส.) โดยระเบียบฯ ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 21 กรกฎาคม 2553
          นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพเป็นภารกิจสำคัญของรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาระทางงบประมาณของรัฐด้วย เมื่อโครงสร้างประชากร ลักษณะโรค วิทยาการทางการแพทย์ และความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนไป เพิ่มแรงกดดันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคนไทยทั้งหมด แต่ยังต้องพัฒนาและดำเนินการเชิงรุกต่อไปอีก เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความเป็นธรรมและยั่งยืน โดยแนวทางหนึ่งที่สำคัญ คือต้องจัดการให้มีการเงินการคลังด้านสุขภาพเพื่อสุขภาพ (Financing for Health) และการเงินการคลังเพื่อการจัดบริการสุขภาพ (Health care financing) ที่สมดุล ซึ่งธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ หมวด 12 ข้อ 111 ระบุว่า ให้รัฐจัดให้มีกลไกระดับชาติทำหน้าที่วางแผนการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว ติดตามประเมินผล รวมถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องโดยให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของคณะกรรมการฯ และสำนักงานที่ตั้งขึ้นใหม่ ดังกล่าว
          นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) เปิดเผยว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรองประธานประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่ง และกรรมการ ประกอบด้วย 3 ฝ่าย ในสัดส่วนเท่ากัน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน
          การทำงานของ สพคส.จะเป็นการสนับสนุนให้คณะกรรมการฯ สามารถเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่ถูกต้อง เหมาะสม บนฐานองค์ความรู้ทางวิชาการที่ชัดเจน และด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องการการออกแบบระบบและกลไกการขับเคลื่อนภาพรวมระดับชาติ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักร่วมกันทั้งในกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ฝ่ายวิชาชีพหรือผู้ให้บริการ และผู้รับบริการหรือประชาชนไทย ที่ต้องมีการปรับแนวคิดและพฤติกรรมสุขภาพไปพร้อมกัน โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือ  การพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับปรุง นโยบาย โครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และ กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การพัฒนากลไกทางสังคมและการสื่อสารให้เกิดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ และการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ และจัดการองค์ความรู้
          ทั้งนี้ สพคส.เป็นองค์กรเฉพาะกิจภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีระยะเวลาทำงาน 3 ปี สำนักงานตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี
          สำหรับการประชุมครั้งแรก ที่ประชุมเห็นชอบกับการเสนอตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ 1) อนุกรรมการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การเงินการคลังด้านสุขภาพ มี ศาสตราจารย์อัมมาร์ สยามวาลา รองประธาน คพคส. เป็นประธานอนุกรรมการฯ และ 2) คณะอนุกรรมการพัฒนากลไกทางสังคมและการสื่อสารสาธารณะ โดยมีนพ.ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร เป็นประธานอนุกรรมการ

          ในการประชุมครั้งนี้ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้รายงานในที่ประชุมว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.3 ของ GDP โดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของ GDP โดยใช้งบประมาณของรัฐเป็นหลัก ในขณะที่ครัวเรือนไทยรับภาระสุขภาพลดลง จากร้อยละ 4.3 ในปี 2549 เป็น ร้อยละ 3.6 ในปี 2552 แสดงว่าประชาชนได้รับสวัสดิการสุขภาพที่ดีขึ้น แต่น่าเป็นห่วงที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ อีกทั้งจะเห็นว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพ หรือการดูแลการเจ็บป่วยสูงกว่างบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถึง 10 เท่า  มีการปรับลดงบประมาณเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 12.6 ในปี 2554 นอกจากนี้พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพที่ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายเอง เป็นการจ่ายเพื่อบริโภคสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นการบริโภคเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การดื่มนม สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความไม่สมดุลของแนวคิด และพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ที่ยังไม่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกัน แต่รอรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย อีกทั้งในอนาคตสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเร่งหามาตรการและการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งรวมถึงยาต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสมหรือเกินจำเป็น  กลายเป็นภาระงบประมาณที่สั่นคลอนความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
 

สัดส่วนรายจ่ายดำเนินการด้านสุขภาพและรายจ่ายด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2552 (ณ ราคาปีปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2550)

ที่มา : บัญชีรายจ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2549-2552

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้