ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ข้อมูลคนพิการในประเทศไทยที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ระบุว่ามีจำนวน 1.9 ล้านคน ไม่ได้ลงทะเบียนจำนวน 3 แสนคน เป็นข้อมูลคนพิการวัยแรงงานในประเทศไทย (อายุ 15-60 ปี) มีจำนวน 769,327 คน แบ่งเป็นคนพิการที่มีงานทำ 317,020 คน คิดเป็นร้อยละ 41% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานและรับจ้างทั่วไปในภาคการเกษตร ที่มีรายได้ไม่สูงและไม่มั่นคง กลุ่มไม่มีงานทำ 352,859 คน ร้อยละ 46% และทำงานไม่ได้ 99,448 คน หรือร้อยละ 13%
หากพลิกดูพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มีการกำหนดใน 3 มาตรา คือ ม.33-35 ที่มีเจตนารมณ์ให้คนพิการได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการมีรายได้และพึ่งพาตนเอง ลดภาระของครอบครัวและสังคม ประกอบด้วย
จ้างคนพิการ ม.33 เลือก(ไม่)ปฏิบัติ
“การจ้างงานคนพิการตาม ม.33 มีเจตนารมณ์ให้เกิดการจ้างงานคนพิการเข้าสู่ระบบ แม้กฎหมายจะออกมาหลายปี ก็ยังพบการปฏิบัติที่มีน้อยและไม่ทั่วถึง หรือกรณีที่มีการจ้างโอกาสก็จะเป็นของคนที่มีความพิการไม่มาก” พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชี้ให้เห็นช่องว่างของระบบและกล่าวเพิ่มเติมว่า
“ในมุมมองของคนทำงานวิชาการ เราต้องการสะท้อนปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับได้ ตัวอย่างเคยมีสถานประกอบการจ้างคนพิการ ม.33 เงินเดือน 6,000 บาท แม้จะเป็นค่าแรงที่ถูกและคนพิการยอมรับได้ แต่มองว่าเรื่องของสวัสดิการการดูแลอื่นๆ จะต้องมีอย่างเหมาะสมตามมาด้วย”
สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ที่รายงานว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการจ้างงานคนพิการตาม ม.33 เพียง 24,604 คน ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนพิการวัยแรงงานที่ขึ้นทะเบียน
ที่ผ่านมา สวรส. ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในผู้พิการ อาทิ ด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในระบบบริการสาธารณสุขอย่างเครื่องช่วยฟัง การนำร่องปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับการร่วมพัฒนาบริการทางสังคม ที่สนับสนุนการดำรงชีวิตในสังคมที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้นของคนพิการนั้น เป็นหนึ่งในแผนงานสร้างเสริมสมรรถนะด้านสุขภาพประชาชน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ ในมิติของการมีเศรษฐานะ รายได้ที่มั่นคงของคนพิการ
ศึกษารูปแบบ หนุนการจ้างงาน ม.35
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยการสนับสนุนจาก สวรส. เปิดเวทีนำเสนอการศึกษาเรื่องรูปแบบการมีงานทำของคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้มาตรา 35
พญ.วัชรา ผอ.กลุ่มภารกิจ สวรส. กล่าวว่า สวรส. อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารูปแบบการมีงานทำของคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อมองหาทางเลือกที่เหมาะสม ในการบังคับใช้ ม.35 ทั้งนี้กฎหมายได้เปิดโอกาสให้สถานประกอบการเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ สามารถจ้างงานคนพิการได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ เป็นต้น
“มองว่า รูปแบบการจ้างงานคนพิการตาม ม.35 เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการและคนพิการ ซึ่งมีความยืดหยุ่นที่เปิดโอกาสให้คนพิการที่มีการรวมกลุ่มกัน ทั้งคนพิการมากและคนพิการน้อย รวมทั้งผู้ดูแลได้มีโอกาสเข้าถึงการมีงานทำและมีรายได้มากขึ้น เช่น การรวมกลุ่มเพื่อสร้างสินค้าและบริการ โดยสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องสนับสนุนการพัฒนาให้เขาเป็นฐานการผลิตหรือการให้บริการที่มีความเข้มแข็ง มาตรฐานของสินค้าหรือบริการได้รับการรับรอง แล้วจึงนำเสนอสินค้าบริการของกลุ่มเป็นทางเลือกตามมาตรา 35 ในขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาก็สามารถใช้มาตรา 35 อีกเช่นกันมาจ้างงานในลักษณะการฝึกอบรมได้ด้วย แต่หน่วยที่สนับสนุนระบบการฝึกอบรมทางด้านอาชีพพร้อมหรือยัง เป็นต้น” ผอ.กลุ่มภารกิจ สวรส. กล่าว
ประสบการณ์หรือบทเรียนจากรูปแบบการใช้มาตรการต่างๆตาม ม.35 จะช่วยทำให้เราเห็นโอกาสสำหรับการพัฒนาและการสร้างโอกาสด้านอาชีพคนพิการมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาจยังต้องไปดูในเรื่องระเบียบ ข้อบังคับ ของกฎหมายว่าได้ถูกออกแบบหรือมีการปรับปรุงให้เหมาะสมตามบริบทสังคมหรือยังด้วย
บริษัทต้นแบบ จ้างคนพิการ ตาม ม.35
สำหรับการศึกษาเบื้องต้น นางภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ ผอ.สถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน กล่าวว่า หากดูจากสถานการณ์ในการจ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว พบว่า การส่งเสริมให้มีการใช้มาตรา 35 จะเป็นการแก้ปัญหาที่สถานประกอบการไม่สามารถหาคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการตาม ม.33 ได้ รวมทั้งความต้องการและข้อจำกัดของคนพิการที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ โดยทำงานอยู่กับบ้านหรือในชุมชนมากกว่า
จากกรณีศึกษารูปแบบการจ้างงาน รวมไปถึงการเข้าถึงสิทธิและโอกาสการมีงานทำของคนพิการตาม ม.35 ตัวอย่าง บ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ปฏิบัติตาม ม.35 ในลักษณะให้ความรู้ทักษะกับคนพิการ และการช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์ โดยเริ่มจากการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา โดยบริษัทฯ มีการประสานกับสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ในการคัดหาคนพิการ 125 คน ได้รับสิทธิเข้าอบรมและทำงาน เช่น การเย็บผ้า การสกรีน เป็นต้น โดยทำสัญญาจ้าง 2 ปี ในวงเงิน 10 ล้านบาท เป็นค่าจ้าง ค่าสร้างสถานที่อบรม ทำงาน และอุปกรณ์เครื่องมือ เช่นเดียวกับกรณี บ.สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มอบของให้ศูนย์การเรียนรู้แปรรูปผ้าพื้นเมือง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นจักรอุตสาหกรรม จักรโพ้ง จำนวน 7 หลัง กรรไกรไฟฟ้า 1 ตัว รวมมูลค่า 109,500 บาท ทำให้เกิดการฝึกอบรมสร้างทักษะอาชีพการผลิตสินค้าผ้าพื้นเมืองแปรรูปให้คนพิการ และเมื่อได้ผลิตภัณฑ์คนพิการก็นำไปขายเป็นรายได้ของเขา ซึ่งก็นับเป็นการจ้างงานคนพิการในชุมชนด้วยมาตรการตาม ม. 35
นายเรืองเวช วิทวัสการเวช ผช.กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ข้อจำกัดของมาตรา 35 คือ ไม่มีแต้มต่อเหมือน ม.33 และ 34 ที่หลายๆ องค์กรจะมีการนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ทางเราก็เลือกที่จะใช้ ม.35 เพราะเห็นว่าสามารถช่วยและเข้าถึงคนพิการได้จริง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการตามมาตร 35 เช่น ควรมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการและคนพิการ รวมไปถึงการช่วยตีความของกฎหมายที่เข้าใจไม่ตรงกันของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยการมีส่วนร่วมจากคนพิการ รวมถึงควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจังเรื่องฐานข้อมูลคนพิการที่ต้องการทำงานตาม ม.33 และ ม.35 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทาง สวรส. และสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน ร่วมกับสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) มูลนิธิสังคมและสุขภาวะ จะนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการต่อไป รวมไปถึงการเผยแพร่รูปแบบที่เหมาะสมในการส่งเสริมอาชีพคนพิการต่อๆไป
คนตาบอด มั่นใจบริการนวด พร้อมลุยตลาด
ทางฟากของคนพิการทางด้านสายตา เป็นประเภทความพิการที่ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแล้วราว 2 แสนคน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการทำงานได้ปกติ หากได้รับการฝึกฝนเพิ่มขีดความสามารถจะทัดเทียมคนทั่วไปได้
นายพิทยา ศรีโกตะเพ็ชร ผู้อำนวยการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิก เพียง 12,000 คนเท่านั้น การหาคนตาบอด เป็นเรื่องไม่ง่าย แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนคนพิการแล้วแต่ครอบครัวมักจะไม่ปล่อยคนตาบอดออกมาใช้ชีวิตในสังคม อาจจะด้วยเพราะความเป็นห่วง ขณะที่คนตาบอดส่วนหนึ่งคิดว่าตนเองไร้ความสามารถ ทั้งที่ความจริงแล้วแต่ละคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้”
กลไกที่ทางสมาคมฯ ส่งเสริมและพัฒนาคนพิการทางสายตาในประเทศไทยทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การฝึกอ่านและเขียนอักษรเบรลล์ภาษาไทย การฟื้นฟูสมรรถภาพฯ คนตาบอดด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation & Mobility : O&M) และการฝึกอาชีพทางด้านการนวดแผนไทย
“ปัจจุบัน มีกลุ่มคนพิการทางสายตา ที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพนวดแผนไทยจำนวนหนึ่ง มีใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะ ที่ได้ทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงตนเอง ซึ่งสามารถจะตอบโจทย์ การจ้างงานตามมาตรา 35 ได้ โดยคิดว่ารูปแบบที่เราพอจะทำได้ คือ การรับจ้างเหมาบริการนวดตามสถานประกอบการที่สนใจ โดยจัดบริการนวดผ่อนคลายให้กับพนักงาน ในระยะเวลา 15 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมไม่ไปเบียดบังเวลาสำหรับการทำงานมากนัก”
โอกาสทางการตลาดของบริการนวดผ่อนคลาย นายพิทยา มองว่า อาชีพนี้จะตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันที่คนทำงานในเมืองใหญ่มักประสบกับปัญหา "โรคออฟฟิศ ซินโดรม" (Office Syndrome) จึงไม่ใช่เรื่องยากหากสถานประกอบการจะเปิดทางในการส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการ พร้อมกับเชื่อมั่นว่าศิลปะการนวดแผนไทยเป็นศาสตร์ที่ขึ้นชื่อระดับโลก อย่างไรก็ตาม การจะส่งเสริมการประกอบอาชีพตาม ม.35 จะต้องมีการออกแบบระบบและเชื่อมโยงให้ดีโดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายแรงงานว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
ผนึกกลุ่มคนพิการสร้างโอกาส – แนะแก้จุดอ่อน
ทางด้าน อ.กรรณิการ์ สรวยสุวรรณ หรือ ครูปุ๋ย ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของการประกอบอาชีพของคนพิการ ที่สะท้อนออกมาให้เห็นตลอดที่ทำงานมากว่า 30 ปี คือ คนพิการจำนวนหนึ่งจะขาดทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เมื่อไปทำงานตามสถานประกอบการก็ลาออกได้ง่ายเนื่องจากขาดทักษะการปรับตัว ขณะที่สถานประกอบการเองก็ยังคงต้องการคนทำงานที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมูลนิธิมีเครือข่ายชมรมคนพิการ รวม 23 กลุ่ม ที่เกิดจากการรวมตัวของคนพิการประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่ได้ก้าวผ่านการได้รับการฟื้นฟูทางการแพทย์มาแล้ว สามารถที่จะทำงานช่วยเหลือตนเองได้
อ.กรรณิการ์ กล่าวว่า โดยรวมๆ แล้วจุดแข็งของคนพิการใน จ.ลำปาง คือ ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่ผ่านการฝึกฝนจนเข้มแข็ง เช่น กลุ่มน้ำแร่จักจั่นแจ้ซ้อน แต่สิ่งที่ยังขาดและต้องพัฒนาคือ การทำรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย การควบคุมต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการเชื่อมโยงตลาด โดยปัจจุบันรายได้หลักมาจากตลาดในชุมชนเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าถึงในตลาดในเมืองได้ หากมีการจ้างงานตามมาตรา 35 ให้กับคนพิการไม่ว่าจะในรูปแบบ ให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ การจ้างเหมาช่วง เชื่อว่าจะช่วยขยายตลาดและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพให้เกิดรายได้ในระดับหนึ่ง
“สิ่งที่คนพิการต้องการสะท้อนต่อสังคม คือ การมีศักดิ์ศรี ที่เค้าสามารถที่จะดูแลตนเองได้ หลายๆ กลุ่มได้ลดการพึ่งพาและการเป็นภาระของผู้ดูแล บางกลุ่มเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบสำหรับผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานด้วย”
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้