4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สธ. เตรียมประสานหน่วยงานสุขภาพ จัดงาน ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย

            จากการประชุมวิชาการสังคมและสุขภาพ ๒๕๕๘ “เสริมสร้างจิตวิญญาณงานสาธารณสุขสู่ ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย" เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านงานสุขภาพ เตรียมจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ ตลอดระยะเวลา ๓ ปี เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการสาธารณสุขไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

            นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาตลอดศตวรรษของการสาธารณสุขไทย แม้มีความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในวาระโอกาสนี้ ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของกระทรวง ที่จะให้คนในกระทรวงสาธารณสุขได้ระลึกย้อนหลังถึงความตั้งใจ ความพยายามของคนรุ่นก่อนในการพัฒนางานสาธารณสุข ซึ่งในสมัยนั้นมีข้อจำกัดมากมายในการทำงาน และในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุสุขภาพ โดยจากนี้จะมีการรณรงค์ให้โรงพยาบาลต่างๆ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข การเชื่อมโยงเครือข่าย เช่น การแพทย์ทหาร กระทรวงกลาโหม โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ทั้งนี้ ถือได้ว่า งานสาธารณสุขของไทยนั้น ไม่น้อยหน้าประเทศใดในภูมิภาคนี้ การระดมความรู้ความคิดในเวทีการประชุมวิชาการสังคมและสุขภาพ ๒๕๕๘ “เสริมสร้างจิตวิญญาณงานสาธารณสุขสู่ ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย” ครั้งนี้ มีความสำคัญในการเริ่มต้นทบทวนประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทยเพื่อมองไปใน อนาคตอย่างท้าทาย สร้างความเปลี่ยนแปลงการสาธารณสุขไทย ที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษต่อไป ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ๆ

            “กิจกรรมและการเตรียมความพร้อมเพื่อเฉลิมฉลอง เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ก่อนถึงวาระฯ ๒ ปี โดยความร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงาน องค์กร รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อให้คนไทยและการสาธารณสุขไทยได้คิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสถาปนากระทรวงฯ ขึ้นในปี ๒๔๖๑ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการขมวดเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ว่ามีเรื่องที่ควรบันทึกจัดเก็บ มีการจัดการอย่างไร รวมทั้งให้หลายเรื่องราวเป็นความภาคภูมิใจของคนในระบบสาธารณสุขไทย เพื่อแสดงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน”

            นพ.อำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย และหอประวัติศาสตร์สุขภาพ ของกระทรวงสาธารรสุข ปัจจุบันได้จัดตั้งโดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในส่วนการปกครอง โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดบางแห่ง ได้เกิดเป็นรูปธรรมและมีการจัดการในระดับประเทศ ทำให้การสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รู้จักสาธารณะ  โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันและมีคุณภาพแบบเดียวกันทั้งประเทศ โอกาส ๑๐๐ ปีที่จะมาถึงนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ การทำงานของคนทำงานการสาธารณสุขรุ่นบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์สาธารณสุขอย่างจริง จัง มีหลักวิชาการที่ถูกต้อง

            โครงสร้างการจัดการข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีการจัดการอย่างเป็นระบบที่ เชื่อมโยงได้ทั่วประเทศเป็นเอกภาพ มีหมุดหมายที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย สมควรได้รับการบันทึกจดจารถึงที่มาที่ไป เหตุผล การเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่น การเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ๒๕๔๕ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบการคลังสุขภาพ นำไปสู่การมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ อันเป็นการนำไปสู่ปฏิรูปหรือการออกแบบระบบการคลังสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นต้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพหลายด้าน นำไปสู่รูปโฉมใหม่ของการจัดการประเทศ เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการจัดการ เป็น “Moment of Change” ของระบบการสาธารณสุขของไทย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่บุคคลทั่วไปควรจะได้ทราบที่มาที่ไปอย่างครบถ้วนในรายละเอียด โดยมีทีมงานสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดขึ้น

            นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งความเข้าใจที่แตกต่างกันเนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงให้ได้ค้นหา ถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หากมีการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ถึงเหตุของการเปลี่ยนแปลงว่ามีผลอันเนื่องมา จากเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอะไร คนรุ่นหลังต่อๆ ไปคงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร และอาจนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลได้

            “หลายเรื่องหลายอย่างที่เกิดของกระทรวงฯ ความไม่เข้าใจกันส่วนหนึ่งมาจากการขาดข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาอย่างไร หากมีการชำระประวัติศาสตร์ มีการจัดการข้อมูลเป็นระเบียบ การมีช่องทางสื่อสารให้เกิดการเข้าใจ และเป็นที่ยอมรับ จะทำให้เกิดความเข้าใจปรองดองในประเทศชาติบ้านเมือง หลายเรื่องมีความเห็นต่างจนนำมาสู่ความขัดแย้ง เพราะไม่ทราบที่มาที่ไป ผมว่าเป็นโอกาสดีของกระทรวงสาธารณสุขที่นำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มา สื่อสารทำความเข้าใจกัน จัดการให้เป็นระบบระเบียบ ในโอกาสนี้ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันในอนาคตได้” นพ.อำนวย กล่าว

            นพ.จำรูญ มีขนอน ประธานมูลนิธิศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล่าว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการกวาดล้างโรคติดต่อต่างๆ และได้มีความพยายามที่จะใช้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น การพัฒนาวัคซีนมาใช้ในงานด้านระบาดวิทยาเพื่อควบคุมโรค ขณะที่ในช่วงของการกวาดล้างโรคระบาดเกือบเสร็จและก่อนถึงการเฝ้าระวังนั้น มีหน่วยงานในระบบสาธารณสุขส่วนภูมิภาคคอยดูแลให้ โดยใช้ระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง คือกระทรวงสาธารณสุข เมื่อประมาณปี ๒๔๙๘-๒๕๑๒ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาโครงสร้างหน่วยงานสาธารณสุข โดยเกิดหน่วยงานฯ ในส่วนภูมิภาคขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะส่วนกลาง ในการทำหน้าที่เฝ้าระวังควบคุมโรคระดับพื้นที่ขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อาทิ การเริ่มบุกเบิกการวิจัยสุขภาพในระดับชุมชน การเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขในระดับชุมชนที่เรียกว่า การสาธารณสุขมูลฐาน ที่ได้ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมทำงานสาธารณสุขที่ทำให้การ บริการเริ่มครอบคลุมไปยังตำบลและหมู่บ้าน ภายใต้หลักการที่เรียกว่า Health for All ระบบที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคนทั้งมวล ที่ในปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพก็นำรูปแบบมาประยุกต์ใช้ในการจัดบริการ สุขภาพให้กับประชาชน เป็นต้น

            นพ.จำรูญ กล่าวว่า เรื่องราวประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทย ไม่ควรละเลยประสบการณ์ตรงของการบุกเบิกและพัฒนาจากผู้มีประสบการณ์ ที่เชื่อว่ายังมีเรื่องราวให้บันทึกเป็นข้อมูลอีกมาก ทั้งจากคนทำงานยุคเก่าจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าการใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เฉียบคมหรือมีการเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรหรือคนทำงานในระบบสาธารณสุขยุคปัจจุบัน ได้นำมาคิดปรับปรุงปัญหาที่พบในปัจจุบันได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องความไม่สมบูรณ์ของการกระจายอำนาจในการถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพสู่ส่วน ภูมิภาค ทั้งนี้เป็นเพราะความกังวลต่อปัญหาการคอรัปชั่น ทำให้ส่วนกลางจึงไม่มอบอำนาจออกไป เมื่อไม่มีการมอบอำนาจลงไป การบริหารจัดการในระดับพื้นที่จึงไม่มีกำลังในการพัฒนาในส่วนที่เป็นอยู่ใน ระดับปลายของประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขพัฒนา กระตุ้นความคิดทางประวัติศาสตร์ หรือควรมีการชำระประวัติศาสตร์

            ส่วนมุมมองในการพัฒนาการสาธารณสุขไทยในอนาคตนั้น นพ.จำรูญ มองว่า การสาธารณสุขไทยในวันนี้เราจะเน้นเรื่องบริการอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ ๑๒ ที่จะนำมาใช้ในเร็วๆ นี้ ถือเป็นโอกาสดีหากจะนำมาใช้ในปี ๒๔๖๑ หรือ ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย 

            “เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เน้นเรื่องการบริการ สาธารณสุข มาใช้การพัฒนาเป็นฐาน คือจาก Service Oriented เป็น Development Oriented เช่น ต้องพัฒนาชนบทผ่านการกระจายอำนาจเพื่อให้มีกำลังขับเคลื่อนลงมาสู่ตำบล และหมู่บ้าน เพราะนี่คือฐานของการมีสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง” นพ.จำรูญ กล่าว

            นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมแลสุขภาพ (สวสส.) สะท้อนมุมมองการจัดการปัญหาสาธารณสุขในอดีตให้เห็นว่า มีลักษณะที่ใกล้เคียงไม่ต่างกับปัจจุบัน เมื่อย้อนกลับไปถึงกรณีเรื่องโรคอุบัติใหม่ เช่น กาฬโรคระบาดคนจะตื่นตัว ขณะที่ทางรัฐก็จะออกกฎหมายมาตรการควบคุม ทำให้ญาติพี่น้องต้องเอาคนไข้ไปหลบไปซ่อนไว้ เมื่อชาวบ้านเกิดความกลัวติดโรคและรังเกียจ ก็เอาหินไปปาบ้านคนป่วย หรือเผาบ้านบ้างเพื่อไล่ผู้ป่วย ทำให้หนูที่อยู่ในบ้านวิ่งหนีไปทุกทิศทุกทาง นำไปสู่การแพร่เชื้อจนเกิดกาฬโรคระบาด ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ลักษณะความกลัวแบบนี้ ก็คล้ายๆ กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ฉะนั้นถ้าเราศึกษาปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อโรค ความเสี่ยง ภัยสุขภาพ จะช่วยให้สามารถนำบทเรียนเหล่านี้มาจัดการกับสิ่งที่ผิดพลาดได้ เพราะการทำให้สังคมกลัวหรือรังเกียจโรคใดโรคหนึ่งมากเกินไป สุดท้ายจะทำให้การทำงานสาธารณสุขเดินไปได้ยาก

            “การเตรียมงานเฉลิมฉลองการสาธารณสุขไทย ๑๐๐ ปี ไม่ได้หมายถึงประวัติศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตัวเล็กตัวน้อยด้วย เชื่อว่าทุกคนก็มีประวัติศาสตร์เรื่องราวในการทำงานที่น่าบันทึกจดจำ เช่น สมัยก่อนไม่มีตู้เย็นเก็บวัคซีน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในชนบทจะใช้วิธีเก็บวัคซีนไว้ที่โคนต้นกล้วย ซึ่งเป็นที่ที่เย็นที่สุดในหมู่บ้าน พอจะใช้งานไปฉีดให้กับคนบนภูเขาห่างไกล ก็จะใส่ก้านกล้วยขึ้นไป คนสมัยใหม่ไม่รู้ว่า สมัยก่อน ท่ามกลางความขาดแคลน มีการทำงานกันอย่างไร มีการต่อสู้เพื่อปราบโรคต่างๆ โรคระบาดที่พบบ่อยในท้องถิ่นอย่างไร เป็นเรื่องราวที่คนแต่ละท้องถิ่นควรจะได้รู้ โดยมีการพัฒนางานสาธารณสุขส่วนกลางเป็นคู่ขนานกันไป เพื่อให้เห็นความพยายามที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ ดังนั้น คนรุ่นใหม่ๆ ควรได้ทราบสิ่งเหล่านั้น” นพ.โกมาตร กล่าว

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้