ข่าว/ความเคลื่อนไหว
“เด็กอ้วนในวันนี้ มีความเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า” คำพูดนี้คงไม่ใช่คำขวัญเรื่องเด็กอ้วน หากแต่มีแนวโน้มของความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ ด้วยเพราะพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเด็กยุคนี้ที่แปรตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เด็กติดกินขนมขบเคี้ยวและอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล มีพฤติกรรมนั่งอยู่กับที่ เล่นมือถือหรือดูทีวีเป็นเวลานาน ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ความอ้วนมาเยือนเด็กๆ ได้ไม่ยาก
“ความอ้วน” ถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง และคนอ้วนมักมีอายุสั้นกว่าคนผอม รวมทั้งพบอัตราการเป็นโรคและอัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ความอ้วนสามารถก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โรคปวดข้อ โรคข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ จากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และทำให้คนที่เป็นโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยแม้มีการจัดการเพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็กนักเรียนมากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์เด็กอ้วนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการสำรวจเมื่อปี 2546 เด็กวัยเรียนมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 5.4 ในปี 2552 ร้อยละ 9.7 และในปี 2556 ร้อยละ 16.7 ซึ่งการพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัยของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้กลุ่มเด็กวัยเรียนเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกิน ร้อยละ 10
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันและจัดการปัญหาภาวะโภชนาการ เกิน ที่เน้นเฉพาะบุคคลอาจสำเร็จได้ยาก แม้บุคคลจะมีความรู้และตระหนักถึงผลดีของการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและ การออกกำลังกายก็ตาม เนื่องจากปัจจัยแวดล้อม เช่น ครอบครัว โรงเรียน นโยบาย กฎระเบียบ และกลไกต่างๆ ในสังคม ไม่เอื้อให้บุคคลมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นการควบคุมและป้องกันโรคอ้วนต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับบุคคล ระหว่างบุคคล ระดับองค์กร ชุมชน และระดับนโยบายสาธารณะ โดยควรป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อไม่ให้เป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรงและรักษายากในอนาคต
ปัจจัยแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อให้เกิดการปรับพฤติกรรมการลดน้ำหนักของนัก เรียน เช่น จัดพื้นที่สนามกีฬา/พื้นที่ใช้ออกกำลังกาย จัดหาอุปกรณ์กีฬาเพื่อสนับสนุนการออกกำลังกาย จัดกิจกรรมกีฬาประจำปีอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ใช้การเดินเมื่อเปลี่ยนวิชาเรียนแทนการขึ้นลิฟต์ ส่งเสริมให้มีการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งเสริมการตรวจสุขภาพประจำปี จัดให้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพในโรงเรียน ฯลฯ |
ดังนั้น สวรส.จึงได้สนับสนุนให้เกิดงานศึกษาวิจัยผลการใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่อการลดน้ำหนักของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่เขตสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในพื้นที่บนหน้างานจริงของนักวิจัย ซึ่งข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสามารถนำมาบูรณาการกับการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพกลุ่มเด็กวัยเรียนของเขตสุขภาพที่ 12 ได้อย่างดี
งานวิจัยชิ้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพและน้ำหนักที่ลดลงของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานก่อนและหลังเข้าโปรแกรม และศึกษาผลของโปรแกรมด้านต่างๆ ทั้งด้านนโยบายของผู้บริหารโรงเรียน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน อิทธิพลจากเพื่อน/ผู้ปกครอง ผู้จำหน่ายอาหารในโรงเรียน หรือระบบบริการสุขภาพ ซึ่งทีมวิจัยได้สร้างโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยใช้แนวคิดทฤษฎีทางสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์เป็นหลักคิดในการออกแบบโปรแกรมฯ ตามแบบจำลองเชิงนิเวศของพฤติกรรม (Social ecological Model) เช่น การกำหนดนโยบาย การมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การส่งเสริมและสนับสนุนทางสังคม ฯลฯ แล้วจึงเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2558ซึ่งขณะที่ทำการศึกษาวิจัย กลุ่มเป้าหมายบุคคลก็ได้รับการเรียนรู้และร่วมกำกับตนเองที่จะปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพไปพร้อมกับการศึกษาครั้งนี้ด้วย
และผลการศึกษาก็ชี้ชัดว่า โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการลดน้ำหนักของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้นและน้ำหนักลดลง โดยเป็นผลจากการช่วยกันปรับเปลี่ยนและเก็บข้อมูลร่วมกันทั้งครอบครัวและโรงเรียน ตลอดจนการช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายที่ดีขึ้น
ทั้งนี้นอกจากงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้จะสามารถสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ที่มีทักษะความรู้ในการพัฒนางานวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาสำคัญและเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวมได้แล้ว งานวิจัยนี้ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ใช้โดยนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของหน่วยบริการสุขภาพเขตเมือง ของเขตสุขภาพที่ 12 และนำไปบูรณาการกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขด้านการพัฒนาสุขภาพกลุ่มเด็กวัยเรียนร่วมด้วย
ข้อมูลหลักจากงานวิจัย : โครงการผลการใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่อการลดน้ำหนักของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
(The Effects of Health Behavioral Adaptation Program on Weight Loss among Overweigh Secondary School Students in Hat Yai District, Songkhla Province) สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้