ข่าว/ความเคลื่อนไหว
หนึ่งในความท้าทายของการบริหารการจัดการระบบสาธารณสุขในปัจจุบันคือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
จากการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 2 อยู่ในสภาวะ “ติดเตียง” ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และร้อยละ 19 “ติดบ้าน” คือ มีปัญหาการเคลื่อนไหว ไม่สามารถออกจากบ้านได้โดยสะดวก ที่อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ไม่ต่างจากแห่งอื่นๆ ที่นี่มีผู้สูงอายุในอำเภอมากถึงกว่า 3,000 คน แต่ด้วยการออกแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้อย่างครอบคลุมทั้งอำเภอ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสถานะทางสุขภาพของผู้ป่วยกลุ่มนี้ดีขึ้นอย่างชัดเจน
โครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” เป็นการออกแบบที่ใช้การบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 2 ทีมหลัก คือ ทีมดูแลด้านสุขภาพ (Health sector) และทีมดูแลด้านสังคม (Social Sector) โดยการดูแลด้านสุขภาพนั้นโรงพยาบาลลำสนธิร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จัดการและสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลเดินทางไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ส่วนการดูแลด้านสังคม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สนับสนุนนักบริบาลซึ่งเป็นบุคลากรในชุมชน ทำหน้าที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วยที่้บ้านและช่วยดูแลผู้ป่วย ทั้งยังสนับสนุนการปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วย
“เราออกแบบให้มีคนเข้าไปช่วย แต่เนื่องจากเป็น “คน” ไม่ใช่สิ่งของหรือต้นไม้ ปกติคนจะมีกิจวัตรประจำวัน แต่เขาทำเองไม่ได้ ก็ต้องมีคนเข้าไปช่วย อาบน้ำ กินข้าว ฯลฯ รวมทั้งการดูแลสุขภาพต่างๆ ยิ่งอายุมากก็จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ข้อขัด กลืนไม่ได้ ต้องใส่สายสวนคอจมูก ฯลฯ เราจึงออกแบบใหม่ ให้ครอบครัวดูแล แต่ขณะเดียวกันก็มีพวกเราไปช่วย โดยมีทีม 2 ทีม ทีมหนึ่ง ดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวัน อีกทีมดูแลสุขภาพ อย่าง บางครอบครัวที่ยายดูแลตาที่ติดเตียง ก็ต้องเข้าไปบ่อยมาก บางครอบครัวถ้ามีลูกหลานพร้อมหน้า ก็อาจจะความถี่น้อยลง ซึ่งทั้งหมดต้องวางอย่างเป็นระบบขึ้นกับความพร้อมของครอบครัวและสภาพของร่างกายว่าเป็นขนาดไหน ขณะเดียวกัน ทีมบริบาลซึ่งดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันสมัยก่อนเป็นอาสาสมัคร ไม่สามารถไปได้เช้ากลางวันเย็น เพราะต้องทำงาน เราก็เพิ่มกลไกเข้ามา ใช้การจ้างอย่างเป็นระบบ เกิดสิ่งที่เรียกว่า “นักบริบาลชุมชน” เราไปคุยกับ อบต.คุยกับท้องถิ่น และเกิดโมเดลนี้ เข้าไปดูแลคนตามบ้าน”
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล เจ้าของรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2554 เป็นคนกรุงเทพฯ บุตรชายคนโตของ นายแสง กับนางลั่นทม ลาภเบญจกุล ซึ่งมีอาชีพรับจ้าง และค้าขายทั่วไป มีน้องสาว 1 คน และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเชนต์ดอมินิกตั้งแต่ประถมจนจบชั้นมัธยม 6 แล้วเอ็นทรานส์เข้าแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งสำเร็จการศึกษา และไปทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะย้ายไปประจำที่โรงพยาบาลลำสนธิ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล
คุณหมอเล่าให้ฟังถึงโครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” คุณหมอบอกว่าทีแรกมีความคิดที่จะทำงานอยู่ลพบุรีเพียงไม่กี่ปีก่อนจะกลับมา (กรุงเทพฯ) ศึกษาต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่แล้วเมื่อได้เห็นภาพของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่ามีเรื่องให้ทำอีกมากมาย โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ กระทั่งเวลาผ่านไปเนิ่นนานนับได้ถึง 15 ปี
ปัจจุบัน นพ.สันติ ในวัย 42 ปี สมรสแล้วกับอุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล มีบุตรชาย 1 คน คือ ดช.สันติรัก ลาภเบญจกุล เป็นผู้พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในอำเภอลำสนธิ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบโจทย์ของสังคมสูงวัยที่เหมาะสมที่สุดกับวิถีคนยุคใหม่ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและอยู่ตามลำพังมากขึ้น ได้รับความสนใจจากชุมชนในประเทศทั้งที่มาในนามของมูลนิธิ และต่างประเทศจากยุโรป เอเชีย และอเมริกา เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำ
ไปฟังเบื้องหลังที่มาของ “ลำสนธิโมเดล” กัน…
@ สาเหตุที่ตัดสินใจอยู่ลพบุรีกระทั่งปัจจุบันนานถึง 15 ปี?
@ ตอนไปเรียนแพทย์ก็ทำกิจกรรม เคยไปออกค่าย เคยเห็นความยากลำบากของคนชนบท แต่ในอีกมุมก็มีความเอื้ออาทร รู้สึกว่าลึกๆ อยากทำงานในชนบทอยู่แล้ว เพราะเป็นชีวิตที่เรียบง่ายมีเสน่ห์ในระดับหนึ่ง ประกอบกับทางครอบครัวก็ปลูกฝังเรื่องความเอื้ออาทร การช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งก็เคยตั้งใจอยู่ว่าหลังจนแพทย์แล้วอยากไปใช้ชีวิตที่ได้ช่วยเหลือคนในชนบทสัก 3-4 ปีแล้วเข้าสู่วิถีของหมอปกติ
@ รายได้ต่างกันมาก?
@ ครับรายได้ต่างกัน ความหนักของงานก็ต่างกันมาก และการอยู่ในชนบทไม่ได้มีแค่ในมิติของการรักษาอย่างเดียว แต่มีมิติของการดูแลชุมชน การเยี่ยมบ้าน การส่งเสริมสุขภาพ การแสวงหาความร่วมมือกันในชุมชน ผมคิดว่าโดยอาชีพหมอ รายได้ปกติและโอกาสที่จะไปหารายได้เพิ่ม ในเมืองมีมากกว่าอยู่แล้ว แต่โดยตัวรายได้ของมันเองก็พออยู่ได้ ในระยะหลังทางกระทรวงก็มีค่าตอบแทนที่เทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้วก็มากขึ้น และเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นก็ถือว่ามากกว่า ถ้าเราไม่มีหนี้สินมากมาย ไม่ได้อยากได้อะไรที่เป็นวัตถุมากไปก็สามารถดูแลครอบครัวได้พอสมควร
@ จุดเริ่มต้นของโครงการ”คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน”?
@ เราทำงานในโรงพยาบาลชุมชน การรักษาพยาบาลมีส่วนสำคัญก็จริง แต่ก็มีส่วนอื่นด้วย บทบาทของการเป็นโรงพยาบาลชุมชนคือ ต้องดูแลสุขภาพคนในชุมชนซึ่งไม่ได้จำกัดแค่คนที่เดินมาหาเราเท่านั้น แต่หมายถึงการส่งเสริม การป้องกันโรค การให้ความรู้ การดูแลสุขภาพคนในชุมชนในทุกระดับของชีวิต ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์จนโตขึ้นจนเป็นคนชรา ฉะนั้นโครงการที่ทำที่คนสนใจมากๆ คือส่วนที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้สูงอายุที่สามารถเดินเข้ามาที่โรงพยาบาลได้ แต่ผู้สูงอายุในอำเภอที่มี 3,000 กว่าคน เราจะไปช่วยเหลือเขาอย่างไร นี่คือมุมมอง ประกอบกับการที่ได้ลงไปสัมผัสได้เห็นภาพคนแก่ถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่ามีเรื่องน่าทำอีกมากมาย และในฐานะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ มีภาระรับผิดชอบดูแลชุมชน 6 ตำบล ต้องมองว่าเราจะวางทิศทางอย่างไรเพื่อให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพดีขึ้น ก็ค่อยๆ เรียนรู้ลองผิดลองถูกเรื่อยมา ในช่วง 5 ปีแรกจึงเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มีการสร้างเครือข่ายมากขึ้น ได้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น ค่อยๆ ประมวลกระบวนคิดออกแบบระบบ รวมถึงมีกระบวนการสร้างสัมพันธภาพ สร้างทีม
นักบริบาลเมื่อก่อนต่างมีงานประจำทำอย่างไรจะสร้างความมีจิตอาสา?
จริงๆ แรงจูงใจที่จะทำให้คนเราทำอะไรสักอย่าง ตัวเงินหรือค่าครองชีพเป็นแค่แรงจูงใจพื้นฐานเท่านั้น ผมเชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่อยากทำเรื่องราวดีๆ ที่มีคุณค่า เพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา การได้ทำเรื่องราวที่ดีๆ เขาก็ได้รับความปีติ ได้รับความสุขจากการทำ หน้าที่ผมคือ ไปทำให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มันน่าทำ แล้วเขาก็ไปชักชวนคนอื่นต่อ ซึ่งมันดีจริง มันดีต่อชาวบ้าน ดีต่อคนแก่คนเฒ่าจริงๆ แล้วเขาก็เห็นตรงนี้ เป็นแรงผลักดันมหาศาลที่ทำให้มันเกิดขึ้น
…ตัวเองเป็นชาวบ้านธรรมดา คนแก่ที่อยู่ติดบ้านติดเตียงเรียกว่า หมอ แล้วก็รอว่าเมื่อไหร่จะมาเยี่ยม มันเป็นความผูกพันกัน นักบริบาลก็มีความสุข นายก อบต. เป็นที่่รักของชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านก็ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มันก็เลยโตขึ้นมาได้เรื่อยๆ
@ กลายเป็นโมเดลไปแล้ว?
@ น่าจะเป็นอย่างนั้น ตอนนี้มีนโยบายในระดับรัฐบาลออกมาในการดูแลผู้สูงอายุลักษณะแบบนี้ หลายแห่งพูดถึงลำสนธิโมเดล แต่อย่าบอกว่าเป็นเพราะเราเลย มันก็เป็นด้วยหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ซึ่งผู้ใหญ่คงเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และคงหาทางออกให้กับสังคมไทย เผอิญรูปแบบนี้ก็เหมาะสมพอสมควร จึงออกนโยบายมา บางแห่งก็เรียก ทีมหมอครอบครัว บางแห่งก็เรียกว่าการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
@ เน้นผู้สูงอายุและคนป่วยที่ติดเตียง?
@ เน้นที่ผู้สูงอายุและคนป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ซึ่งไม่เพียงผู้สูงอายุ แต่รวมถึงคนพิการ คนเป็นโรคมะเร็ง เนื้องอกในสมอง อุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งพบว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งโลก และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ และค่าใช้จ่ายมันมาก ลองดูว่าถ้าเราอยู่ใน กทม. ถ้ามีแม่ที่แก่แล้วแม่ติดเตียง จะลำบากไปหมด จะไปฝากสถานพักฟื้นหรือสถานบริบาล หรือจ้างคนมาดูแล ค่าใช้จ่ายแพงมาก และปัญหานี้มันหนักขึ้นเรื่อย
@ ต้องรับมืออย่างไร?
@ โมเดลนี้เป็นทางออกหนึ่ง โดยการออกแบบดีๆ แล้วอาศัยความเป็นไปได้ ซึ่งใช้เงินไม่มาก จริงๆ สามารถขยายไปได้เป็นวงกว้าง จึงมีการเอารูปแบบนี้ไปกำหนดเป็นนโยบาย โดยเริ่มจากเฮลท์เซ็กเตอร์ก่อนเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน แล้ว 4 ปีต่อมาถึงเกิดโซเชียลเซ็กเตอร์ โดยทุกอย่างค่อยๆ โตอย่างเป็นระบบ ทำๆ ไปก็ เอ๊ะ ถ้าบ้านหลังนี้มีการเทพื้นหน่อย มีการเอาห้องน้ำมาไว้ใกล้หน่อย เริ่มมีกระบวนการไปปรับบ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่หลังเดียว ทุกอย่างมาจากความตั้งใจที่จะทำให้ดีขึ้น โดยแปลงจาก 1 เคส ให้กลายเป็นระบบ ล่าสุดคณะสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาช่วยเราออกแบบบ้านผู้สูงอายุ
@ โมเดลนี้นิ่งแล้ว?
@ โมเดลนี้มันนิ่งมานานแล้ว แต่ก็ยังทำให้เกิดทั้งประเทศไม่ได้ เนื่องจากไม่ง่ายนัก เพราะเป็นโมเดลที่เฮลท์เซ็กเตอร์คือ โรงพยาบาล กับ รพ.สต.ต้องร่วมมือกัน โซเชียลเซ็กเตอร์ ต้องเป็น อบต. ซึ่งวันนี้ อบต.มีบทบาทหน้าที่ มีงบประมาณชัดเจน ฉะนั้นบทบาทหลักต้องเป็นของเทศบาลท้องถิ่น ออกแบบที่เกิดกลไกที่เป็นระบบ
@ ต้องวิ่งหางบประมาณเอง?
@ สมัยก่อนก็ทำแค่ในอำเภอ มีปัญหาก็แก้กัน ถ้าถามผมโดยหลักๆ งบประมาณที่มีอยู่ปกติ ไม่ว่าจะสาธารณสุขเอง อบต.เองก็มีงบของเขา ตัวเม็ดเงินจริงๆ อาจจะไม่ใช้ปัญหาอุปสรรคมากนัก แต่การจะทำให้เรื่องพวกนี้มีคุณภาพ บางอย่างเราจำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่ระเบียบอาจจะยังไม่เปิดโอกาสให้ใช้ได้ เช่น เราไปเจอคุณยายดูแลคุณตาอยู่คนเดียว ลูกหลานก็ไม่มี รายได้ก็ไม่มี เราบอกว่าอยากจะได้แพมเพิส จะได้ไม่ต้องซักผ้า จะตั้งงบ อบต.ซื้อแพมเพิสก็ไม่ได้ จะเอาค่ายาไปซื้อก็ไม่ได้ ก็ต้องหาบริจาคแพมเพิสเข้ามา หรือเราอยากจะปรับปรุงบ้าน ใช้เงินแค่ 5,000 บาท ให้มีราว แล้วเทพื้นให้เรียบๆ สร้างห้องน้ำเล็กๆ ในบ้าน จะเอาเงิน อบต.หรือเงินโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เพราะมันมีระเบียบอยู่ เราก็ต้องตั้งกองทุนขึ้นมา
ผมไม่ได้ทำคนเดียว เวลานี้ในอำเภอมีทีมเยอะแยะที่อยู่ในเครือข่ายคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน บางอย่างนายอำเภอทราบเรื่องก็วิ่งเต้นให้ โดยมีผมเป็นตัวหลักในการประสานงาน คอยแก้ปัญหาให้ – การจะรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปี คือการขยายโมเดลนี้?
ผมว่าตอนนี้สถานการณ์ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ทุกอำเภอประสบปัญหา และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แล้วอนาคตผู้สูงอายุมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปี วัยแรงงาน 2 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน คนสูงอายุมากขึ้น คนติดบ้านติดเตียงมีมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพแพงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ที่มี แล้วมันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฏว่าโมเดลลักษณะคล้ายอย่างนี้มันเป็นโมเดลเดียวที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ภายใต้ความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจของประเทศไทย และเหมาะสมกับวัฒนธรรมของไทย ซึ่งลำสนธิพิสูจน์แล้วว่า คุณภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งคุณภาพคนดูแลมันดีขึ้นในระดับหนึ่ง แล้วคนก็มีความสุขกันทุกๆ ฝ่าย
ปัญหาคือทำอย่างไรจะทำให้เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ?
มีเงื่อนไข 3 อย่าง คือทำอย่างไรจะให้เกิดการบูรณาการกันภายในพื้นที่นั้น จริงๆ พระเอกในเรื่องนี้เป็นนายก อบต. กับนายอำเภอ เราพบว่ากลไกสำคัญกลับเป็น นอน-เฮลท์เซ็กเตอร์ เฮลท์เซ็กเตอร์เป็นแค่ตัวซัพพอร์ต ถ้าทำให้ทัศนคติของทั้งเฮลท์และนอน-เฮลท์ สามารถทำงานร่วมกันได้ในแง่ผู้บริหารระดับบน 2.ถ้างบประมาณมีมากขึ้นก็ดี แต่ถ้าไม่ได้มีมากขึ้นก็ไม่ใช่ข้ออ้างว่าทำเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะยูนิตคอสต์ที่ออกมาใช้ไม่มากนัก 3.สำคัญมาก คือทำอย่างไรให้เชิงนโยบายมันชัดเจน อยากให้มีกลไกอย่างนี้เกิดขึ้น และอยากให้มีนักบริบาลกึ่งอาชีพกึ่งอาสาเกิดขึ้นจริง แล้วกฎระเบียบสามารถจะเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้งบประมาณมาทำได้อย่างสบายใจ
ณ วันนี้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานมาทำเรื่องพวกนี้ ไม่ว่า สปสช.ได้งบประมาณ 600 ล้านในปี 59 มาทำเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะในส่วนของกรม กระทรวงต่างๆ มีการอบรม เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะทำให้เกิดเรื่องพวกนี้รองรับ
@ อะไรเป็นพลังที่ทำให้เดินมาได้ถึงตอนนี้?
@ ต้องขอบคุณคุณวิโรจน์ รัตนศิริวิไล และคุณวิเชียร พงศธร มูลนิธิเพื่อคนไทย ที่จุดประกายให้เรากล้าที่จะฝันต่อและกล้าที่จะก้าวไปทำเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในเมืองไทยมันสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ผมว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้จากชีวิตจริง ครูหรือบทเรียนที่ดีที่สุดคือของจริง มันคือความทุกข์จริงๆ ที่จับต้องได้ และเป็นความดีงามจริงๆ ที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายของเราที่ช่วยเหลือกัน แน่นอนบทเรียนจากต่างประเทศที่ทำเรื่องเหล่านี้ก็สำคัญ ผมเคยไปทั้งสิงคโปร์ ทั้งญี่ปุ่น การไปเห็นบทเรียนจากต่างประเทศ และปัญหาที่เขาเผชิญ
เมื่อมองย้อนกลับมาในสิ่งที่เราทำ มันทำให้ภาพที่เรามันชัดเจนขึ้น และมั่นใจมากขึ้นที่จะก้าวต่อไป
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2559
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้