4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

หลอดเลือดส่วนขาตีบ – เส้นประสาทเสื่อม ภัยคุกคามผู้ป่วยเบาหวาน

“ข้อมูลจากการเล่าขานจากผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มที่มีแผล มักจะมีเป็นความเชื่อผิดๆ จนทำให้ผู้ป่วยไม่อยากมาพบแพทย์ก็คือ การเข้าใจว่าเมื่อมาแล้ว จะถูกตัดนิ้ว ตัดขา หรือตัดข้อเข่า ทว่าไปแล้วความคิดเหล่านั้นจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามมากยิ่งขึ้น เช่น บางรายนิ้วเท้าดำ ยิ่งไม่มาหาหมอแผลก็จะลุกลามจนถึงเน่าในที่สุด ปลายทางก็ต้องถูกตัดขา แต่ถ้ามาหาหมอที่สามารถรักษาทางนี้ ก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบา...”

 

          ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม เครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหัวหน้าศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ โปรยให้ทราบถึงปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวาน หรือที่เราเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “เบาหวานลงเท้า”

          โครงการวิจัยเรื่อง “ภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย” โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  เป็นอีกผลงานวิจัยมุ่งเป้าที่ ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ ได้ทำการค้นคว้าขึ้น โดยเก็บข้อมูลคนไข้เบาหวาน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 จำนวน 2,200 คน จาก รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (1,000 ราย) รพ.ลำพูน (850 ราย) และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ (350 ราย) เพื่อดูว่ามีโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันหรือเส้นประสาทเสื่อมในผู้ป่วยฯ พร้อมแนะแนวทางที่เป็นเวชปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกตัดขาในผู้ป่วย

            จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมด พบภาวะหลอดเลือดตีบตัน ประมาณ 15% และเส้นประสาทเสื่อม อีกประมาณ 30% เหล่านี้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยเบาหวาน หรือ “เบาหวานลงเท้า” นั่นเอง

          “โรคหลอดเลือดส่วนปลาย” หรือ “หลอดเลือดตีบตันที่ขา” ชื่อนี้อาจฟังดูไม่คุ้นเท่า โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ก็เช่นกันเมื่อพบภาวะดังกล่าวก็เป็นสัญญาณแสดงได้ว่า คุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดในทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น หลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจ

            นักวิจัยท่านนี้ อธิบายต่อว่า โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันได้ง่าย เพราะไขมัน ความดันโลหิตสูง ดังนั้น หลอดเลือดที่ขา ก็เป็นอีกหลอดเลือดที่เสมือนกับหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง คือ เมื่อหลอดเลือดไปตีบตันที่ขา เลือดก็จะไปหล่อเลี้ยงน้อย เมื่อผู้ป่วยมีบาดแผล เช่น เกิดอุบัติเหตุ มีรอยถลอก บาดแผลก็จะหายช้าหรือไม่หาย เพราะเลือดไปเลี้ยงได้น้อย

            “คนที่เป็นเบาหวานจะมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ หลอดเลือดตีบ ที่ไปหล่อเลี้ยงผิวหนังได้น้อย กับเส้นประสาทเสื่อม จะเป็นเส้นประสาทที่เกี่ยวกับความรู้สึก จึงทำให้เกิดแผลและติดเชื้อได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ที่ป่วยก็จะไม่รู้สึกว่าเจ็บอะไรมากจากแผลที่เกิดขึ้น เพราะผิวหนังของเราสมานตัวได้ด้วยเลือดที่มาเลี้ยงที่เอาโปรตีนมากับออกซิเจน รวมถึงปัจจัยต่างๆ มาเพื่อสมานแผล เมื่อเลือดมาเลี้ยงไม่พอแผลก็จะไม่หาย ปลายทางในการแก้ไขปัญหา คือ การตัดส่วนที่เน่าเสียออก” ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ กล่าว

            ข้อสังเกตจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วย สัญญาณบ่งบอกที่ “ผู้ป่วยเบาหวานที่ขา/เท้า” จึงต้องพึงระวังให้มาก คือ อาการชาที่เท้า หรือมีอาการเจ็บเท้าในขณะที่อยู่เฉยๆ รวมไปถึงอาการปวดเมื่อยบริเวณน่อง เมื่อเดินไปได้ในระยะสั้นๆ อีกทั้งอาการตาปลาหรือหนังเท้าหนา ถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งที่ร่างกายเริ่มสร้างเนื้อขึ้นมา บางคนเริ่มมีเท้าที่ผิดรูปทำให้เกิดลำบาก เช่น กระดกเท้าไม่ข้ามบันได ส่วนคนไข้ที่เริ่มมีแผลที่เท้าจากรอยถลอก อุบัติเหตุ หรือเป็นตาปลา ฯลฯ ต้องรีบมาพบแพทย์ การไปซื้อยาที่ร้านขายยาทั่วไปจึงไม่แนะนำ เพราะคนที่เป็นเบาหวานจะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยทำงานได้ไม่ดีแล้ว

            “นอกจากนี้ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการมาพบแพทย์ของผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มที่มีแผลเรื้อรังที่บริเวณขา เพราะคนไข้หลายรายได้รับข้อมูลว่า หามาพบแพทย์แล้วจะต้องถูกตัดเท้า ตัดขา ซึ่งทำให้หลายรายมีภาวะเครียด กังวล ที่จะมารับการรักษา” นักวิจัย สวรส. กล่าว

            ในทางการแพทย์ โรคหลอดเลือดส่วนปลาย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดนิ้วเท้าดำเน่า เราสามารถที่จะรักษาให้ตรงกับสาเหตุได้ เช่น การใช้บอลลูนไปถ่างขยาย หรือว่าการผ่าตัดรัดหลอดเลือด ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ การบายพาสหรือผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง ทำให้โอกาสของการถูกตัดขาจะน้อยมาก

            ถึงเวลาที่ผู้ป่วยควรเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิดกันใหม่...

           รายงานงานวิจัยฯ  ได้สรุปหลักการง่ายๆ ที่เป็นบัญญัติ 10 ประการ ในการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน (โดยข้อมูลส่วนหนึ่งจาก รพ.เทพธารินทร์) ประกอบด้วย

  • ข้อ 1 ล้างเท้าด้วยสบู่ถูสะอาด เช็ดเบาๆ ด้วยผ้าแห้ง
  • ข้อ 2 หมั่นตรวจเท้าทุกวัน หากซีดคล้ำ หรือมีตาปลา ตุ่มพุพอง ควรพบหมอ
  • ข้อ 3 ป้องกันผิวแห้ง ผิวแตก ด้วยโลชั่น เพื่อป้องกันผิวแตกโรคแทรกซ้อน
  • ข้อ 4 ถุงน่องหรือถุงรองเท้าไม่รัดแน่น แนะนำถุงที่เป็นไยฝ้าย
  • ข้อ 5 เลือกรองเท้ามาใส่ให้พอเหมาะ ไม่บีบแน่นเกิน
  • ข้อ 6 เลี่ยงการแช่เท้าหรือขาในน้ำนานๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังเปื่อย
  • ข้อ 7 เมื่อเท้ามีบาดแผล รีบล้างแผล หากเกิดการอักเสบนานให้รีบปรึกษาแพทย์
  • ข้อ 8 การตัดเล็บสม่ำเสมอ ไม่ให้เล็บเบียดกับเนื้อ เพราะจะเกิดแผลง่าย
  • ข้อ 9 หมั่นบริหารเท้า ให้เลือดไหลเวียน
  • ข้อ 10 ควรงดสูบบุหรี่

          สำหรับงานวิจัยเรื่องภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ บอกว่า จากการเก็บข้อมูลคนไข้ของ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ที่มีการนำแนวดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พบว่า จำนวนการตัดขาของผู้ป่วยลดลงจากเดิมปีละ 13.6% เหลือเพียง 4% ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง เพื่อติดตามดูว่าในระยะเวลาอีก 3 ปีต่อจากนี้ โรคหลอดเลือดส่วนปลายจากกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย จำนวน 2,200 คน ว่าจะมีโรคแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง เป็นประเด็นที่น่าติดตามในอนาคต (http://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/6374)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้