ข่าว/ความเคลื่อนไหว
“DEAF ไทยไปเที่ยว” รายการท่องเที่ยวที่เปิดโลกใหม่ให้ “ใจ” สำคัญกว่า “เสียง”
เสียงและภาพ คือส่วนสำคัญที่ทำให้รายการหรือหนังเรื่องโปรดมีอรรถรส หากอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ลงตัว ผู้ชมผู้ฟังอาจจะลดคะแนนความชอบให้อย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะจริงดังนั้น แต่ข้อสรุปนี้ก็ถูกทลายแล้วโดยกลุ่มคนพิการทางด้านการได้ยินที่แสดงฝีไม้ลายมือลงมือผลิตภาพยนตร์เงียบเล่าเรื่องราวได้สนุกไม่แพ้คนหูดี
ความเงียบ สีหน้า ภาษามือ ประกอบกับตัวอักษรที่บรรยายข้างใต้ถูกใช้สื่อสารถึงคนหูดีมาแล้วแบบไม่ต้องอาศัย “ล่าม” ในโครงการหนังเงียบ Si (gn) lent Film ที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินได้ลองเป็นโปรดักชันขนาดย่อมมาตั้งแต่ปี 2554
เวลานี้คนหูไม่ดีขอแสดงศักยภาพเดิม (และเพิ่มเติมมากมาย) อีกครั้งผ่าน “รายการท่องเที่ยว” ที่บอกได้เลยว่า หูไม่ดีไม่ใช่เรื่องใหญ่...
ขยายการเรียนรู้
“เราทำได้” เดียร์-อัมรินทร์ รินทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยราชสุดา พูดถึงรายการท่องเที่ยวที่เขาและเพื่อนช่วยกันผลิต แม้จะมีอุปสรรคเวลาถ่ายทำที่ต้องอาศัยคนหูดีมาคอยเป็นล่ามสื่อสารให้ แต่สุดท้ายผลงานชิ้นโบแดงของพวกเขาก็ออกมาเสร็จสมบูรณ์ ออกมาเป็นรายการ “DEAF ไทยไปเที่ยว ตอน ไปเที่ยวหาดใหญ่”
เดียร์ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการหลักสูตรนำร่องการเรียนรู้การทำรายการสารคดี DEAF ไทยไปเที่ยว เพราะอยากจะเก็บเกี่ยวความรู้ด้านนี้ โดยที่เขาเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เมื่อได้ลงมือคิด เขียน ถ่าย ตามขั้นตอนของการผลิตแล้ว ก็ทำให้เขาเห็นด้วยตัวเองว่า เขาสามารถทำได้จริงๆ
การผลิตรายการสารคดีแนวท่องเที่ยวครั้งนี้เป็นไอเดียที่ต่อมาจากการผลิตภาพยนตร์สั้นที่หวังให้ผู้พิการทางการได้ยิน “ฝึก” ทักษะด้านต่างๆ จากกระบวนการผลิตสื่อมีความซับซ้อน ทั้งในเรื่องของการวางแผน การจัดการ การสื่อสาร และศิลปะการถ่ายทำ
“เราเจอประเด็นเรื่องคนหูหนวกจะจับประเด็นไม่ค่อยเก่ง ก็เลยปรับรูปแบบ รายการโทรทัศน์จะซับซ้อนกว่า ต้องมีการเตรียมข้อมูล วางแผน ทำ mind mapping แล้วหลังจากนั้นต้องทำสคริปต์คร่าวๆ ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล แล้วต้องทำสคริปต์สมบูรณ์ให้เราดู ทำงบให้ แล้วเขาก็ไปถ่ายทำตัดต่อ process มันยาวกว่า เด็กๆ ก็ได้ทักษะในการจับประเด็นหรือการคิดบางอย่างด้วย” มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการหลักสูตรนำร่องการเรียนรู้การทำรายการสารคดี DEAF ไทยไปเที่ยว เล่าถึงที่มาของการฝึกนักศึกษาผู้พิการทางการได้ยินของมหาวิทยาลัยราชสุดาและผู้สนใจให้เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนกว่า 20 คน
จากการวางกระบวนการการเรียนรู้ที่จริงจัง เวิร์คชอปจัดเต็ม ตรวจการบ้านเป็นระยะ ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีผลงานออกมาเป็นรายการพาเที่ยวโดยคนหูไม่ดี ที่ถ้าเทียบคุณภาพของการเป็น “มือใหม่” ก็นับว่า ออกสตาร์ทได้สวย
“มันต่างกัน ชัดเจน หนังมันต้องมีตัวละคร มีบทบาทของตัวละครนั้นๆ ต้องไปเรียนรู้ ต้องพยายามสื่ออารมณ์ของตัวละคร แต่ในเรื่องของรายการท่องเที่ยวเราจะต้องไปหาข้อมูลของสถานที่นั้นจริงๆ ก่อน ให้พิธีกรเล่นได้อย่างธรรมชาติที่สุด” ล่ามภาษามือแปลคำพูดของ ธนูเกียรติ ลอยประโคน หรือแบงค์ วัย 26 ปี ที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากเคยร่วมโครงการทำหนังสั้นมาแล้ว
แบงค์รับหน้าที่ทั้งเป็นช่างภาพ เขียนบท และตัดต่อรายการตอน “เที่ยวตลาดน้ำดำเนินสะดวก” ซึ่งมีรูปแบบรายการไม่ต่างจากรายการท่องเที่ยวของคนหูดีที่มีพิธีกรดำเนินรายการคอยแนะนำสถานที่ต่างๆ โดยเขาบอกว่า ในทีมจะมีด้วยกัน 6 คน คอยช่วยกันคิดทุกอย่าง เช่น จะเปิดรายการตรงไหน ต้องถ่ายภาพที่ไหนเก็บไว้บ้าง จะบรีฟพิธีกรอย่างไร
“จะมีตั้งแต่การเรียนรู้หาข้อมูล จนกระทั่งสอนเรื่องการตัดต่อ เสร็จแล้วยังไม่ลงมือถ่าย ต้องส่ง mind mapping ก่อน ถึงค่อยเอาไปทำสคริปต์ เขาก็ทำบัดเจ็ทมาให้เราดู ถ้าเขาจะไปลง เขาจะเก็บพื้นที่อะไรบ้าง เขาไปเองหมดเลย” มนต์ศักดิ์เสริมถึงขั้นตอนที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องทำ
รายการโทรทัศน์ DEAF ไทยเที่ยวไทย จ.สตูล ตอนที่ 1
โลกของภาพ
“เกินคาดมาก” มนต์ศักดิ์เอ่ยถึงผลงานที่ผู้เข้าร่วมโครงการทำออกมา อาจจะมีที่เขาต้องแนะนำให้ปรับแก้บ้าง เช่น การใช้ภาพซ้ำ การเปลี่ยนมุมมอง แต่ที่สุดแล้วเขาก็ปล่อยให้งานออกมาในรูปแบบที่ผู้เข้าร่วมโครงการตั้งใจไว้
“เขาทำดีมาก เพราะหูหนวก อ่านหนังสือไม่แตก เขาจะเก่งเรื่องการวาด สตอรี่บอร์ดมันตอบโจทย์อยู่แล้วว่า เขาจะไปถ่ายอะไร อย่างร่างแรกเขาทำ เราบอกว่ามันคร่าวมากเลย ไม่รู้จะไปไหนบ้าง เขาก็จะทำกลับมาอีก เขาก็ทำละเอียดกลับมาให้ หรือบทครั้งแรก ไม่มีอะไรเลย แค่บอกว่าจะไปที่ไหนบ้าง เราก็ให้ปรับ เช่น แบ่งเป็นเที่ยวกลางวัน กลางคืน ดีไหม จนกระทั่งกลายเป็นบทโทรทัศน์ที่ละเอียดมาก”
หัวใจหลักของหลักสูตรนี้คือ การหาข้อมูล การวิเคราะห์เนื้อหา การจับประเด็น เพื่อให้ออกมาเป็นสคริปต์รายการท่องเที่ยว ซึ่งเหตุผลหนึ่งของการปรับเปลี่ยนจากการทำหนังเป็นรายการท่องเที่ยว เพราะจะเข้ากับธรรมชาติของคนหูหนวกที่ชอบไปเที่ยว และรับรู้เรื่องราวจาก “ตา” มากกว่า การฝึกทำรายการท่องเที่ยวจึงตอบรับกับทักษะพิเศษของคนหูไม่ดีด้วย
“วิถีชีวิตของเขา เขาเรียนรู้โลกด้วยภาพ ไม่ได้เรียนรู้โลกด้วยเสียง” ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ที่ปรึกษาโครงการฯ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล บอก
“เวลาเรา (คนหูดี) เห็นรายท่องเที่ยว ไปต่างจังหวัด มีพิธีกรเล่านู่นนี่ เราก็รู้สึกเหมือนไปเที่ยว เหมือนกับเข้าใจว่านี่คือสถานที่ท่องเที่ยวอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หูหนวก เขาเห็นแต่ภาพ เขาก็ไม่สามารถรับรู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเขาชอบไปเจอสถานที่นั้นด้วยตัวเอง เด็กก็จะหาทางออกไปเที่ยว ไปมีประสบการณ์ ไปเห็นเอง เพราะจากทีวี มันเข้าถึงได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.ปรเมศวร์อธิบาย
คนหูดี ตาดี อยากจะดูรายการโปรดที ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้านั่งเฝ้ารอตามนัดกับช่องทีวีไม่ได้ ก็แค่อาศัยความเร็วของอินเทอร์เน็ตดูย้อนหลัง แต่สำหรับการรับชมรายการของคนหูหนวกนั้นหาดูยากกว่า จะมีที่ดูได้ผ่านทีวีบ้างถ้ามีล่ามภาษามืออยู่ที่มุมจอ หรือมีรายการสำหรับคนหนูหนวกโดยเฉพาะ ซึ่งก็มีน้อยมากตามช่องทีวีปกติ ส่วนใหญ่คนหูหนวกจึงเลือกชมรายการทางช่องทางออนไลน์อย่างยูทูบที่มีช่องรวมรวบวิดีโอรายการต่างๆ เอาไว้ให้เลือก ทั้งนี้ก็ยังไม่มีความหลากหลายของรายการมากเท่าไร
แม้รายการท่องเที่ยวสำหรับคนหูหนวกอาจจะมีให้ดูบ้าง แต่สำหรับ จอม – วีรภัทร ชูพรมหมแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการก็เลือกที่จะดูรายการท่องเที่ยวของคนหูดีเป็นแบบอย่าง เมื่อเขาต้องรับหน้าที่เป็น “พิธีกร” ของรายการ ตอน “เที่ยวหัวหิน”
“ก็เปิดดูว่าเขาทำกันยังไง ทั้งของหูดีและหูหนวกเอามาผสมกัน เพราะของคนหนูดี พิธีกรจะมีสีหน้าที่เป็นธรรมชาติกว่า รวมทั้งการเดิน การมองกล้องด้วย” ศันสนีย์ วิโรจน์รัตนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนหูดีที่ช่วยเขียนซับไตเติลของรายการ แปลจากภาษามือของจอม
สำหรับจอม การเป็นพิธีกรมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ ทั้งสีหน้า ท่าทาง การอยู่ให้ถูกตำแหน่งของเฟรมภาพ และยังต้องจำบทให้ได้ตามลำดับที่คุยกับเพื่อนไว้ แต่เขาก็หมั่นฝึกฝน เพราะอยากจะให้ทุกคนรวมไปถึงคนพิการอื่นๆ เห็นว่า ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ
อย่างการตัดต่อ อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องดนตรีประกอบที่ส่งผลให้รายการไม่น่าสนใจ จุดนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กลุ่มของจอมไม่ละเลย คอยให้คนหูดีอย่างศันสนีย์ช่วย
“นอกจากจะช่วยเขียนคำบรรยายแล้ว ก็จะมีช่วงที่รายการเงียบ เขาก็จะบอกว่า ต้องมีดนตรี อยากเพิ่มเพลง ก็ขอคำแนะนำจากเราในการเลือกเสียงดนตรีประกอบให้” ศันสนีย์บอก
รายการโทรทัศน์ DEAF ไทยเที่ยวไทย จ.สตูล ตอนที่ 2
ไม่เกี่ยวกับ “หู”
“อยากทำต่อไป อยากแชร์ในเฟซบุ๊ค หรือยูทูบ แต่ถ้ามีออกทีวีด้วยก็ดี อยากให้คนหูดีได้ดู” เดียร์บอกถึงความตั้งใจในการทำรายการท่องเที่ยวครั้งนี้ที่ไม่ได้แค่หวังชวนเพื่อนหูหนวกออกไปท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางด้านการใช้ภาษาและเสียง อาจจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้รายการทีวีที่ผลิตโดยคนหูหนวกออกมาถูกใจคนดูทั่วไป
การอ่านซับไตเติล การทำความเข้าใจภาษามือ หรือการฟังผ่านเสียงพากย์ อาจจะไม่ถูกจริตผู้ชมที่มีรายการหลากหลายรูปแบบให้เลือกชม แต่สำหรับ ดร.ปรเมศร์ นั้น ไม่อยากให้ข้อจำกัดเหล่านี้ต้องกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนหูหนวกจะไม่ได้ผลิตสื่อด้วยตัวเอง
“เขาทำได้ ถ้าให้เขามีประสบการณ์มากขึ้น รายการอาจจะเข้มแข็งทั้งในเชิงของเนื้อหาและโปรดักชัน” ดร.ปรเมศวร์เชื่อ เขาเห็นว่า สิ่งที่จะเป็นไปได้มากที่สุดตอนนี้ ก็คือ คนหูหนวกต้องทำรายการเพื่อคนหูหนวกออกตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ทำได้เองก่อน
“เขาขาดศักยภาพในเชิงภาษา เขาทำได้ แต่เข้าถึงแค่คนบางกลุ่ม เช่น หูหนวกด้วยกัน หรือคนที่เข้าถึงภาษามือเข้าได้ แต่จะให้เขาทำซับมันก็ไม่ได้ ก็ต้องให้คนหูดีเข้าไปช่วย”
ถ้าเริ่มต้นด้วยความตั้งใจ ทำอย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาให้น่าสนใจได้ ดร.ปรเมศวร์เชื่อว่า ที่สุดแล้วก็ต้องมีช่องทางการรับชมที่กว้างขึ้น เช่น อาจจะได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัย “คนหูดี” ทั้งด้านการผลิตและการเปิดใจรับชมด้วย
“หูหนวกยังไม่สามารถดำเนินงานได้ทั้งหมด มันจะต้องมีการบูรณาการ เป้าหมายของเราคือการทำงานร่วมกัน ต้องทำงานเหมือนเป็นพาร์ทเนอร์ ต้องเทคด้วยมุมมองที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้ต่ำกว่า แต่คนหูหนวกจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรกที่มีการคิด” มนต์ศักดิ์เสริม และเชื่อว่า คนหูไม่ดีจะเข้าใจธรรมชาติของกันเอง การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับคนกลุ่มนี้จะต้อง “เริ่ม” จากคนที่เข้าใจกันก่อน
สิ่งสำคัญของผู้รับผิดชอบโครงการที่อยากจะให้มีต่อไปก็คือ การรวมตัวกันหรือจัดตั้งชมรมของผู้พิการทางการได้ยินเพื่อฝึกฝนและผลิตงานได้ โดยมีความแข็งแรงพอที่จะเดินหน้าทำงานสื่อเพื่อตัวเองได้ ซึ่งเวลานี้ก็ได้ผลกับผู้เข้าร่วมโครงการในขั้นหนึ่งแล้ว
“อยากทำรายการเองมาก ถ้าเขาเห็นว่า เราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้เราก็ยินดีเลย แต่ถ้าฝีมือยังไม่ดีพอ เราก็จะฝึกฝนกับผู้รู้ไปเรื่อยๆ ก่อน” แบงค์บอกผ่านสีหน้าที่ยินดี
ขั้นต่อๆ ไปของรายการโทรทัศน์โดยคนหูไม่ดี ก็อยู่ที่คนหูดีที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน
“เราตีโจทย์ว่า นี่เป็นสื่อทางเลือก หูดีก็ต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดนี้ เราเอาหนังเงียบไปฉาย เราก็ถามคนว่า รู้สึกยังไง เขาอึดอัด เราก็ไม่แปลกใจเลย เพราะประสาทเราต้องใช้หูและตา ถ้าเกิดมันขาด คุณก็จะรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่เราอยากจะทิ้งอะไรบางอย่าง เหมือนกับทำไมเวลาคุณยอมดูซีรีส์ภาษาเกาหลีทั้งที่คุณไม่เข้าใจภาษา คุณก็มีความอึดอัดนี่คือภาษาที่เราไม่เข้าใจ ถ้าเกิดเรามองข้ามข้อจำกัดนี้ ภาษามือมันก็เป็นเหมือนภาษาหนึ่ง ถ้าเราส่งภาษาก็พร้อมที่จะทลายข้อจำกัดในบางเรื่องได้” มนต์ศักดิ์เสริม
ถ้าพร้อมที่จะเปิดใจและยอมรับ ไม่ว่า DEAF ไทยจะไปเที่ยวไหน อย่างไร “เรา” ก็จะเดินทางไปพร้อมกันได้โดยไม่สะดุด
------------------------
โดย : ศากุน บางกระ
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 ตุลาคม 2558
หมายเหตุ : ถอดบทเรียนอบรมผลิตรายการโทรทัศน์ DEAF ไทยไปเที่ยว : เสียงที่ไม่เคยหายไปจากโลกความเงียบ ภายใต้โครงการหลักสูตรนำร่องการเรียนรู้การทำรายการสารคดี DEAF ไทยไปเที่ยว โดย มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช เป็น 1 ในประเด็นขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะ ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการและผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้